15 พฤษภาคม 2567, 15:57:24
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: [1]   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: แนวคิดเรื่อง อะไร คือ ความดี ? อะไร คือ ความชั่ว ?  (อ่าน 24345 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Samrotri2517
Cmadong Member
Hero Cmadong Member
****


จะเป็นด้านที่1และ2ของ3เหลี่ยมฯ เพื่อให้เกิดด้านที่3
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: รหัสเข้า 17 รุ่น 57
คณะ: แพทยศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 30
กระทู้: 1,915

« เมื่อ: 30 สิงหาคม 2553, 07:44:22 »


                       มาตรฐานแห่งความดีความชั่ว

                

                         ท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ

         อะไรคือความดี? อะไรคือความชั่ว? เป็น ปัญหาทางจริยศาสตร์
ซึ่งนักปราชญ์ทางนี้ได้ถกเถียงกันเป็นอันมากและตกลงกันไม่ค่อยได้
เพราะมีขอบเขตกว้างขวางมาก

         อะไรคือคุณธรรม? ก็เป็นปัญหาที่ตอบยากเช่นเดียวกัน
นักปราชญ์ทั้งหลาย แม้เป็นถึงศาสดาผู้ตั้งศาสนาที่มีคนนับถือทั่วโลก
ก็ยังบัญญัติคุณธรรมไว้ไม่ตรงกัน ยิ่งหย่อน กว้างแคบกว่ากัน


        ความชั่วกับความผิด เป็นอันเดียวกันหรือไม่ ความดีกับความถูกต้อง
เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน

         หมายความว่า ความถูกต้องอาจไม่เป็น ความดีเสมอไปหรืออย่างไร?
นี่ก็เป็นปัญหาทางจริยศาสตร์เช่นเดียวกัน

         คนส่วนมากมักถือเอาความสุข ความสมปรารถนาในชีวิตปัจจุบัน
เป็นมาตรฐานวัดความดี คือความดีต้องมีผลออกมาเป็นความสุข ความสมปรารถนา
เป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

        ส่วนความชั่วต้องมีผลตรงกันข้าม แต่ในความ เป็นจริงแล้วไม่แน่เสมอไป
ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยผลภายในผลภายนอกที่ว่านี้
หมายถึงผลของกรรมนั้นโดยตรง

        ในแง่ของพระพุทธเจ้าทรงให้แนวคิดไว้ว่า

“กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง กรรมนั้นดี
บุคคลทำกรรมใดแล้ว เดือดร้อนภายหลังกรรมนั้นไม่ดี”


        ตามแง่นี้ เราจะมองเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า
คนทำชั่วบางคนได้รับความสุข เพราะการทำชั่วนั้นในเบื้องต้น

        ถ้าเขาเพลิดเพลินในการทำชั่วนั้นต่อไป ไม่รีบเลิกเสีย
เขาจะต้องได้รับความทุกข์ในตอนปลาย

        ส่วนคนทำความดีบางคน ได้รับความทุกข์ในเบื้องต้น
แต่ถ้าเขามั่นอยู่ในความดีนั้นต่อไป ไม่ยอมเลิกทำความดี
เขาย่อมต้องได้รับความสุขในเบื้องปลาย

         ตรงกับข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“เมื่อกรรมชั่วยังไม่ให้ผล คนชั่วอาจ เห็นกรรมชั่วเป็นกรรมดี
แต่เมื่อกรรมชั่วให้ผล เขาย่อมเห็นกรรมชั่วว่าเป็นกรรมชั่ว
ส่วนคนดี อาจเห็นกรรมดีเป็นกรรมชั่ว เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผล
แต่เมื่อใดกรรมดีให้ผล เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีเป็นกรรมดี”


        โดยนัยดังกล่าวนี้ ถ้ามองกรรมและผลของกรรม
ในสายสั้น อาจทำความไขว้เขวบ้างในบางเรื่อง
แต่ถ้ามองในสายยาว จะเห็นถูกต้องทุกเรื่องไป

        ความเป็นไปในชีวิตคน เป็นปฏิกิริยาแห่งกรรมของเขาทั้งสิ้น
ถ้ามองในสายสั้นก็จะยังไม่เห็น แต่ถ้าเรามองเหตุผลสายยาวก็จะเห็น

        ทฤษฎีเรื่องการเกิดใหม่ (อันเป็นเหตุผลของกรรมในสายยาว)
จึงต้องควบคู่กันไปกับเรื่องกฎแห่งกรรม แยกจากกันไม่ได้

        เพราะถ้าแยกจากกันเมื่อไร บุคคลก็จะมองเห็นเหตุผลในเรื่องกรรม
เพียงสายสั้นเท่านั้น

         สมมติว่า วันหนึ่งเป็นชาติหนึ่ง เหตุการณ์ในวันนี้ อาจเกี่ยวโยงไปถึง
เหตุการณ์ในอีกร้อยวันข้างหน้า เหตุการณ์เมื่อร้อยวันก่อน อาจเกี่ยวโยงมา
ถึงเหตุการณ์ในวันนี้

        ในทำนองเดียวกัน เหตุการณ์เมื่อพันชาติมาแล้ว อาจมาเกี่ยวโยงกับ
เหตุการณ์ในชาตินี้

        คนสามัญอาจงง แต่ท่านผู้ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณเห็นเป็นเรื่อง
ธรรมดา เหมือนกับเรารู้ว่า เมื่อ ๒๐ ปี ก่อน เราเรียนหนังสือมาอย่างไร เราจึง
มามีความรู้อยู่อย่างวันนี้

        ในเหตุผลสายสั้น คนขโมยเงินย่อมได้เงิน เงินมันไม่ได้ทักท้วงใครว่า
ถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ถ้ามองกันเพียงวันเดียว อาจเห็นการขโมยเป็นทางดี
เพราะได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยหาความสุขสำราญได้

        แต่ผลที่ตามมาอีกชั้นหนึ่ง คือความเดือดร้อนใจของผู้ขโมยนั่นเอง
ซึ่งจะต้องมีอยู่อย่างแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย และถ้าเจ้าทรัพย์หรือตำรวจจับได้
เขาต้องได้รับโทษตามกฎหมาย อาจติดคุกหรือถูกประหารชีวิต

         บางทีในขณะที่เขาได้รับโทษนั้น เขาเคยประกอบกรรมดีบางอย่างอยู่
ระยะเวลาห่างจากวันที่เขา ขโมยถึง ๒๕๐-๓๐๐ วัน หรือ ๒-๓ ปีก็ได้
๙-๑๐ ปีก็ได้ นี่คือตัวอย่าง ที่พอมองเห็นกันได้

         อนึ่ง ความเกี่ยวข้องในทางดีหรือไม่ดี ทางเกื้อหนุนหรือเบียดเบียน
ตัวเขาเองนั่นแหละเป็นคนรู้ เพราะความเกี่ยวข้องเหล่านั้นถูกเก็บรวบรวมไว้
ในวิญญาณอันท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏตราบเท่าที่กิเลสยังมีอยู่

         มาตรฐานเครื่องตัดสินกรรมดีกรรมชั่วอีกแง่หนึ่งของพระพุทธเจ้า คือ
กรรมใด ทำแล้ว ทำให้กิเลสพอกพูนขึ้น กรรมนั้นเป็นกรรมชั่ว
ส่วนกรรมใดทำแล้วเป็นไป เพื่อความขัดเกลากิเลส ทำให้กิเลสเบาบางลง
กรรมนั้นเป็นกรรมดี

         กล่าวให้ชัด อีกหน่อยหนึ่งว่า ทำอย่างใดพูดอย่างใด และคิดอย่างใด
ทำให้ โลภ โกรธ หลง เพิ่มพูนขึ้นในสันดานหรือในจิต อันนั้นเป็นกรรมชั่ว
ส่วน กรรมดีก็ตรงกันข้าม


         มาตรฐานนี้ค่อนข้างสูงหน่อย พ้นจากสำนึกของคนสามัญ กล่าวคือ
คนทั่วไปไม่ค่อยนึกในแง่นี้ เมื่อเอาลักษณะ ตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการมา
พิจารณาก็จะยิ่งเห็นชัดขึ้นว่า มาตรฐานแห่งความ ดีของพระพุทธองค์นั้นอยู่ที่
การลดโลภ โกรธ หลง ยิ่งลดได้มากเท่าใด ยิ่งดี มากเท่านั้น ลดได้หมด
เกลี้ยงก็ดีถึงที่สุด ทรงแสดงลักษณะตัดสิน

         ธรรมวินัย ๘ ประการ แก่พระนางมหาปชาบดีภิกษุณีไว้ดังนี้

         ธรรม ใดเป็นไปเพื่อ
๑. ความกำหนัด (สราคะ)
๒. การประกอบตนอยู่ในทุกข์ (สังโยคะ)
๓. สะสมกิเลส (อาจยะ)
๔. ความมักใหญ่ อยากใหญ่ (มหิจฉตา)
๕. ความไม่สันโดษ (อสันตุฏฐิตา)
๖. ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (สังคณิกา)
๗. ความเกียจคร้าน (โกสัชชะ)
๘. ความเลี้ยงยาก (ทุพภรตา)
ทั้ง ๘ นี้ พึงทราบเถิดว่า ไม่ใช่ ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา

        ส่วนธรรมใด เป็นไปเพื่อ
๑. ความคลายกำหนัด (วิราคะ)
๒. การไม่ประกอบตนไว้ในกองกิเลส (วิสังโยคะ)
๓. การไม่สะสมกองกิเลส (อปจยะ)
๔. ความปรารถนาน้อย (อัปปิจฉตา)
๕. ความสันโดษ (สันตุฏฐิตา)
๖. การไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ (อสังคณิกา)
๗. ความไม่เกียจคร้าน คือความเพียรติดต่อสม่ำเสมอ (วิริยารัมภะ )
๘. ความเลี้ยงง่าย (สุภรตา)
พึงทราบเถิดว่า ทั้ง ๘ นี้เป็น ธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา

        เมื่อเอาลักษณะ ทั้ง ๘ ประการนี้มาตัดสินว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไร
ควรเว้น อะไรควรทำ แล้วจะเห็นว่ามาตรฐานแห่งกรรมดีของพระพุทธองค์นั้น
อยู่ในระดับสูง และเป็นการแน่นอนว่า ความดีเช่นนี้ย่อมมีจุดจบในตัวเอง คือ

        ไม่ใช่ความดีเพื่อ ลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น แต่เป็น
ความดีเพื่อความดี ความดีเพื่อพ้นจากความวนเวียนในสังสารวัฏ
เพราะถือว่าการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนั้น แม้จะเกิดดีเพียงไร
ก็ยังเจืออยู่ด้วยทุกข์ ต่างกัน แต่เพียงรูปแบบของความทุกข์เท่านั้น
แต่ในเนื้อหาแล้วเป็นความทุกข์เหมือนกัน

        ในความหมายอย่างสูง ที่ว่า “ความดีเพื่อความดี” นี้
ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นซึ่งพระพุทธ ภาษิตที่ว่า

            “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาป กํ”


        การทำดี คือการกระทำที่ประกอบด้วย คุณธรรม เช่น เมตตา กรุณา
ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อฯ สิ่งที่เขาจะได้รับอย่างแน่นอน คือ คุณธรรม
ที่เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เขาทำ นั่นคือ การได้ดี ใจของเขาย่อมสูงขึ้น สะอาด
สว่างขึ้นตามสัดส่วนแห่งคุณธรรมที่เพิ่มขึ้น

        เสียงสรรเสริญ ก็ไม่ใช่เครื่องวัดความดีที่แน่นอนเสมอไป ในหมู่โจร
ย่อมสรรเสริญโจรที่เก่งกล้า อันธพาลที่สามารถคุม อันธพาลด้วยกันได้
ย่อมได้รับเสียงสรรเสริญจากกลุ่มอันธพาลด้วยกัน บัณฑิต ย่อมได้รับเสียง
สรรเสริญจากหมู่บัณฑิต แต่ได้รับเสียงติเตียนจากหมู่คนพาล


        ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้รับสรรเสริญ จึงต้องพิจารณาดูก่อนว่าใครเป็นผู้ให้
ถ้าบัณฑิตให้ก็เชื่อได้ว่าเสียงสรรเสริญนั้นมาจากคุณธรรมหรือ การทำความดี

        การทำชั่ว คือ การกระทำที่ไร้คุณธรรม ที่ว่าได้ ชั่วก็เพราะมีนิสัยชั่วเกิด
ขึ้นในจิต ถ้าทำบ่อยๆ นิสัยชั่วก็พอกพูนขึ้น เรื่อยๆ จนเกาะแน่นเป็นลักษณะ
นิสัยของผู้นั้นยากที่จะแก้ไขได้ เหมือนดินพอกหางหมู ความชั่วหรือนิสัยชั่ว
ที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ นั้น ย่อมชักนำเขาไปใน ทางที่ชั่ว ในที่สุดเขาก็จะพบกับ
หายนะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะ วิบากชั่วซึ่งแฝงอยู่ในจิตของเขา
นั่นเองจะคอยกระซิบ กระตุ้นเตือนให้บุคคล ผู้นั้นคิด พูด กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อันจะนำไปสู่ผลร้าย คือทำให้เขาตัดสิน ใจผิด เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล
เพราะวิบากแก่กล้าสุกรอบแล้วนั้น

        แม้คนมีปัญญาก็อับปัญญา ซึ่งท่านเปรียบว่า
นกแร้งมีสายตาไกลสามารถมองเห็นซากศพได้เป็นร้อยๆโยชน์
แต่พอถึงคราวเคราะห์ (ถึงคราวกรรมจะ ให้ผล) บ่วงอยู่ใกล้ก็มองไม่เห็น
เดินเข้าไปติดบ่วงจนได้ ตรงกันข้าม ถ้าถึงคราวกรรมดีจะให้ผล
วิบากแห่งกรรมซึ่งสั่งสมอยู่ในจิต ย่อมบันดาลให้เขาทำ พูด คิดไปใน
ทางที่ถูกอันจะนำไปสู่ผลดีอันนั้น

พิจารณาในแง่นี้แล้ว ควรเว้นกรรมชั่ว สั่งสมแต่กรรมดี
เพื่อจะได้ มีวิบากอันดี อยู่ในจิต นี่คือ การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ย้ำอีกทีว่า คนประพฤติกระทำ อย่างใดย่อมได้ความเป็นอย่างนั้นขึ้นในตน
เช่น หัดเป็นโจรเป็นนักเลง ย่อม ได้ความเป็นโจรเป็นนักเลงขึ้นในตน
หัดเป็นคนดีในทางไหน ย่อมได้ความเป็นคนดี ในทางนั้นขึ้นในตน

        ด้วยเหตุนี้ คนที่มีความปรารถนาจะเป็นอย่างใด แล้วเริ่มหัด
ประพฤติกระทำอยู่เสมอๆ เขาย่อมได้เป็นอย่างนั้นแน่นอน ไม่วันใด
ก็วันหนึ่ง เร็วหรือช้าสุดแล้วแต่คุณสมบัตินั้นจะสุกงอม แก่กล้า เมื่อใด
นี่คือคำอธิบายพระพุทธภาษิตที่ว่า

บุคคลทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
        ย่อมต้องรับมรดกแห่งกรรมนั้น


ที่มา...หนังสือ หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด (ท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ)

                                    ฟัง ได้ที่

http://audio.palungjit.com/f16/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94-791.html

        gek gek gek
      บันทึกการเข้า

3 เหลี่ยมเขยื้้อนภูเขา เสนอโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี มี 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านให้ความรู้กับกลุ่มคน ด้านที่ 2 กลุ่มคน ที่ได้รับความรู้ เห็นด้วย สร้างวัฒนธรรมไม่มีบทลงโทษถ้าไม่ทำ ด้านที่ 3 ด้านการเมือง เป็นด้านออกกฏหมาย มีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้ามีครบ 3 ด้านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
Samrotri2517
Cmadong Member
Hero Cmadong Member
****


จะเป็นด้านที่1และ2ของ3เหลี่ยมฯ เพื่อให้เกิดด้านที่3
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: รหัสเข้า 17 รุ่น 57
คณะ: แพทยศาสตร์ จุฬาฯรุ่น 30
กระทู้: 1,915

« ตอบ #1 เมื่อ: 28 มกราคม 2554, 08:01:38 »


โดย [http://twitter.com/narongsak] ธรรมภาษิต‏

1/26/2011 Reply  ▼  Mayura Su



ทำให้ตนเองสดใสได้ ด้วยการยิ้มให้ตนเอง
ทำให้คนอื่นสดใสได้ ด้วยการยิ้มให้เขา
การยิ้มไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
แต่สร้างความสดใสได้มาก


ยิ้มแย้มอย่างแจ่มใส เห็นใครทักก่อน
นี่คือ.. วิธีแสดงเสน่ห์แบบง่ายๆ แต่ให้ผลมาก

คาถาที่ควรมีไว้ประจำใจ เมื่อจะซื้อของกินของใช้
ให้ท่องคาถาว่า จำเป็นไหม จำเป็นไหม


ถ้าขาดความพยายามแล้ว
อย่าว่าแต่เข็ญครกขึ้นเขาเลย
แม้แต่เข็ญครกลงเขา ก็ไม่มีทางทำได้

การให้อภัยไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
แต่การแก้แค้นลงทุนมาก


เขาด่าว่าเราไม่ถึงนาที เขาอาจลืมไปแล้วด้วย
แต่เรายังจดจำ ยังเจ็บใจอยู่...
นี่เราฉลาดหรือโง่กันแน่

บ่นแล้วหมดปัญหาก็น่าบ่น บ่นแล้วมีปัญหา
ไม่รู้จะบ่นหาอะไร


เรายังเคยเข้าใจผิดผู้อื่น
ถ้าคนอื่นเข้าใจเราผิดบ้าง
ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องแปลกอะไร
ทำไมต้องเศร้าหมอง
ในเมื่อเราไม่ได้เป็นอย่างที่ใครเข้าใจ

อย่าโกรธฟุ่มเฟือย อย่าโกรธจุกจิก
อย่าโกรธไม่เป็นเวลา อย่าโกรธมาก
จะเสียสุขภาพกาย และสุขภาพจิต


แม้จะฝึกให้เป็นผู้ไม่โกรธไม่ได้ แต่ฝึกให้เป็นผู้ไม่โกรธบ่อยได้ ฝึกให้เป็นผู้รู้จักให้อภัยได้

การนินทาว่าร้ายเป็นเรื่องของเขา
การให้อภัยเป็นเรื่องของเรา


การชอบพูดถึงความดีของเขา คือความดีของเรา
การชอบพูดถึงความไม่ดีของเขา คือความไม่ดีของเรา

เราเข้าใจเขาผิด เรายังรู้สึกเสียใจ
เขาเข้าใจเราผิด ถึงเขาไม่พูด เขาก็คงรู้สึกเสียใจบ้างเหมือนกัน


โทษคนอื่นแก้ไขอะไรไม่ได้
โทษตนเองแก้ไขได้

แก้ตัวไม่ได้ช่วยอะไร แต่แก้ไขช่วยให้ดีขึ้น

การนอนหลับเป็นการพักกาย
การทำสมาธิเป็นการพักใจ
คนส่วนใหญ่พักแต่กาย ไม่ค่อยพักใจ

แม้อยู่ในสังคมที่เร่าร้อน เราก็ไม่จำเป็นต้องเร่าร้อนตาม
แม้จะอยู่ในสังคมที่เครียด เราก็ไม่จะเป็นต้องเครียด


รู้จักทำใจให้รักผู้บังคับบัญชา รู้จักทำใจให้รักลูกน้อง
รู้จักทำใจให้รักเพื่อนร่วมงาน
สวรรค์ก็อยู่ที่ทำงาน

เกลียดผู้บังคับบัญชา
เกลียดลูกน้อง
เกลียดผู้ร่วมงาน
นรก ก็อยู่ที่ทำงาน


การที่เรายังต้องแสวงหาความสุข แสดงว่าเรายังขาดความสุข
แต่ถ้าเรารู้จักทำใจให้เป็นสุขได้เอง ก็ไม่ต้องไปดิ้นรนแสวงหาที่ไหน

รวย แต่ยังเป็นทุกข์มาก
มีเกียรติ แต่ยังเป็นทุกข์มาก
มีชื่อเสียง แต่ยังเป็นทุกข์มาก
นั่นเพราะว่า...
ความทุกข์มากหรือทุกข์น้อย
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แต่อยู่ที่...
ความยึดมั่นถือมั่น มากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น


โอกาสที่จะเป็นเศรษฐี มีไม่เท่ากัน
แต่โอกาสที่จะเป็นคนดี มีเท่ากัน

การทำบุญไม่ต้องรอตอนแก่
เพราะไม่แน่ว่าจะได้อยู่จนแก่หรือไม่
เพราะบางคนแก่แล้ว ยังไม่ได้ทำบุญก็มี


คนไม่ดี มักสนใจในความไม่ดีของคนอื่น
คนดี มักสนใจในความดีของผู้อื่น

อ่อนน้อม
อ่อนโยน
อ่อนหวาน
นั้นดี....
อ่อนข้อให้เขาบ้างก็ยังดี
แต่...อ่อนแอนั้น ไม่ดี


ในการคบคน ศิลปะใดๆ ก็สู้ความจริงใจไม่ได้

จงประหยัด คำติ แต่อย่าตระหนี่ คำชม

อภัยให้แก่กันในวันนี้ ดีกว่าอโหสิให้กันตอนตาย

ถ้าคิดทำความดี ให้ทำได้ทันที
ถ้าคิดทำความชั่ว ให้เลิกคิดทันที
ถ้าเลิกคิดไม่ได้ ก็อย่าทำวันนี้
ให้พลัดวันไปเรื่อยๆ


ถึงจะรู้ร้อยเรื่องพันเรื่อง ก็ไม่สู้รู้เรื่องดับทุกข์

โลกสว่างด้วยแสงไฟ ใจสว่างด้วยแสงธรรม

แสงธรรมส่องใจ แสงไฟส่อง ทาง

ผู้สนใจธรรม สู้ผู้รู้ธรรมไม่ได้
ผู้รู้ธรรม สู้ผู้ปฎิบัติธรรมไม่ได้
ผู้ปฎิบัติธรรม สู้ผู้ที่เข้าถึงธรรมไม้ได้


มีทรัพย์มาก ย่อมมีความสะดวกมาก
มีธรรมะมาก ย่อมมีความสุขมาก

เมื่อก่อนยังไม่มีเรา
เราเพิ่งมีมาเมื่อไม่นานมานี้เอง
และอีกไม่นานก็จะไม่มีเราอีก
จึงควรรีบทำดี ในขณะที่ยังมี...เรา


      บันทึกการเข้า

3 เหลี่ยมเขยื้้อนภูเขา เสนอโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี มี 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 ด้านให้ความรู้กับกลุ่มคน ด้านที่ 2 กลุ่มคน ที่ได้รับความรู้ เห็นด้วย สร้างวัฒนธรรมไม่มีบทลงโทษถ้าไม่ทำ ด้านที่ 3 ด้านการเมือง เป็นด้านออกกฏหมาย มีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้ามีครบ 3 ด้านจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
jitwang
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 37

« ตอบ #2 เมื่อ: 18 กุมภาพันธ์ 2554, 10:34:59 »

   ไม่ดำ/ไม่ขาว ไม่ชั่ว/ไม่ดี วางในสิ่งต่างๆๆ
      บันทึกการเข้า
  หน้า: [1]   ขึ้นบน
  
กระโดดไป:  

     

ทำไมหอพักนิสิตจุฬาจึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์            " ไม่ได้เป็นแค่หอให้นอนพัก  แต่เป็นบ้านอบอุ่นรักให้อาศัย  ไม่เป็นแค่ที่ซุกหัวยามหลบภัย  แต่สร้างใจให้เข้มแข็งแกร่งการงาน"  <))))><