ข้อคิด คำคม ปรุงผสมเป็น " ยาใจ "

(1/38) > >>

Jiab16:
บางข้อคิด  คำคม ( ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องธรรมะ ... สาธุ ) ที่ forward มาจากเพื่อนฝูง  ญาติโยม ทั้งหลาย  บางทีก็สามารถกระตุก " ต่อมฉุกคิด " ของเราได้ฉมังดีแท้  ว่ามั้ย ?

เจี๊ยบเอามาเผื่อทุกท่านด้วยล่ะ ... ที่ link นี้ ( มี 3 หน้าแล้วนา )   พี่ๆ น้องๆ อ่านจบแล้ว  เจ้าของกระทู้ก็หวังว่า  ท่านคงจะมี ข้อคิด  คำคม  ดีๆ  เจ๋งๆ  มาแบ่งปันกันอีกเพียบเลย  ใช่มั้ยคะ ?

http://www.cu2516.com/phpBB/viewtopic.php?t=31

*********************

Junphen Juntana:
จะสะกดรอย ตามต้อยๆ ไปอ่านนะคะพี่เจี๊ยบ :D

Jiab16:
ตำนานของมหาวิทยาลัย Harvard & Standford

พี่ชรินทร์ 07 ... ส่งมา

สุภาพสตรีในชุดกระโปรงผ้าฝ้ายเรียบๆ  กับสามีของเธอในชุดสูทเนื้อผ้าธรรมดาๆ  ก้าวลงจากรถไฟในชานชาลาสถานีเมืองบอสตัน  ทั้งคู่ยืนรออย่างสงบอยู่หน้าสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  เลขานุการสาวดูออกในแว่บเดียวว่า  สามีภรรยาซอมซ่อคู่นี้มาจากบ้านนอก  และไม่น่ามีธุระอะไรในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งนี้ได้  หล่อนขมวดคิ้ว
" เราต้องการพบท่านอธิการบดี "  สามีกล่าวนุ่มนวล
" ท่านติดนัดตลอดทั้งวัน "  เลขาฯสะบัดเสียงเล็กน้อย
" งั้นเราจะรอ "  ภรรยาตอบ

เป็นเวลาหลายชั่วโมงที่เลขานุการทำเป็นไม่สนใจ  โดยประมาณว่าทั้งคู่คงทนไม่ได้  และกลับไปเอง  แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่  เลขาฯสาวเริ่มไม่แน่ใจจึงต้องรบกวนเวลาท่านอธิการบดี
" พวกเขาคงแค่อยากพบท่านครู่เดียวก็กลับ "  หล่อนอธิบาย
 
ท่านอธิการบดีถอนใจด้วยความเบื่อหน่าย  แล้วก็พยักหน้าเสียไม่ได้  จริงๆ แล้วคนสำคัญระดับท่านอธิการจะมีเวลาพบคนระดับนี้ได้อย่างไร ?  แต่นั่นเถอะนะ  ท่านคิด  ดีกว่าปล่อยให้คู่สามีภรรยาบ้านนอกป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ให้ใครต่อใครมาเห็น  ท่านเชิดหน้าอย่างทรงเกียรติใส่ทั้งคู่

ภรรยากล่าวขึ้น " ลูกชายของเราเคยเรียนในฮาร์วาร์ด1 ปี  เขารักฮาร์วาร์ดมาก  และเขาก็มีความสุขที่นี่อย่างยิ่ง  แต่เมื่อปีที่แล้วเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  สามีและดิฉันก็เลยอยากทำอะไรสักอย่างไว้เป็นที่ระลึกถึงเขา  ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ "

ท่านอธิการไม่รู้สึกร่วมแต่อย่างใด  เพียงแต่ช็อคเล็กน้อย
" คุณผู้หญิง  เราไม่สามารถสร้างรูปปั้นให้กับทุกคนที่เคยเรียนฮาร์วาร์ด  แล้วก็ตายหรอกนะ  ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนั้น  ที่นี่คงดูไม่ต่างไปจากสุสานแน่ "
" โอ ... ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ  ท่านอธิการบดี " ภรรยารีบอธิบาย
" เราไม่ได้ต้องการจะสร้างรูปปั้น  เราคิดว่าเราจะสร้างตึกให้ฮาร์วาร์ดต่างหาก "

ท่านอธิการกรอกตาไปมา  เขามองไปที่ชุดผ้าฝ้ายกับสูทบ้านนอก " สร้างตึก !  พวกคุณรู้ไหมว่าใช้เงินเท่าไรในการสร้างตึกสักหลังหนึ่ง  เราใช้เงินไปมากกว่า 7.5 ล้านดอลลาร์  แค่ตอนเริ่มก่อตั้งฮาร์วาร์ดนี่ "  เป็นครู่ที่สุภาพสตรีเงียบกริบ  ท่านอธิการรู้สึกโล่งอก  ในที่สุดสามีภรรยาคู่นี้ก็ถูกกำจัดไปได้เสียที

ภรรยาก็หันมาพูดกับสามีเบาๆ ว่า " ใช้เงินแค่นั้นเองน่ะหรือ  ในการสร้างมหาวิทยาลัย ? แล้วทำไมเราไม่สร้างของเราเองสักแห่งหนึ่งล่ะ ? " สามีผงกศีรษะ

สีหน้าท่านอธิการเต็มไปด้วยความงงงวยสุดขีด  แล้วนาย และนาง ลีแลนด์ สแตนฟอร์ด ก็เดินทางไปยังพาโลอัลโตในแคลิฟอร์เนีย  ที่ๆ พวกเขาก่อตั้งมหาวิทยาลัยภายใต้นามสกุลของครอบครัว  เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ลูกชายที่ฮาร์วาร์ดไม่เคยเห็นคุณค่า

เรื่องนี้ดีมากเลย  มันเป็นเรื่องประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย Standford ในสหรัฐฯ  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดัง  คู่แข่งกับมหาวิทยาลัย Harvard  แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของคนที่ชอบตัดสินคนอื่นจากเปลือกนอก  และอเมริกา-ประเทศที่เราอยากจะเอาตามอย่างเขาเหลือเกิน

khesorn mueller:
This story is great ka pee Jiab.Thank you for giving me something to think about it.
nn.

Jiab16:
เริ่มต้นที่ตอนจบ

จิ๋ม-จงรักษ์ เชื้อแก้ว - อักษร 16 ... ส่งมา

บทความ ของ วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ ปริญญาโท จากฮาร์วาร์ด

มีคนชอบถามหนูดีว่า จะใช้สมองอย่างไรถึงจะคุ้มค่า จะใช้ชีวิต ใช้เวลาอย่างไรถึงจะถือว่าสมองของเราไม่ได้สูญเปล่า ด้วยความที่หนูดีเรียนมาด้านสมองและทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ จึงถูกถามในเรื่องนี้เป็นประจำ และก็เป็นคำถามที่ทำให้หนูดีสนุกมากที่จะตอบเสมอ เพราะคำถามชนิดนี้ มีคำตอบได้มากมาย ไม่เคยตายตัว ใครตอบก็ไม่มีวันซ้ำกัน

วันนี้ลองมาฟังนักวิจัยด้านสมองตอบคำถามนี้ดูกันเล่น ๆ ไหมคะ

สมัยที่หนูดีเรียนอยู่ที่อเมริกา เคยถูกให้ทำแบบฝึกหัดหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตหนูดีไปตลอดกาลเลย คือ เกม “ เริ่มต้นที่ตอนจบ ” โดยเกมนี้เล่นไม่ยาก แต่ใช้เวลาพอสมควร หนูดีเคยนำมาฝึกกับลูกศิษย์ของหนูดีบ่อย ๆ มีคนนั่งหลับตาไป ร้องไห้ไป มาหลายคนแล้ว เพราะเป็นเกมที่ทำให้เราได้ย้อนหลังกลับไปมองชีวิต ไม่ใช่แต่ต้นจนอวสาน แต่ว่ามองจากอวสาน มาตอนต้น ถ้าพูดเปรียบเทียบเป็นภาษานักธุรกิจก็ต้องบอกว่า Begin with the end in mind ก็คือการเริ่มต้นมาจากการมองเห็นภาพตอนจบ หรือสัมฤทธิผลของเรื่อง

เกมนี้เริ่มที่ หนูดีจะขอให้ผู้อ่านลองหาเวลาเงียบ ๆ อยู่กับตัวเองในตอนที่เราไม่มีเรื่องรีบร้อนอันใดต้องไปทำ แล้วให้นั่งลง หลับตาจินตนาการภาพตัวเรา ตอนอายุสักแปดสิบ โดยให้สมมติว่า เราจะต้องตายตอนอายุสักแปดสิบ และตอนนั้น เราเจ็บป่วย นอนอยู่บนเตียง หลังจากนั้นให้เราลองจินตนาการย้อนกลับไปมองทั้งชีวิตของเราว่า ที่ผ่านมาเราได้ใช้มันไปอย่างไรบ้าง เราใช้เวลาของเราทำอะไรไป เราวิ่งตามอะไร เราวุ่นวายกับอะไร เรารักใคร เราไม่รักใคร ความสุข ความทุกข์ของเราเป็นผลจากอะไร

แต่สองคำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะเสียดายที่สุด หากเราตายไปโดยไม่ได้ทำอะไร ... เราจะเสียดายที่สุด หากเราไม่ได้ใช้เวลากับใคร หากเราตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างกระจ่างชัด ก็จะมีเวลาบางช่วงที่เราจะไม่ใช้ไปอย่างที่เราใช้อยู่ จะมีกิจการบางกิจการ ที่เราไม่เลือกจะก่อตั้ง มีเพื่อนบางคนที่เราอาจจะเลิกคบ มีเงินบางก้อนที่เราจะปฏิเสธไม่รับ สารพัดของสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรามีเวลาถอยออกมาจากชีวิต แล้วย้อนกลับไปมองเหมือนกับว่า เรากำลังดูหนังวิดิโอชีวิตของคนอื่นอยู่ แล้วก็วิจารณ์ว่าเขาคนนั้นตอนยังมีชีวิตอยู่ น่าจะทำอะไรที่ควรทำ

ทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคที่ง่ายดายและลึกซึ้ง เมื่อหนูดีลองทำแล้ว เป็นประโยชน์อย่างยิ่งถึงขั้นหนูดีเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนชีวิต เพราะจากที่เคยคิดอย่างเด็กอายุยี่สิบ หนูดีกระโดดข้ามไปคิดแบบแปดสิบได้ ตอนนี้เลยเหมือนย้อนกลับมาใช้ชีวิตรอบสอง โดยอายุยังไม่ครบสามสิบเลย เหมือนมีสองชีวิตเลยค่ะ

เมื่อก่อนหนูดีเคยคิดว่า ความสำเร็จในชีวิตก็เหมือนกับการหาของใส่กล่อง คนเก่งกว่าก็ใช้เวลาเป็น ใช้ชีวิตคุ้ม ก็หาของมาใส่กล่องได้เร็วและมากกว่าคนอื่น แต่อีกปัจจัยที่ทำให้กล่องเต็มได้ ที่หนูดีไม่เคยคิดมาก่อนจะเล่นเกมนี้ก็คือ แค่เราเปลี่ยนขนาดกล่องให้เล็กลงซะ มันก็เต็มได้โดยไม่ยากเย็นเลย

ดังนั้นการใช้สมองให้เต็มที่ คุ้มค่า เพื่อให้ชีวิตมีสุขได้ครบด้านและง่ายดาย น่าจะอยู่ที่ศักยภาพในการถอยออกมาแล้วมองชีวิตจากมุมห่างออกไปอีกหน่อย มองย้อนกลับจากวันสุดท้ายของชีวิต ก็เป็นความท้าทายที่น่าสนุกอีกแบบหนึ่ง มันเปลี่ยนชีวิตหนูดีมาแล้ว ในทางที่ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์ ด้วยคำถามง่าย ๆ ไม่กี่คำถาม

แล้ววันนี้ ท่านผู้อ่านของหนูดีคิดว่า " ชีวิตนี้ ไม่ได้ทำอะไรแล้วจะเสียดายที่สุดคะ และไม่ได้ใช้เวลากับใครแล้วจะเสียดายที่สุดคะ "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป