ก้าวไกลแบบ..จีน แบบที่ไทย..ไม่มีทุกครั้งที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุปะทะระหว่างทหาร-ตำรวจ กับกลุ่มผู้ชุมนุมในเมืองไทย แต่ละภาพชวนสยองมีปรากฏในทีวีไทยเช่นไร ก็มีปรากฏอยู่ในรายการข่าวช่องดัง CCTV ของเมืองจีนเช่นนั้น
ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวจีนยามนี้ จึงไม่น่าอภิรมย์นัก แถมยังสอดรับกับจำนวนผู้โดยสารของสายการบินไทย ทั้งเที่ยวบินจากไทยไปจีน และจากจีนมาไทยอย่างเด่นชัด
เที่ยวบินขาออกจากสนามบินสุวรรณภูมิสู่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้โดยสารทั้งชาวไทย จีน และตะวันตก แน่นขนัดเต็มลำ ขณะที่เที่ยวบินขาเข้าจากปักกิ่งมายังไทย แต่ละลำมีผู้โดยสารเฉลี่ย 60-70%
สังเกตได้จากที่นั่งโดยสารชั้นประหยัด ปกติมักจะมีผู้โดยสารนั่งเบียดเสียดกันแน่นราวกับปลากระป๋อง
แต่ในระยะหนึ่งเดือนให้หลังมานี้ หลังจากกัปตันนำเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้ามุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ แอร์โฮสเตสเสียงหวานอนุญาตให้ผู้โดยสารสามารถเลือกย้ายก้นไปนั่งตามที่ว่างบนเครื่องฯ ตรงไหนก็ได้ตามใจชอบ
ความเจริญของจีนแผ่นดินใหญ่ยามนี้ ไม่เพียงต่างจากเมื่อหลายปีก่อนเป็นอันมาก ยังก้าวหนีทิ้งห่างไทยอย่างน่าสนใจในหลายๆเรื่อง
โดยเฉพาะที่ มหานครปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวง และที่ เมืองเทียนจิน หรือเทียนสิน (ออกเสียงแบบคนไทย) หนึ่งในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนยุคปัจจุบัน
สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินกิจการร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นในไทย ซึ่งไปๆมาๆไทย-จีนบ่อยครั้ง บอกว่า
ทุกวันนี้ปักกิ่ง นอกจากได้ชื่อว่าเป็นมหานครที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากเซี่ยงไฮ้ ยังถือเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การขนส่ง และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ความพิเศษอย่างหนึ่งของกรุงปักกิ่ง อยู่ที่สามารถอนุรักษ์หรือรักษาสภาพบ้านเรือนแบบโบราณเอาไว้ได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทันสมัยที่ไหลบ่า
สุวิทย์บอกว่า หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าปกครองประเทศ
ได้ทำการปรับปรุงกรุงปักกิ่งด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากรัสเซีย มีการเวนคืนบ้านเรือน ทุบกำแพงเมืองเก่า เพื่อตัดขยายถนนจำนวนมาก จนทำให้ตัวเมืองถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายตารางสี่เหลี่ยม ถนนหนทางส่วนใหญ่มักตัดเป็นเส้นตรงยาว ถ้าเป็นที่อื่น สภาพบ้านเรือนแบบโบราณคงไม่เหลือซากให้เห็น
แต่ปัจจุบันทั่วกรุงปักกิ่ง แม้จะมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ตึกสูงระฟ้า ช็อปปิ้งมอลล์ อาคารสำนักงาน อพาร์ตเมนต์ทันสมัย และเคหสถานแบบใหม่ที่เรียกว่า Linnking Hybrid หรือที่อยู่อาศัยแบบตึกสูง ที่เชื่อมติดกันเป็นพรืดเดียวไปหมด
แต่สุวิทย์บอกว่า มหานครปักกิ่ง ยังสามารถดำรงสภาพของอาคารบ้านเรือนชั้นเดียวหลังเล็กๆ และตรอกแคบๆ ที่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายทางวัฒนธรรมโบราณไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
"20 ปีที่แล้ว ตอนผมไปปักกิ่งครั้งแรก ผู้คนแต่งตัวชุดเดียวกันทั้งเมือง แบบชุดของประธานเหมา มองไปทางไหนเต็มไปด้วยจักรยาน สมัยนั้นยังไม่มีรถแท็กซี่ จะไปไหนทีต้องนัดหมายให้พรรคพวกมารับ
ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้การคมนาคมสะดวกสบาย มีแม้กระทั่งรถไฟความเร็วสูง วิ่งจากปักกิ่งไปเมืองเทียนสิน ระยะทาง 150 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 300 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางแค่ครึ่งชั่วโมง"
แม้จะเป็นมหานครขนาดใหญ่ติดอันดับโลก และมองไปทางไหนแทบไม่เห็นตำรวจตามท้องถนน แต่ปักกิ่งยุคนี้กลับได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีออลล์ฯ บอกว่า เพราะทั่วทั้งมหานครเต็มไปด้วยกล้องวงจรปิด ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกรอภาพย้อนกลับไปเช็กรายละเอียดได้ทั้งหมด
รวมทั้งปัจจุบันคนจีนทั้งประเทศมีแฟ้มประวัติที่สามารถตรวจสอบได้ทุกคน จึงแทบไม่มีใครกล้าก่อปัญหาอาชญากรรม
ข้อสังเกตอีกอย่าง ก็คือ คำทักทายของชาวปักกิ่งและคนจีนยุคนี้ เปลี่ยนไปมากจากเมื่อก่อน ในยุคที่ชาวจีนส่วนใหญ่ยังมีวิถีชีวิตแบบอดอยาก คนจีนมักมีธรรมเนียมทักทาย หรือถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันว่า "กินข้าวแล้วหรือยัง"
สุวิทย์บอกว่า แต่วันนี้เทรนด์ใหม่ของชาวปักกิ่ง รวมทั้งชาวจีนในหลายมณฑล ในยุคที่จีนมีทุนสำรองของประเทศสูงที่สุดในโลก มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีสูงถึง 8% มีงบประมาณทางทหารสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สูงเป็นที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ)
จีนยังสามารถส่งคนขึ้นไปสำรวจอวกาศ มีเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ และมีขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธจากข้าศึก
เดี๋ยวนี้ชาวจีนนิยมทักทายกันใหม่ว่า "ไปเที่ยวไหนมา" แทน
สะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของคนจีนยุคนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ก็สามารถทำได้ในที่สาธารณะ เพียงแต่ยังห้ามวิจารณ์ออกทางโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์
ว่ากันว่า การที่นิสัยประจำชาติของชาวจีน เป็นพวกที่ ยึดติดกับสถิติตัวเลข และ ชอบเอาชนะ พฤติกรรมทั้งสองอย่าง มีส่วนผลักดันให้จีนกลายเป็นประเทศเจ้ากีฬาเหรียญทองโอลิมปิก และได้รับการพัฒนาให้รุดหน้าทุกด้านอย่างรวดเร็วกว่าอีกหลายประเทศ
แต่ถึงแม้จีนจะเจริญอย่างรวดเร็ว ก็ยังมีข้อเสียตรงที่ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมตามมา ผู้นำจีนจึงต้องเน้นสร้างความกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลา
ปัจจุบันจีนมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน อัตราการเพิ่มของประชากร จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ จึงมีการกำหนดให้คู่สมรสสามารถมีลูกได้ครอบครัวละไม่เกิน 1 คน
กรณีชาวบ้านทั่วไป หากปล่อยให้ตั้งท้องลูกคนที่ 2 ทางการมักหาทางบีบให้ไปทำแท้งที่โรงพยาบาล หากเป็นข้าราชการปล่อยให้ตั้งท้องจนคลอดลูกคนที่ 2 ออกมา อาจถูกลงโทษด้วยการตัดเงินเดือน หรือลดตำแหน่ง จนไม่สามารถไต่เต้าตามเพื่อนทัน
จะมีก็แต่บรรดามหาเศรษฐี คนใหญ่คนโต หรือผู้มีชื่อเสียงในสังคม เมื่อตั้งท้องลูกคนที่ 2 มักแก้ปัญหาโดยเมื่อใกล้คลอด จะหาทางไปคลอดลูกกันที่ฮ่องกง เพื่อให้เด็กที่เกิดมาได้สัญชาติเป็นชาวฮ่องกง
ด้วยเหตุนี้สำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการจะเข้าฮ่องกง (แม้เป็นประเทศเดียวกัน) ก็ต้องขอวีซ่าเข้าฮ่องกงด้วย
เทียนสิน จัดเป็น 1 ใน 4 ของ เมืองที่ปกครองตนเอง ในจีน อันประกอบด้วยปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ จุงกิง และเทียนสิน ซึ่งทั้ง 4 เมืองล้วนน่าจับตาติดตามความเคลื่อนไหว
ทั้ง 4 เมืองที่กล่าวมา ล้วนมีโครงสร้างการปกครองที่มีฐานะทัดเทียมกับ มณฑล และอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีจีนโดยตรง
สุวิทย์บอกว่า เมืองเทียนสินอยู่ติดกับทะเลเยื้องไปทางตะวันออก
เฉียงใต้ของปักกิ่ง มองผิวเผินเหมือนเมืองนี้ดังสู้เมืองปกครองตนเองอีก 3 แห่งของจีนไม่ได้
ระหว่างปักกิ่งกับเทียนสิน พอเทียบเคียงได้กับกรุงเทพฯ กับ จ.สมุทรปราการ แม้จะไม่โด่งดังหวือหวาเท่าปักกิ่ง แต่เทียนสินก็เป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีศักยภาพแฝงทางเศรษฐกิจ เป็นจุดขนถ่ายสินค้าที่สำคัญระหว่างตอนใต้และตอนเหนือของประเทศจีน รวมทั้งยังเป็นเมืองที่มีทรัพยากรแร่หลายชนิดมากที่สุดของประเทศ
เมื่อเทียบกับเมืองปกครองตนเองอีก 3 แห่ง และเมืองเอกในแต่ละมณฑลของจีน ค่าครองชีพในเทียนสินถือว่ายังอยู่ในระดับกลาง ทั้งยังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องความปลอดภัย จึงได้รับเลือกให้เป็นเมืองน่าอยู่ของจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งกลายเป็นที่หลงใหลของชาวจีนและชาวต่างชาติ
นอกจากเทียนสิน ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และจุงกิง สุวิทย์บอกว่า ยังมีเมือง
ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจอีกหลายแห่ง จ่อคิวให้รัฐบาลจีนกำหนดให้เป็นเมืองปกครองตนเอง เช่น เมืองเซินเจิ้น ทางตอนใต้ หรือเมืองเสิ่นหยาง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นต้น
เมืองเหล่านี้ ล้วนปรารถนาจะได้รับเลือกให้เป็นเมืองปกครองตนเอง เพราะสิ่งที่ได้รับนอกเหนือจากความภาคภูมิใจของคนในเมืองนั้น ยังเต็มไปด้วยผลประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่รออยู่ตรงหน้า
ไม่เหมือนบางประเทศ ที่เอาแต่ทะเลาะกันไม่เลิก ปล่อยให้ชาวบ้านชาวช่องเขาหนีแซงหน้าไปถึงไหนๆ.
ไทยรัฐออนไลน์
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
8 พฤษภาคม 2553, 05:00 น.
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
tags:
ประเทศจีน สกู๊ปหน้า 1 เศรษฐกิจ
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/81459 5500