ข้อคิด คำคม ปรุงผสมเป็น " ยาใจ "

<< < (38/38)

ติ๋ม จันทร์ฉาย:
ขอโทษค่ะ ขอแซวเพื่อนก่อนอ่าน "อริยสัจ ๔ ของพุทธเจ้า" มิใช่หรือ แต่เดี๋ยวอ่านแล้วคงเข้าใจว่าชื่อเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร ทำไมจึงเป็น อริยสัจ 4 ของ ... ดร.โสรีช์  โพธิแก้ว

อ้างถึง ข้อความของ Jiab16 เมื่อ 23 ตุลาคม 2554, 22:04:32


อริยสัจ 4 ของ ... ดร.โสรีช์  โพธิแก้ว

โดย : เรื่อง มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ ... ภาพ ฐานิส สุดโต

จาก  http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20111023/415317/อริยสัจ-4-ของ...โสรีช์-โพธิแก้ว.html



คนเราส่วนใหญ่ทุกข์ แต่ไม่รู้ตัวว่าทุกข์ ยิ่งไปกว่านั้นไม่รู้ว่า สาเหตุของความทุกข์นั้นมาจากไหน และจะจัดการกับความทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร

รศ.ดร. โสรีช์ โพธิแก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นำพุทธศาสตร์จากตะวันออกมาประยุกต์ในสาขาจิตวิทยาตะวันตก จนเกิดเป็นวิชาจิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ ได้สร้างลูกศิษย์ออกมาไม่น้อยในการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้คนในสังคมไทยมาตลอดยี่สิบกว่าปีมานี้ โดยอาศัยหลักอริยสัจสี่ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีก่อนมาเป็นหัวใจในการให้คำปรึกษา มีคำตอบ 

แต่กว่าจะพบคำตอบที่ลึกซึ้งที่นำมาเยียวยาผู้คนได้ อาจารย์เองก็ค้นพบด้วยตัวเองก่อน

บทเรียนแรกที่สวนโมกข์

อาจารย์โสรีช์เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี พ.ศ. 2529 ลงไปสวนโมกข์ ไปพบท่านอาจารย์พุทธทาส ตอนนั้นความรู้ทางพุทธศาสนาทำให้มองตัวเองอย่างชัดเจนขึ้น

" เมื่อก่อนผมคิดว่า ความรู้ทางพุทธศาสนาอยู่ข้างนอก เรารู้จักมันทางตัวหนังสือ รู้มาก ก็ได้ประโยชน์มาก ท่องกันไป ว่ากันไป ใครจำได้มากก็ได้ประโยชน์มาก ครั้งแรกที่ผมมาหาท่านพุทธทาส ผมเข้าไปกราบท่าน ไปบอกท่านว่า มาถึงแล้วครับ คาดหวังให้ท่านทักเราบ้าง เหมือนกับท่านเป็นเจ้าของบ้านแล้วเราเป็นแขก ปรากฏว่า ท่านไม่ทักผมสักคำ ไปกราบท่านที่หน้ากุฏิ ที่ม้าหิน ผมก็นั่งคอยว่าท่านจะทักเมื่อไหร่ ท่านนั่งเงียบสนิท และตาจ้องออกไปข้างหน้า เหมือนกับไม่มีผมอยู่ในสายตา ช่วงนั้นผมรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ มีความโกรธ ไม่พอใจ ปั่นป่วนพึ่บพับขึ้นมาในใจอย่างเห็นได้ชัด เป็นอย่างนี้ได้ครู่หนึ่ง มันก็มีคำถามผุดขึ้นมาในใจของผมว่า โสรีช์ เอ็งเป็นอะไรน่ะ ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มเห็นอะไรบางประการในใจผมที่เป็นตัวเรียกร้องให้ผู้อื่นสนใจ "

" เดิม ผมรู้สึกว่า ผมเป็นคนอ่อนน้อม ไม่ถือตัวถือตน แต่ที่ไหนได้ วันนั้น ต่อหน้าความเงียบที่หนักแน่นอยู่ต่อหน้าผมของท่านพุทธทาส  ทำให้ผมพบว่า จริงๆ เลย มันมีตัวตนที่เรียกร้องหาความชื่นชมยินดี ให้ความสำคัญอยู่ตลอดเวลา ผมรู้สึกเข้าใจอะไรบางประการขึ้น แล้วผมก็กราบท่าน วันนั้น ท่านเทศนาธรรมเรื่องความเห็นแก่ตัว ให้ลูกศิษย์ที่ผมพาไปด้วยฟังสัก 50 คน ผมเข้าใจแล้ว ที่เรียกว่า วิปัสสนา หรือ ความเห็นแจ้งที่ว่า ทุกข์ คือการกำหนดรู้ อย่างนี้เอง มันเป็นความแน่น จุก ร้อนผ่าวขึ้นมา เมื่อมันเกิดขึ้น เฝ้าดูมัน แล้วมันก็จางหายไปเอง วันนั้น มันเหมือนกับมีตาที่เห็นอะไรชัดเจนขึ้น "

เมื่อถูกถามกลับไปว่า หากวันนั้น ท่านพุทธทาสทักอาจารย์ล่ะ จะเป็นอย่างไร 

" ถ้าท่านทัก ผมคงจะเรียกว่า ยาพิษหวาน แต่ท่านไม่ทัก ทำให้ผมเห็นอะไรบางอย่าง เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ในการศึกษาของผมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า เนื้อหาทางพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้เอง ทำให้ผมเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าชัดเจนขึ้น เป็นสันทิฐิโก หมายถึง เป็นสิ่งที่ผู้รู้ ผู้ศึกษาจะเข้าใจด้วยตนเอง เรื่องลึกลับมันอยู่ในตัวเอง มันซ้อนกันอยู่ บางอย่างหยาบ บางอย่างละเอียด บางอย่างเราคิดว่าอยู่ข้างนอก แต่จริงๆ มันอยู่ในตัวเรา สิ่งเหล่านี้ เราต้องค่อยๆ สังเกต และทำความรู้จักมัน "

อาจารย์โสรีช์ เรียนจบปริญญาตรีทางด้านจิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2510 การเรียนจิตวิทยาสมัยนั้น อาจารย์เล่าว่า น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะจิตวิทยาทำให้เข้าใจชีวิต การได้พบกับงานของนักจิตวิทยาตะวันตก เช่น ซิกมุนด์ ฟรอยด์  คาร์ล จุง  และอีกหลายท่าน ช่างเป็นนักจิตวิทยารุ่นใหญ่เหลือเกิน

" แต่ผมก็สงสัยเล็กๆ ว่า นักจิตวิทยาไทยมีไหม คุณแม่ผม ที่ไม่ได้เรียนจิตวิทยา เลี้ยงผมด้วยหลักอะไร คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นมาตอนเรียนเสมอ พอไปเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ ก็ตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีด้านนี้ทางด้านแบบวัดผลที่ทำการทดลองกับผู้คนประมาณ 1,800 คน ซึ่งเป็นแบบวัดที่น่าเชื่อถือได้ แต่ก็มีคำถามเล็กๆ เสมอ เวลานั่งรถเมล์ผ่านเยาวราช ผมมักคิดเล่นๆ ว่า จิตวิทยาที่เรียนมาจะไปใช้กับอาซิ้ม อาม้าที่กำลังแบกหามที่เขาไปไหว้ศาลเจ้าก็อธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ให้การงานค้าขายดีได้อย่างไร ถ้าผมออกแบบวัดผลไปให้อาม้าทำ ผมจะโดนไม้คานตีไหม เพราะอาม้าอาจจะมีคำถามว่าถามไปทำไม แต่ผมก็ไม่ได้ไปแสวงหาคำตอบด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง "

" กระทั่งสอบได้ทุนฟูลไบรท์ ไปเรียนที่ มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาเกี่ยวกับการเยียวยารักษาพัฒนาจิตใจของผู้ป่วย ( Ed.D. in Counselor Education ) ในอเมริกาทำให้ผมรู้สึกตัวของตัวเองชัดขึ้น เราแปลกหน้าสำหรับเขา แนวคิดของเขาก็สอดคล้องกับชีวิตเขา เหมือนกับเขาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแนวคิดเหล่านี้ แล้วเราล่ะ มีอะไรไปอวดเขา ผมก็นึกถึงพุทธศาสนานี่แหละ ที่ผมเติบโตมากับสิ่งนี้ บ้านผมอยู่ที่เชียงใหม่ พ่อผมก็เคยบวชจนเป็นเจ้าอาวาสวัด ลาสิกขาออกมาก็แต่งงานกับแม่ ชีวิตก็ใกล้วัด พระสงฆ์ก็แวะมาที่บ้าน เวลาพระมาทีไรก็เกิดความอบอุ่น  พอจะเอาอะไรไปอวดเพื่อนชาวอเมริกันได้บ้าง แต่ตอนนั้น เรารู้ว่า เราไม่รู้อะไรเลย ถ้าจะอธิบายการตักบาตร และการทำบุญวันพระอย่างเดียว ก็ไม่น่าจะหนักแน่นพอที่จะเป็นวิชาการอะไรได้ เลยต้องเริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วตอนนี้ "

ด้วยความที่อาจารย์โสรีช์สนใจพุทธศาสนาอยู่บ้าง เคยอ่านหนังสือ "คู่มือมนุษย์ " ของท่านพุทธทาส และ "พุทธธรรม" ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตฺโต )  แล้วก็อ่านเรื่องพุทธศาสนาจากชาวต่างชาติ ตรงนี้ทำให้อาจารย์ยิ่งอึ้งว่า ชาวตะวันตกเขาสนใจพุทธศาสนามาเป็นร้อยปีแล้ว

" มีเล่มหนึ่งชื่อว่า จิตวิทยาทางพุทธศาสนา ( Buddhist Psychology )  เขียนโดย รีด เดวิท ( Rsys Davids ) ว่ากันว่าเป็นบาทหลวงคาทอลิก แล้วก็มาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อจะเข้าใจพระพุทธศาสนาและหาจุดอ่อน ในที่สุดก็ปวารณาตัวเป็นพุทธศาสนิกชนด้วย เพราะแทบจะหาจุดบกพร่องไม่ได้เลย หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2457 ผมก็ตื่นตะลึงไปกับเขาด้วย พอได้แนวคิดเบื้องต้นสำหรับปริญญาเอกของผมในเรื่อง การนำหลักอริยสัจสี่มาใช้ในกระบวนการรักษาจิตใจ จึงเกิดขึ้นและเป็นไปได้ อาจารย์ที่ดูแลวิทยานิพนธ์ท่านก็ดีมาก ให้กำลังใจ ท่านบอกกับผมว่า ชัดเจนแล้วนี่ว่า ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อในพระเจ้า แต่พุทธศาสนาเป็นเรื่องของสัจจะ ธรรมชาติ ไม่มีพระเจ้า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์ อย่างเช่นคำว่า อิทัปปัจจยตา หมายถึง เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี อธิบายทุกอย่างครบถ้วน ต้องมีปัญญาในการเข้าใจในสิ่งที่ปิดกั้นปัญญาที่เราเรียกว่า อวิชชา ซะก่อน แล้วความจริงจะปรากฏ  ทำให้ผมเข้าใจว่า พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องคิดเอา เดาเอา คาดคะเนเอาไม่ได้ "

" ครั้งหนึ่ง มีนักศึกษาถามผมว่า  ไม่มีตัวตน แล้วนี่คืออะไร เขาก็ชี้มาที่ผม แต่ผมตอบไม่ได้ นี่เป็นคำถามที่ท้าทายมาก  ผมก็ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้พบคำตอบที่สวนโมกข์ ต่อหน้าท่านพุทธทาสนี่แหละ "

รากเหง้าของความทุกข์

จากนั้นอาจารย์ก็พัฒนาหลักสูตรการสอนมาเรื่อยๆ วิชาจิตวิทยาการให้คำปรึกษาแนวพุทธ ทำให้นักศึกษาที่จบไปนำไปช่วยเหลือผู้คนได้มาก กระทั่งปี พ.ศ. 2523 คุณแม่ของอาจารย์เสียชีวิต สองปีต่อมาคุณพ่อก็เสียชีวิตอีก

" ช่วงนั้นกระเทือนใจผมอย่างยิ่ง ก็เลยแปลหนังสือของท่านกฤษณมูรติ เรื่อง แห่งความเข้าใจชีวิตและการศึกษาที่แท้ หนังสือเล่มนี้เป็นคล้ายๆ ค้อน ช่วยทุบก้อนหินเรื่องพุทธศาสนาให้เข้าที่ เหมือนการศึกษาพุทธศาสนาของผมที่ผ่านมา รู้ระเกะระกะไม่รวมกัน การแปลหนังสือเล่มนี้ทำให้เนื้อพุทธศาสนาเป็นอันเดียวกัน ยิ่งเมื่อได้พบกับท่านพุทธทาสในเวลาต่อมา ก็ยิ่งทำให้ผมเข้าใจว่า ความเข้าใจเชิงหนังสือ ไม่เหมือนการเข้าใจตนเอง การเข้าใจตนเอง คือกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การค้นพบชีวิตที่แท้จริง "

หลักสูตร จิตวิทยาการปรึกษาแนวพุทธ ในระดับปริญญาเอกจึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง 

" ผมพยายามหาเอกลักษณ์ของการเรียนการสอนในประเด็นนี้ ที่น่าจะศึกษาร่วมกันและนำไปใช้ อย่างน้อยที่สุดก็นำไปใช้กับคนที่ไม่สบายใจได้ เราพยายามไม่ใช้คำผู้ที่มาหาเรา ว่าป่วยเป็นโรคจิตโรคประสาท แต่เราพยายามหาเรื่องที่เขาปั่นป่วนภายในใจ แล้วเดินเข้าไปในใจกับเขา หาต้นตอของโจทย์ ที่ทำให้ไม่สบายใจ ซึ่งเราหาเจอแล้วล่ะ ก็คือ ความยึดมั่น ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นแหละเป็นทุกข์ เป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความเครียด เหล่านี้มีที่มาจากความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ทั้งนั้น "

" สังเกตดู ส่วนใหญ่เรามักจะโกรธคนใกล้ชิดมากกว่าคนไกลตัว โกรธแล้ว บางทีแสดงออกไม่ได้ ความโกรธจะย้อนเข้าไปภายใน พลังงานเริ่มลดลง กลายเป็นความซึมเศร้า ทั้งหมด ก็เพราะมันไม่ได้เป็นไปอย่างใจตน ความคาดหวังคำเดียวทำให้คนไม่มีความสุข ทุกคนอยู่บนความคาดหวัง ถูกโจมตีละลอกแล้วละลอกเล่าของชีวิต แต่ไม่รู้ตัว"

เทคนิค กระบวนการสอนนักศึกษาก็เพื่อให้เรารู้ตัวว่าเรากำลังถูกความคาดหวังจู่โจมแล้วนะ และจะหาทางรู้ทันมันอย่างไร 

อาจารย์โสรีช์ให้โจทย์กับนิสิตนักศึกษาทุกคนก่อนจบไปทำงานว่า จะต้องรู้จักอริยสัจสี่ โดยการพิจารณาตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปี

" คือจะต้องรู้จักอริยสัจสี่ที่ตนเอง ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ง่าย ผมสังเกต นิสิต มีแนวโน้มการศึกษาที่อยากจะจดจำเนื้อหา ท่องจำ มากกว่าที่จะนำหลักการสำคัญไปพิจารณาตนเอง ดูตนเอง เพื่อตนเอง ที่ให้บันทึกเรื่องนี้ ก็เพราะเรื่องสำคัญที่สุดที่จะช่วยแก้ทุกข์ให้เราได้คือ อริยสัจสี่ ผมยกตัวอย่างวันแล้ววันเล่า ในแง่มุมต่างๆ ตามประสบการณ์ผู้สอนที่จะนำพาไปได้ ยกตัวอย่างอาการความทุกข์ของคนที่เกิดขึ้นจากความคาดหวัง การถูกอวิชชาครอบงำ แต่เข้าใจได้ไม่ยาก ในระดับ  ในขั้นปฏิบัติการ เราให้เขาลงมือเลย เช่นว่า เมื่อมีคนแบกความทุกข์มาหาให้เราช่วยแก้ เราจะต้องรู้สึกร่วมไปกับเขาให้ได้ รับรู้ว่าเขาเป็นอย่างไร โดยเอาตัวเราเข้าเชื่อมกับเขาด้วย ตัวเราในฐานะที่ติดตามโลกของเขาอยู่ ในเรื่องที่เขาเล่า แล้วเราก็เอกซเรย์ หาความคาดหวังที่เขาซ่อนอยู่ มันเหมือนกับว่า เราต้องคิดค้นหลักการบางประการโครงสร้างของกองขยะ "

" เราต้องมีการฟังเทปของผู้มาให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่จุฬาฯ เรามีให้นักศึกษาฝึกงานประมาณ 1 ปี ให้เขาทำงานเป็นทีม บางทีมต้องเข้าไปฝึกฟังผู้ต้องขัง ร่วมกันค้นหาเหตุแห่งความทุกข์ของเขา ไปจนถึงทำให้เขาค้นพบทางออกด้วยตนเอง หน้าที่ของเราคือ พาเขาเดินไปด้วยกันกับเรา เพราะถ้าเห็นเหตุของปัญหา คือความคาดหวัง แล้วไม่ได้ดั่งใจ ก็ไม่ยากแล้ว เพราะทุกคนต้องกลับมาอยู่กับความจริง ยอมรับความจริง และอยู่กับความจริงก็จะค่อยๆ พบทางออกเอง และจะเริ่มมีความมั่นใจในตัวเอง รู้ว่าชีวิตของตนเองมีค่า "

สำหรับอาจารย์โสรีช์เอง ก็เจอโจทย์ในเรื่องความคาดหวังกับลูกศิษย์ไม่น้อย 

" ผมพบว่า ไม่มีใครสักคนที่สามารถจะเท่าความคาดหวังของเราได้ ผมเลยเห็นว่า เมื่อเราปลูกต้นไม้ เอาใจใส่รดน้ำ พรวนดินแล้วให้เขาเติบโตของเขาเอง เรามีหน้าที่ทำสวน ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของต้นไม้ ไม่กลัวว่าจะต้องประสบกับอะไรในชีวิต เพราะทุกคนก็ต้องเจอ ความเคราะห์ร้าย สมหวัง ผิดหวังสลับกันไปเสมอ "

นี่คือ กุญแจดอกสำคัญที่จะไขปริศนาของชีวิต ที่เราต่างมีอยู่แล้ว  แต่มักจะมองหากุญแจที่อยู่ข้างนอกเสมอ

Tags : รศ.ดร. โสรีช์ โพธิแก้ว



ติ๋ม จันทร์ฉาย:

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

อ้างถึง ข้อความของ NickkY37 เมื่อ 11 พฤษภาคม 2556, 17:11:53

อ่านคำคมพวกนี้  ก็ช่วยให้เรามีสติมากขึ้นน่ะค่ะ   emo49:))

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว