บทพระนิพนธ์ เรื่อง “ พระพุทะเจ้าทรงสั่งสอนอะไร ”
ประพันธ์โดย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ได้มีมหาบุรุษท่านหนึ่ง เกิดขึ้นมาในโลก เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สักกชนบทซึ่งบัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล มีพระนามว่า “สิทธัตถะ” ต่อมาอีก ๓๕ ปี พระสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ได้พระนามตามความตรัสรู้ว่า “พุทธะ” ซึ่งไทยเราเรียกว่า “พระพุทธเจ้า” พระองค์ได้ทรงประกาศพระธรรมที่ได้ตรัสรู้แก่ประชาชน จึงเกิดพระพุทธศาสนา(คำสั่งสอนของพระพุทธะ)และบริษัท ๔ คือ ภิกษุ (สามเณร) ภิกษุณี (สามเณรี) อุบาสก อุบาสิกาขึ้นในโลกจำเดิมแต่นั้น บัดนี้ ในเมืองไทยมีแต่ภิกษุ (สามเณร) อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุนั้น คือชายผู้ถือบวช ปฏิบัติพระวินัยของภิกษุ สามเณรนั้นคือชายผู้มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปี หรือแม้อายุเกิน ๒๐ ปี แล้วเข้ามาถือบวช ปฏิบัติสิกขาของสามเณร อุบาสก อุบาสิกานั้นคือ คฤหัสถ์ชายหญิงผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) และปฏิบัติอยู่ในศิลสำหรับคฤหัสถ์ บัดนี้มีคำเรียกชายหญิงทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ผู้ประกาศตนถึงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะว่า “พุทธมามกะ” “พุทธมามิกา” แปลว่า “ผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระของตน” พระพุทธศาสนาได้แผ่จากประเทศถิ่นที่เกิดไปในประเทศต่าง ๆ ในโลก
หลักเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย (รัตนะ ๓) ได้แก่พระพุทธเจ้า คือ พระผู้ตรัสรู้พระธรรมแล้วทรงประกาศสั่งสอนตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น พระธรรม คือ สัจธรรม (ธรรม คือความจริง) ที่พระพุทะเจ้าได้ตรัสรู้ได้ทรงประกาศสั่งสอนเป็นพระศาสนาขึ้น พระสงฆ์ คือ หมู่ชนผู้ได้ฟังคำสั่งสอนได้ปฏิบัติและได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า บางพวกออกบวชตาม ได้ช่วยนำพระพุทธศาสนาและสืบต่อวงศ์ การบวชมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทุกคนผู้เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม จะถือบวชก็ตาม ต้องทำกิจเบื้องต้น คือ ปฏิญาณตน ถึงพระรัตนตรัยนี้เป็นสรณะ คือ ที่พึ่งหรือดังที่เรียกว่านับถือเป็นพระของตน เทียบกับทางสกุล คือ นับถือพระพุทธเจ้าเป็นพระบิดา ผู้ให้กำเนิดชีวิตในทางจิตใจของตน พุทธศาสนิกชนย่อมสังคมกับผู้นับถือศาสนาอื่นได้ และย่อมแสดงความเคารพสิ่งเคารพในศาสนาอื่นได้ตามมรรยาทที่เหมาะสม เช่นเดียวกับแสดงความเคารพบิดาหรือมารดาหรือผู้ใหญ่ของคนอื่นได้ แต่ก็คงมีบิดาของตน ฉะนั้น จึงไม่ขาดจากความเป็นพุทธศาสนิกชน ตลอดเวลาที่ยังนับถือพระรัตนตรัยเป็นของตน เช่นเดียวกับเมื่อยังไม่ตัดบิดาของตน ไปรับบิดาของเขามาเป็นบิดา ก็คงเป็นบุตรธิดาของบิดาตนอยู่หรือเมื่อยังไม่แปลงสัญชาติเป็นอื่น ก็คงเป็นไทยอยู่นั่นเอง ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่คับแคบ ผู้นับถือ ย่อมสังคมกับชาวโลกต่างชาติต่างศาสนาได้สะดวก ทั้งไม่สอนให้ลบหลู่ใคร ตรงกันข้ามกลับให้เคารพต่อผู้ควรเคารพทั้งปวง และไม่ซ่อนเร้นหวงกันธรรมไว้โดยเฉพาะ ใครจะมาศึกษาปฏิบัติก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องมานับถือก่อนทั้งนี้ เพราะแสดงธรรมที่เปิดทางให้พิสูจน์ได้ว่าเป็นสัจจะ (ความจริง)ที่เป็นประโยชน์สุขแก่การดำรงชีวิตในปัจจุบัน สัจธรรมที่เป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ ๔
อริยสัจ แปลว่า “สัจจะของผู้ประเสริฐ (หรือผู้เจริญ)” “สัจจะที่ผู้ประเสริฐพึงรู้” “สัจจะที่ทำให้เป็นผู้ประเสริฐ” หรือ แปลรวบรัดว่า “สัจจะอย่างประเสริฐ” พึงทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า มิใช่สัจจะชอบใจของโลกหรือของตนเอง แต่เป็นสัจจะทางปัญญาโดยตรง
อริยสัจ ๔
อริยสัจมี ๔ คือ
๑. ทุกข์ ได้แก่ความเกิด ความแก่ ความตายซึ่งมีเป็นธรรมดาของชีวิต และความโศก ความระทม ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจซึ่งมีแก่จิตใจและร่างกายเป็นครั้งคราว ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ ความปราถนาไม่สมหวัง กล่าวโดยย่อก็คือกายและใจนี้เองที่เป็นทุกข์ต่าง ๆ จะพูดว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ต่าง ๆ ดังกล่าวก็ได้
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจคือดิ้นรนทะยานอยากเพื่อจะเป็นอะไรต่าง ๆ ดิ้นรนทะยานอยากที่จะไม่เป็นในภาวะที่ไม่ชอบต่าง ๆ
๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าว
๔. มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ทางมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ เพียรชอบ สติชอบ ตั้งใจชอบ
ได้มีบางคนเข้าใจว่า พระพุทธศาสนามองในแง่ร้าย เพราะแสดงให้เห็นแต่ทุกข์และสอนสูงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะรับได้ เพราะสอนให้ดับความดิ้นรนทะยานอยากเสียหมด ซึ่งจะเป็นไปอยาก เห็นว่าจะต้องมีผู้เข้าใจดังนี้ จึงต้องซ้อมความเข้าใจไว้ก่อนที่จะแจกอริยสัจออกไป พระพุทธศาสนามิได้มองแง่ร้ายหรือแง่ดีทั้งสองแต่อย่างเดียว แต่มองในแง่ของสัจจะ คือ ความจริงซึ่งต้องใช้ปัญญาและจิตใจที่บริสุทธิ์ประกอบกันพิจารณา
ตามประวัติพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้ทรงแสดงอริยสัจแก่ใครง่าย ๆ แต่ได้ทรงอบรมด้วยธรรมข้ออื่นจนผู้นั้นมีจิตใจบริสุทธิ์พอที่จะรับเข้าใจได้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ธรรมข้ออื่นที่ทรงอบรมก่อนอยู่เสมอสำหรับคฤหัสถ์นั้น คือ ทรงพรรณนาทาน พรรณนาศีล พรรณนาผลของทาน ศีล ที่เรียกว่าสวรรค์ (หมายถึง ความสุขสมบูรณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจาก ทาน ศีล แม้ในชีวิตนี้) และอานิสงส์ คือ ผลดีของการที่พรากใจออกจากกามได้เทียบด้วยระบบการศึกษาปัจจุบัน ก็เหมือนอย่างทรงแสดงอริยสัจแก่นักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย ส่วนนักเรียนที่ต่ำลงมาก็ทรงแสดงธรรมข้ออื่นตามสมควรแก่ระดับ พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงแสดงธรรมที่สูงกว่าระดับของผู้ฟัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย แต่ผู้ที่มุ่งศึกษาแสวงหาความรู้ แม้จะยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ยังเป็นทางเจริญความรู้ในสัจจะที่ตอบได้ตามเหตุผล และอาจพิจารณาผ่อนลงมาปฏิบัติทั้งที่ยังมีตัณหา คือความอยากดังกล่าวอยู่นั่นแหละ ทางพิจารณานั้นพึงมิได้ เช่นที่จะกล่าวเป็นแนวคิดดังนี้
๑. ทุก ๆ คนปราถนาสุข ไม่ต้องการทุกข์ แต่ทำไมคนเราจึงยังต้องเป็นทุกข์ และไม่สามารถจะแก้ ทุกข์ของตนเองได้ บางทียิ่งแก้ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ทั้งนี้ ก็เพราะไม่รู้เหตุผลตามเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุของทุกข์ อะไรเป็นเหตุของสุข ถ้าได้รู้แล้วก็จะแก้ได้ คือ ละเหตุที่ให้เกิดทุกข์ ทำเหตุที่ให้เกิดสุข อุปสรรคที่สำคัญอันหนึ่งก็คือใจของตนเอง เพราะคนเราตามใจตนเองมากไปจึงต้องเดือดร้อน
๒. ที่พูดกันว่าตามใจตนเองนั้น โดยที่แท้ก็คือตามใจตัณหา คือความอยากของใจ ในขั้นโลก ๆ นี้ ยังไม่ต้องดับความอยากให้หมด เพราะยังต้องอาสัยความอยากเพื่อสร้างโลก หรือสร้างตนเองให้เจริญต่อไป แต่ก็ต้องมีการควบคุมอยากให้อยู่ในขอบเขตที่สมควรและจะต้องรู้จักอิ่ม รู้จักพอในสิ่งที่ควรอิ่มควรพอ ดับตัณหาได้เพียงเท่านี้ ก็พอครองชีวิตอยู่ในสุขในโลก ผู้ก่อไฟเผาตนเองและเผาโลกอยู่ในขอบเขต ถ้าคนเรามีความอยากจะได้วิชาก็ตั้งใจพากเพียรเรียน มีความอยากจะได้ทรัพย์ยศ ก็ตั้งใจเพียรทำงานให้ดี ตามกำลังตามทางที่สมควรดังนี้แล้วก็ใช้ได้ แปลว่า ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในทางโลก และก็อยู่ในทางธรรมด้วย
๓. แต่คนเราต้องการมีการพักผ่อน ร่างกายก็ต้องมีการพัก ต้องให้หลับ ซึ่งเป็นการพักทางร่างกาย จิตใจก็ต้องมีเวลาที่ปล่อยให้ว่าง ถ้าจิตใจยังมุ่งคิดอะไรอยู่ไม่ปล่อยความคิดนั้นแล้วก็หลับไม่ลง ผู้ที่ต้องการมีความสุขสนุกสนานจากรูป เสียงทั้งหลาย เช่น ชอบฟังดนตรีที่ไพเราะ หากจะถูกเกณฑ์ให้ต้องฟังอยู่นานเกินไปเสียงดนตรีที่ไพเราะที่ดังจ่อหูอยู่นานเกินไปนั้น จะก่อให้เกิดความทุกข์อย่างยิ่ง จะต้องการหนีไปให้พ้น ต้องการกลับไปอยู่กับสภาวะที่ปราศจากเสียง คือ ความสงบ, จิตใจของคนเราต้องการความสงบดังนี้อยู่ทุกวัน วันหนึ่งเป็นเวลาไม่น้อย นี้คือความสงบใจ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือความสงบ ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ซึ่งเป็นความดับทุกข์นั่นเอง ฉะนั้น ถ้าทำความเข้าใจให้ดีว่าความดับทุกข์ก็คือความสงบใจ ซึ่งเป็นอาหารใจที่ทุก ๆ คนต้องการอยู่ทุกวัน ก็จะค่อยเข้าใจในข้อ “นิโรธ” นี้ขึ้น
๔. ควรคิดต่อไปว่า ใจที่ไม่สงบนั้น ก็เพราะเกิดความดิ้นรนขึ้น และก็บัญชาให้ทำ พูด คิด ไปตามใจที่ดิ้นรนนั้น เมื่อปฏิบัติตามใจไปแล้วก็อาจสงบลงได้แต่การที่ปฏิบัติไปแล้วนั้น บางทีชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียวก็ให้เกิดทุกข์โทษอย่างมหันต์ บางทีเป็นมลทินโทษที่ทำให้เสียใจไปช้านาน คนเช่นนี้ ควรทราบว่าท่านเรียกว่า “ทาสของตัณหา” ฉะนั้น จะมีวิธีทำอย่างไรที่จะไม่แพ้ตัณหา หรือจะเป็นนายของตัณหาในใจของตนเองได้ วิธีดังกล่าวนี้ก็คือ
มรรคมีองค์ ๘
มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่
๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔ หรือเห็นเหตุผลตามเป็นจริง แม้โดยประการที่ผ่อนพิจารณาลงดังกล่าวมาโดยลำดับ
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ดำริ หรือคิดออกจากสิ่งที่ผูกพันให้เป็นทุกข์ ดำริในทางไม่พยาบาทมุ่งร้าย ดำริในทางไม่เบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ แสดงในทางเว้น คือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียดให้แตกร้าวกัน เว้นจากพูดคำหยาบร้าย เว้นจากพูดเพ้อเจ้อไม่เป็นประโยชน์
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ แสดงในทางเว้น คือ เว้นจากการฆ่า เว้นจากการทรมาน เว้นจากการลัก เว้นจากการประพฤติผิดในทางกาม
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เว้นจากมิจฉาอาชีวะ(อาชีพที่ผิด) สำเร็จชีวิตด้วยอาชีพที่ชอบ
๖. สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ คือ เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อม แต่ให้เจริญยิ่งขึ้น
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกไปในที่ตั้งของสติที่ดีทั้งหลาย เช่น ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ คือ ทำใจให้เป็นสมาธิ(ตั้งมั่นแน่วแน่) ในเรื่องที่ตั้งใจจะทำในทางที่ชอบ
มรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทางเดียว แต่มีองค์ประกอบเป็น ๘ และย่อลงได้ในสิกขา (ข้อที่พึงศึกษาปฏิบัติ) คือ
ศิลสิกขา สิกขา คือ ศิล ได้แก่ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พูดโดยทั่วไป จะพูด จะทำอะไรก็ให้ถูกชอบอย่าให้ผิด จะประกอบอาชีพอะไรก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่มีอาชีพ เช่น เป็นนักเรียนต้องอาศัยท่านผู้ใหญ่อุปการะ ก็ให้ใช้ทรัพย์ที่ท่านให้มาตามส่วนที่ควรใช้ ไม่ใช้อย่างสุรุยสุร่ายเหลวแหลก ศึกษาควบคุมตนเอง ให้งดเว้นจากความคิดที่จะประพฤติตน ที่จะเลี้ยงตนเลี้ยงเพื่อนไปในทางที่ผิด ที่ไม่สมควร
จิตตสิกขา สิกขา คือ จิต ได้แก่เพียรพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ พูดโดยทั่วไป เรื่องจิตของตนเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพยายามศึกษาฝึกฝน เพราะอาจฝึกได้โดยไม่ยากด้วย แต่ ขอให้เริ่ม เช่น เริ่มฝึกตั้งความเพียร ฝึกให้ระลึกจดจำ และ ระลึกถึงเรื่องที่เป็นประโยชน์ และให้ตั้งใจแน่วแน่ สิกขาข้อนี้ ใช้ในการเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะการเรียนจะต้องมีความเพียร ความระลึก ความตั้งใจ
ปัญญาสิกขา สิกขา คือ ปัญญา ได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ พูดโดยทั่วไป มนุษย์เจริญขึ้นก็ด้วยปัญญาที่พิจารณาและลงความเห็นในทางที่ถูกที่ชอบ ดำริชอบก็คือพิจารณาโดยชอบ เห็นชอบ ก็คือลงความเห็นที่ถูกต้อง นักเรียนผู้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ก็มุ่งให้ได้ปัญญาสำหรับที่จะพิจารณาและลงความเห็นโดยความถูกชอบ ตามหลักแห่งเหตุผลตามเป็นจริง และโดยเฉพาะควรอบรมปัญญาในไตรลักษณ์ และปฏิบัติ
ไตรลักษณ์
หมายถึง ลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา
อนิจจะ ไม่เที่ยง คือ ไม่ดำรงอยู่เป็นนิตย์นิรันดร์ เพราะเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดับในที่สุด ทุก ๆ สิ่งจึงมีหรือเป็นอะไรขึ้นมาแล้ว ก็กลับไม่มี เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ชั่วคราวเท่านั้น
ทุกขะ ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอเหมือนอย่างถูกบีบคั้นให้ทรุดโทรมเก่าแก่ไปอยู่เรื่อย ๆ ทุก ๆ คนผู้เป็นเจ้าของสิ่งเช่นนี้ ก็ต้องทนทุกข์เดือดร้อนไม่สบายไปด้วย เช่น ไม่สบายเพราะร่างกายป่วยเจ็บ
อนัตตา ไม่ใช่อัตตา คือไม่ใช่ตัวตน อนัตตานี้ขออธิบายเป็นลำดับชั้น สามชั้น ดังต่อไปนี้
๑. ไม่ยึดมั่นกับตนเกินไป เพราะถ้ายึดมั่นกับตนเกินไป ก็ทำให้เป็นคนเห็นแก่ตนถ่ายเดียว หรือทำให้หลงตน ลืมตนมีคติ คือลำเอียงเข้ากับตน ทำให้ไม่รู้จักตนตามเป็นจริง เช่น คิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก ตนต้องได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วย ความยึดมั่นตนเองเกินไป แต่ตามที่เป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่
๒. บังคับให้สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจไม่ให้เปลี่ยนแปลงตามความต้องการไม่ได้ เช่น บังคับให้เป็นหนุ่มสาวสวยงามอยู่เสมอไม่ได้ บังคับให้ภาวะของจิตใจชุ่มชื่นว่องไวอยู่เสมอไม่ได้
๓. สำหรับผู้ที่ได้ปฏิบัติไปได้จนถึงขั้นสูงสุด เห็นสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้นแล้ว ตัวตนจะไม่มี ตามพระพุทธภาษิตที่แปลว่า “ตนย่อมไม่มีแก่ตน” แต่ยังมีผู้รู้ซึ่งไม่มียึดมั่นอะไรในโลก ผู้รู้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามสมควรแก่สถานที่ และสิ่งแวดล้อมโดยเที่ยงธรรมล้วน ๆ (ไม่มีกิเลสเจือปน)
พรหมวิหาร ๔
คือ ธรรมสำหรับเป็นที่อาศัยอยู่ของจิตใจที่ดี มี ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้
๑. เมตตา ความรักที่จะให้เป็นสุข ตรงกันข้ามกับความเกลียดที่จะให้เป็นทุกข์ เมตตาเป็นเครื่องปลูกอัธยาศัยเอื่ออารี ทำให้มีความหนักแน่นในอารมณ์ ไม่ร้อนวู่วาม เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรู ไม่เบียดเบียนใคร แม้สัตว์เล็กเพียงไหน ให้เดือดร้อนทรมานด้วยความเกลียด โกรธ หรือสนุกก็ตาม
๒. กรุณา ความสงสารจะช่วยให้พ้นทุกข์ ตรงกันข้ามกับความเบียดเบียน เป็นเครื่องปลูกอัธยาศัยเผื่อแผ่เจือจาน ช่วยผู้ที่ประสบทุกข์ยากต่าง ๆ กรุณานี้เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นพระคุณสำคัญข้อหนึ่งของพระมหากษัตริย์ และเป็นคุณข้อสำคัญของท่านผู้มีคุณทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น
๓. มุทิตา ความพลอยยินดีในความได้ดีของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับความริษยาในความดีของเขา เป็นเครื่องปลูกอัธยาศัยส่งเสริมความดี ความสุข ความเจริญของกันและกัน
๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ในเวลาที่ควรวางใจ ดังนั้น เช่นในเวลาที่ผู้อื่นถึงความวิบัติ ก็วางใจเป็นกลาง ไม่ดีใจว่าศัตรูถึงความวิบัติ ไม่เสียใจว่าคนที่รักถึงความวิบัติ ด้วยพิจารณาในทางกรรมว่า ทุก ๆ คนมีกรรมเป็นของตน ต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมที่ตนได้ทำไว้เอง ความเพ่งเล็งถึงกรรมเป็นสำคัญดังนี้ จนวางใจลงในกรรมได้ ย่อมเป็นเหตุถอนความเพ่งเล็งบุคคลเป็นสำคัญ นี้แหละเรียกว่า อุเบกขา เป็นเหตุปลูกอัธยาศัยให้เพ่งเล็งถึงความผิดถูกชั่วดีเป็นข้อสำคัญ ทำให้เป็นคนมีใจยุติธรรมในเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย
ธรรม ๔ ข้อนี้ ควรอบรมให้มีจิตใจด้วยวิธีคิดแผ่ใจประกอบด้วยเมตตา เป็นต้น ออกไปในบุคคลและในสัตว์ทั้งหลาย โดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจงคือทั่วไปเมื่อหัดคิดอยู่บ่อย ๆ จิตใจก็จะอยู่กับธรรมเหล่านี้บ่อยเข้าแทนความเกลียด โกรธ เป็นต้น ที่ตรงกันข้าม จนถึงเป็นอัธยาศัยขึ้น ก็จะมีความสุขมาก
นิพพานเป็นบรมสุข
ได้มีภาษิตกล่าวไว้ แปลว่า “นิพพานเป็นบรมสุข คือ สุขอย่างยิ่ง” นิพพาน คือ ความละตัณหา ในทางโลกและทางธรรมทั้งหมด ปฏิบัติโดยไม่มีตัณหาทั้งหมด คือ การปฏิบัติถึงนิพพาน
ได้มีผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า “ธรรม” (ตลอดถึง) “นิพพาน” ที่ว่า “เป็นสนฺทิฏฐิโก อันบุคคลเห็นเอง” นั้นเป็นอย่างไร? ได้มีพระพุทธดำรัสตอบโดยความว่าอย่างนี้ คือ ผู้ที่มีจิตถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำเสียแล้ว ย่อมเกิดเจตนาความคิดเพื่อเบียดบังตนบ้าง ผู้อื่นบ้าง ทั้งสองฝ่ายบ้าง ต้องได้รับทุกข์โทมนัสแม้ทางใจ เมื่อเกิดเจตนาขึ้น ดังนั้น ก็ทำให้ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร คือ กาย วาจา ใจ และคนเช่นนั้นย่อมไม่รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามเป็นจริง แต่ว่าเมื่อละความชอบ ความชัง ความหลงเสียได้ ไม่มีเจตนาความคิดที่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร รู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามเป็นจริง ไม่ต้องเป็นทุกข์โทมนัสแม้ด้วยใจ “ธรรม (ตลอดถึง) นิพพาน” ที่ว่า “เห็นเอง” คือเห็นอย่างนี้ ตามที่ตรัสอธิบายนี้ เห็นธรรม ก็คือ เห็นภาวะหรือสภาวะแห่งจิตใจของตนเอง ทั้งในทางไม่ดีทั้งในทางดี จิตใจเป็นอย่างไร ก็ให้รู้อย่างนั้นตามเป็นจริง ดังนี้ เรียกว่าเห็นธรรม ถ้ามีคำถามว่า จะได้ประโยชน์อย่างไร? ก็ตอบได้ว่า ได้ความดับทางใจ คือ จิตใจที่ร้อนรุ่มด้วยความโลภ โกรธ หลง นั้น เพราะมุ่งออกไปข้างนอก หากได้นำใจกลับเข้ามาดูใจเองแล้ว สิ่งที่ร้อนจะสงบเอง และให้สังเกตจับตัวความสงบนั้นให้ได้ จับไว้ให้อยู่ เห็นความสงบดังนี้ คือ เห็นนิพพาน วิธีเห็นธรรม เห็นนิพพาน ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ จึงเป็นวิธีธรรมดาที่คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปปฏิบัติได้ ตั้งแต่ขั้นธรรมดาต่ำ ๆ ตลอดถึงขั้นสูงสุด
อริยสัจ ไตรลักษณ์ และนิพพาน “เป็นสัจธรรม” ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน (ดังแสดงในปฐมเทศนาและในธรรมนิยาม) เรียกได้ว่าเป็น “ธรรมสัจจะ” สัจจะทางธรรมเป็นวิสัยที่พึงรู้ได้ด้วยปัญญา อันเป็นทางพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา แต่ทางพระพุทธศาสนาก็ได้แสดงธรรมในอีกหลักหนึ่งคู่กันไป คือ ตาม “โลกสัจจะ”
สัจจะทางโลก คือ แสดงในทางตน มีตน เพราะโดยสัจจะทางธรรมที่เด็ดขาดย่อมเป็นอนัตตา แต่โดยสัจจะทางโลกย่อมมีอัตตา ดังที่ตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ในเรื่องนี้ได้ตรัสไว้ว่า “เพราะประกอบเครื่องรถเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เพราะขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สัตว์ก็ย่อมมีฉันนั้น” ธรรมในส่วนโลกสัจจะ เช่น ธรรมที่เกี่ยวแก่การปฏิบัติในสังคมมนุษย์ เช่น ทิศหก แม้ศีลกับวินัยบัญญัติทั้งหลาย ก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นแม้จะปฏิบัติอยู่เพื่อความพ้นทุกข์ทางจิตใจตามหลักธรรมสัจจะ ส่วนทางกายและทางสังคม ก็ต้องปฏิบัติอยู่ในธรรมตามโลกสัจจะ ยกตัวอย่างเช่น บัดนี้ตนอยู่ในภาวะอันใด เช่น เป็นบุตรธิดา เป็นนักเรียน เป็นต้น ก็พึงปฏิบัติธรรมตามควรแก่ภาวะของตน และ ควรพยายามศึกษานำธรรมมาปฏิบัติใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นประจำวัน พยายามให้มีธรรมในภาคปฏิบัติขึ้นทุก ๆ วัน ในการเรียน ในการทำงาน และในการอื่น ๆ เห็นว่า ผู้ปฏิบัติดังนี้จะเห็นเองว่า ธรรมมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชีวิตอย่างแท้จริง