11 พฤศจิกายน 2567, 02:26:52
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: [1] 2 3  ทั้งหมด   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: ธ สถิตย์ในดวงใจ หทัยราษฎร์  (อ่าน 64681 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 ธันวาคม 2550, 14:29:29 »

ยายซุบ คนสามร้อยยอด

พี่ชรินทร์ 07 ...ส่งมา

ยายซุบ  เป็นหญิงชาวบ้านวัย 70 แห่งบ้านคุ้งโตนด อำเภอกุยบุรี  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ยากจนมาตั้งแต่ยังสาวจวบจนวันนี้  หากแต่แกกลับยืนยันว่า  แกมีอดีตที่มีความหมายต่อชีวิตของแก  อดีตที่หมายถึงชีวิตใหม่  ไม่ว่าแกจะยังจนต้องขอเงินลูก ๆ 9 คนใช้ดังเช่นทุกวันนี้หรือ  จะมั่งมีศรีสุข  ถูกหวยรวยเบอร์อย่างไรก็ตาม  แกไม่เคยลืมเหตุการณ์ครั้งนั้น

เหตุการณ์ที่ล่วงเลย มานานกว่า 40 ปี  การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฏรบ้านคุ้งโตนด อำเภอกุยบุรี  ไม่เพียงทำให้หมู่บ้านที่ยากจน  ล้าหลัง  ไม่มีแม้ถนนที่จะติดต่อกับโลกภายนอก ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น  หากแต่การเสด็จพระราชดำเนินในครานั้นได้ทำให้หญิงคนหนึ่งมีชีวิตยืนยาวต่อมาจนถึงวันนี้

เรา  :  สมัยยังสาว  ยายเคยไปรับเสด็จในหลวงใช่ไหม ?

ยาย  : ใช่  ตอนนั้นไปรับเสด็จที่ตีนถ้ำไทร  ในหมู่บ้านเรานี่แหละ  ท่านเสด็จมาทางเหนือ  ไอ้เราป่วยเป็นไส้ติ่ง  ปวดท้องมาครึ่งเดือนแล้ว  แต่ไม่รู้หรอกนะ ตอนนั้นว่าเป็นไส้ติ่ง  ปวดท้องนอนซม  คนในบ้านบอกในหลวงจะมา  เราก็อยากเห็น  อยากไปรับเสด็จ  แต่ปวดท้องจนเดินไม่ไหว

เรา  :  เดินไม่ไหว แล้วไปยังไง ?
 
ยาย  :  ก็ให้คนหามไป  ใส่เกวียนไปเลย

เรา  :  ทำไมถึงเลือกไปเฝ้าในหลวง  ไม่ไปหาหมอล่ะ

ยาย  :  ไม่รู้สิ  คืออยากเห็นตัวจริง ๆ ใกล้ ๆ นะ  คิดในใจว่ายอมตายได้  แต่ขอไปรับเสด็จก่อน แลกตัว  แลกชีวิตกันเลย  พูดง่าย ๆ ว่าวัดดวงเอาเลย  อีกอย่างตอนนั้นถ้าเราไปหาหมอก็ลำบาก เพราะน้ำแห้ง  เรือเครื่องก็ไม่มี  ถ้าไปก็คงไปไม่ถึง  มันคงจะตายก่อน

เรา  :  แล้วตอนนั้นได้ถวายอะไรท่านบ้างไหม ?

ยาย  :  ยกมือพนมยังจะไม่ไหวเลย  จะให้ถวายอะไรอีก ( หัวเราะเสียงดัง )
 
เรา  :  แล้วได้เห็นท่านไหม ?

ยาย  :  ก็ได้เห็นท่านอยู่  แต่ก็เห็นห่าง ๆ  แล้วก็เห็นไม่นานเพราะว่าพระองค์ท่านต้องเสด็จฯ ไปที่ตีนเขาอีกลูกคน  ละฟาก  ทรงไปดูเรื่องที่จะระเบิดเขาทำทางเข้าออกหมู่บ้าน
 
เรา  :  ไส้ติ่งเรากำลังจะแตก  แล้วรอดมาได้อย่างไร  เกิดอะไรขึ้น ?

ยาย  :  ตอนนั้นไส้ติ่งกำลังจะแตก  เงินสักบาทก็ไม่มีติดตัว  พอดีว่าพระราชินีท่านทรงเยี่ยมเยียนราษฏรแล้วทอดพระเนตรเห็นเรานั่งหน้าซีด  พิงเพื่อน  คือไอ้ตอนนั้นมันไม่ไหวจริง ๆ   ท่านทอดพระเนตรเห็นก็คงสังเกตได้ว่าอาการเราไม่ดี  พระองค์ก็ถามว่ายายเป็นอะไร ?  ท่านบอกให้พูดธรรมดาก็ได้  เราบอกว่าเจ็บท้องมาก  พระองค์ท่านตรัสถามต่อว่าเจ็บมากี่วันแล้ว ?  เราก็บอกว่ารู้สึกเจ็บมาครึ่งเดือนเห็นจะได้   ท่านก็เลยบอกให้หมอที่มาด้วยตรวจดู

เรา  :  แล้วหมอว่ายังไง ?

ยาย  :  หมอบอกว่าไส้ติ่งกำลังจะแตก  พอหมอบอกอยางนั้น  พระองค์ท่านก็ทรงติดต่อไปที่ ในหลวงซึ่งทรงอยู่ที่ตีนเขาอีกลูก

เรา  :  รู้ได้ยังไงว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงติดต่อไปที่ในหลวง ?

ยาย  :  รู้สิ  เพราะเห็นในหลวงท่านทรงวิ่งจากตีนเขาลูกโน้นมาเลย   ห่างกันถึง 1 กิโล ( แค่นี้ก็ตื้นตันแทนคุณยายแล้ว ค่ะ)

เรา  :  รู้สึกอย่างไรบ้างในตอนนั้น ?

ยาย :  ดีใจแล้วก็ปลื้มใจแบบมาก ๆ  ไอ้ตอนแรกคิดว่ากำลังจะตายนี่  คิดว่าตัวเองรอดแน่  มันมีกำลังใจ  คิดว่าขนาดพระเจ้าแผ่นดินยังเอาใจใส่เราขนาดนี้  เราจะตายไม่ได้่

เรา  :  พอในหลวงเสด็จมาถึง  ท่าน ทรงตรัสว่าอย่างไรหรือไม่ ?

ยาย  :  ท่านให้เอา ฮ. มารับ  ท่านตรัสว่า  เดี๋ยวเราจะกลับทางเรือเอง  ให้เอาคนไข้ไปส่งก่อน  พอพระองค์ท่าน  ตรัสสั่ง  หมอสองคนก็หิ้วปีกเราไป  ในหลวงท่านทรงเมตตาเราไปจนถึงเครื่อง พอเราขึ้นไป  ก่อนที่ประตู ฮ. จะปิด  เราก็มองลงมาเห็นในหลวงท่านทรงโบกพระหัตถ์  เราซาบซึ้งมาก  ยิ่งบอกตัวของเราเลยว่าเราจะ ตายไม่ได้็นะ

เรา  :  ถ้าไม่มีในหลวงในวันนั้น  ก็ต้องตาย แน่ ?

ยาย  :  แน่นอน  ไม่ต้องอะไรหรอก  หมอบอกว่ามาช้ากว่านี้แค่ 2-3 นาที  ก็ไม่รอดแล้ว  แล้ววันนั้นอย่างที่บอกว่า  เรือเครื่องก็ไม่มี  น้ำก็แห้ง  ไม่รู้ใช้เวลาครึ่งวันจะเดินทางไปถึงโรงพยาบาลหรือเปล่า  ถ้าในหลวงไม่เสด็จมาที่นี่  วันนั้นก็ตายแน่  ตาย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นอะไรตาย

เรา  :  เหมือนกับได้ชีวิตใหม่้ ?

ยาย  :  ใช่ั  ชีวิตทุกวันนี้ถึงฉันแก่แล้ว  แต่เมื่อนึกถึงวันนั้นทีไร  รู้สึกเหมือนได้เกิดใหม่ทุกที  ตอนนั่งดูโทรทัศน์้  เวลาเห็นท่านเราก็จะพนมมือไหว้ตลอด   รู้สึกว่าท่านได้มอบชีวิตใหม่ให้กับเรา

เรา  :  ตอนนั้นอยู่บน ฮ. เป็นอย่างไรบ้าง ?

ยาย  :  จำไม่ค่อยได้็  รู้แต่ว่าพอบินขึ้นไปพักใหญ่   หมอก็ถามว่าเป็นยังไงบ้าง  เราพูดไม่ค่อยไหว แต่ก็บอกไปว่า  ปวดท้อง  บน ฮ. นอกจากเรา  ก็มีหมอ อีก 2 คน  แล้วก็คนขับอีก 2 คน จำได้แค่นี้ล่ะ

เรา  :  ฮ. พาไปที่โรงพยาบาลไหน ?

ยาย  :  โรงพยาบาลพระมงกุฏฯ เพชรบุรี

เรา  :  แล้วพักอยู่กี่วัน ?
 
ยาย  :  ปกติคนเป็นไส้ติ่งทั่วไปเขาพักกัน 3-4 วันก็ออกได้  แล้วแต่เราเป็นหนัก  ต้องพักถึง 24 วัน   ถ้าในหลวงไม่ช่วยก็ตายแน่  แล้วถ้าเราตาย  ลูกเต้าก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง  ในหลวงท่านทรงเมตตา ทรงดูแลเราอย่างดี  ห้องที่เราพักอยู่นี่ดีมาก  เป็นห้องพิเศษเลย พูดตรง ๆ ว่า   ดีกว่าบ้านที่ฉันอยู่อีก  หมอก็นิสัยดี  พูดจากับเราเพราะแล้วก็ใจดี ** ในหลวงท่านทรงห่วงใยเรามาก  มีคนมาเยี่ยม ถามอาการ  ถามสารทุกข์สุขดิบทุกวัน  คนใกล้ชิดพระองค์ท่านก็ถามเรานะว่า  จะฝากอะไรถึง ท่าน ไหม  เราบอกให้พระองค์ทรงพระเจริญ  ทรงพระเจริญ  พูดได้แค่นั้น  มันตื้นตันจนนึกไม่ออก **

เรา  :  หลังจากวันนั้นแล้วเป็นอย่างไร ?

ยาย  :  ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านอีกเลย   ถ้าเรามีโอกาส  จะขอเข้าไปกราบแทบพระบาทเลย  สิ่งที่พระองค์ท่านทรงช่วยเหลือเราไว้  เป็นความซาบซึ้งที่สุดในชีวิตแล้ว  คิดดูสิโลกนี้จะหากษัตริย์อย่างท่านได้ที่ไหน  เราเป็นแค่ชาวบ้านจน ๆ คนนึง  แต่ท่านห่วงเราเหมือนเราเป็นลูกพระองค์ท่าน  ทรงห่วงเราเหมือนที่เราห่วงลูก  ท่านทรงเสียสละแม้กระทั่งของส่วนพระองค์  ทรงยอมลำบากกลับทางเรือเพื่อคนอย่างเรา  พูดตรง ๆี ว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ฉัน  ตายแล้วเกิดใหม่อีกสิบชาติก็ทดแทนไม่หมด
 
เรา  :  กลับมาบ้านแล้ว เป็นอย่างไร ?

ยาย  :  ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลใหม่ ๆ พระองค์ท่านก็ส่งเงินมาให้อยู่ถึง 1 ปี  ครั้งละ 3-5 พันบาท  ส่งมาหลายครั้งอยู่  เรารู้เพระว่าใส่ซองสีขาว  ประทับตราสำนักพระราชวัง  จากเหตุการณ์นั้นทำให้เรารักในหลวงของเรามาก  แล้วทุกวันนี้ก็ยังน้อยใจตัวเองอยู่ว่า  เวลาที่ท่านป่วย  เราก็ไม่มีเงินไปเฝ้า  ไปแสดงความจงรักภักดีกับท่าน  ได้แต่ร้องไห้อยู่กับบ้าน  นั่งร้องไห้ทุกวัน  ดูข่าวทุกวันไม่เคยเว้นเลย **  ฉันอายตัวเองว่า  ในขณะที่ท่านให้ชีวิตใหม่กับเรา  แต่เราช่วยอะไรท่านไม่ได้เลย **

เรา   :  การเสียสละของในหลวงคราวนั้น  ได้เอามาปฏิบัติตามหรือไม่ ?

ยาย  :  มีส่วนมากเลย  เวลาคนในหมู่บ้านเขาป่วยเป็นอะไร  ฉันก็ไปเยี่ยมเขาทั่ว  ไปไหนไปกัน  มีใครเจ็บในหมู่บ้านนี่  ฉันจะไปเยี่ยมหมด  บางทีถึงไม่ใช่หมอ  ไม่ใช่ญาติเขาา  แต่เราก็ไป  ไปนั่งพูดคุยให้กำลังใจ  บางทีก็ไปบีบให้นวดให้  นี่คือสิ่งที่ในหลวงให้เรา  และเราให้คนอื่นตอบ ** เมืองไทยเราโชคดีที่มีในหลวง  โชคดี มาก ๆื่  ไม่มีกษัตริย์ที่ไหนในโลกอีกแล้วที่จะเป็นห่วงชาวบ้านอยjางฉันเท่ากับท่าน   คนอยางเรา  เปรียบไปก็เหมือนมดปลวก  แต่ท่านก็ยังใส่ใจ  ท่านใส่ใจจริง ๆ  เหมือนกับว่าคนไทย คือ ลูกของท่านทั้งแผ่น ดิน **
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 ธันวาคม 2550, 16:13:40 »

Billboard in USA ( by Chicago )

นุชน้อย - อักษร 16 ... ส่งมา



บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 ธันวาคม 2550, 16:16:26 »

ผมเจอ " พระเทพ ฯ " บนรถไฟฟ้าใต้ดิน ( เรื่องไม่น่าเชื่อ แต่จริง )

หนู-สุชาดา แก้วผลึก - เศษฐศาสตร์ 16 ... ส่งมา

เมื่อไม่นานมานี้เองครับ มีโอกาสไปกรุงเทพ ฯ ไปทำธุระแถวหัวลำโพง นั่งรถไฟฟ้าใต้ดินไป ในขณะที่ประตูสถานีสุทธิสารเปิด ก็มีหญิงคนหนึ่งสวมแว่น ใส่หมวกแก๊ป ท่าทางคล่องแคล่ว เดินเข้ามายืนตรงหน้าผม ผมก็ลุกให้ เพราะติดนิสัยจากเด็กต่างจังหวัด ประกอบกับนั่งใกล้สุด

หญิงคนนั้นนั่งลง แล้วถามว่า " ช่วยถือของให้มั้ยคะ "

พอดีผมบ้าหอบฟางอยู่ กระเป๋า 2-3 ใบ เลยยื่นกระเป๋ากล้อง+เลนซ์ไปให้ แต่มีชายคนนึงชิงไปถือก่อน ผมก็หันไปมอง เขาก็ยิ้มๆ ขำๆ ผมก็งงๆ เข้าใจว่าเป็นน้องชาย หรืออะไรประมาณนั้น พอหันหน้ากลับมาดูที่ผู้หญิง ... โอ ! เข่าอ่อนเลย เพราะเพ่งมองกี่ครั้งก็ใช่สมเด็จพระเทพ ฯ

พระองค์กำลังเอานิ้วชี้มาจรดที่ปาก พร้อมทำเสียง " จุ๊ ๆ ทำเฉยๆ ไว้ อย่ากระโตกกระตาก "

ผมก็เลยเข่าอ่อน หัวใจตกลงไปตาตุ่ม ดีที่พี่ผู้ชาย ( เข้าใจว่าเป็นทหารรักษาพระองค์ ) สะกิดกับรั้งตัวผมไว้ทัน ก่อนที่ผมจะลงไปกราบ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ ก็เข้าใจเอาเองว่า พระองค์ท่านคงอยากมีความส่วนพระองค์ ถ้าผมถ่ายคนนึง อีกทั้งขบวนต้องมาถ่ายด้วยแน่

นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ล้นกระหม่อมของผมทีเดียว ที่ได้เฝ้าพระองค์ท่านใกล้ชิดขนาดนี้ เรื่องดีๆ ... นำมาเล่าสู่กันฟังครับ


ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

จาก pantipห้องไกลบ้าน ครับ
http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H6125515/H6125515.html> http://www.pantip.com/cafe/klaibann/topic/H6125515/H6125515.html
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 03 มกราคม 2551, 15:02:40 »

เรื่องของ ในหลวง ที่เรา ( อาจ ) ไม่เคยรู้

แต๋ม-อาริสา - ครุ 16 ... ส่งมา

อ่านบทความ ที่เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับในหลวง ตั้งแต่เมื่อทรงพระเยาว์ พระอัจฉริยภาพของในหลวง งานของในหลวง ของทรงโปรด และเรื่องส่วนพระองค์ … ที่คุณอาจไม่เคยรู้ ได้ที่นี่ค่ะ



เมื่อทรงพระเยาว์

1. ทรงพระราชสมภพเวลา 08.45 น.

2. นายแพทย์ผู้ทำคลอดชื่อ ดับลิว สจ๊วต วิตมอร์ ทรงมีน้ำหนักแรกประสูติ 6 ปอนด์

3. พระนาม " ภูมิพล " ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

4. พระยศเมื่อแรกประสูติ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ภูมิพลอดุลยเดช

5. ทรงมีชื่อเล่น ว่า เล็ก หรือ พระองค์เล็ก

6. ทรงเคยเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมาแตร์เดอี เพราะช่วงพระชนมายุ 5 พรรษา ทรงเคยเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ 1 ปี มีพระนามในใบลงทะเบียนว่า " H.M. Bhummibol Mahidol " หมายเลขประจำตัว 449

7. ทรงเรียกสมเด็จพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า อย่างธรรมดาว่า " แม่ "

8. สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้ค่าขนม อาทิตย์ละครั้ง

9. แม้จะได้เงินค่าขนมทุกอาทิตย์ แต่ยังทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม

10. สมัยพระเยาว์ทรงเลี้ยงสัตว์หลายชนิดทั้งสุนัข กระต่าย ไก่ นกขุนทอง ลิง แม้แต่งูก็เคยเลี้ยง ครั้งหนึ่งงูตายไปก็มีพิธีฝังศพอย่างใหญ่โต

11. สุนัขตัวแรกที่ทรงเลี้ยงสมัยทรงพระเยาว์เป็นสุนัขไทย ทรงตั้งชื่อให้ว่า " บ๊อบบี้ "

12. ทรงฉลองพระเนตร ( แว่นสายตา ) ตั้งแต่พระชันษายังไม่เต็ม 10 ขวบ เพราะครูประจำชั้นสังเกตเห็นว่าเวลาจะทรงจดอะไรจากกระดานดำ พระองค์ต้องลุกขึ้นบ่อยๆ

13. สมัยพระเยาว์ทรงซนบ้าง หากสมเด็จย่าจะลงโทษ จะเจรจากันก่อนว่า โทษนี้ควรตีกี่ที ในหลวงจะทรงต่อรองว่า 3 ที มากเกินไป 2 ทีพอแล้ว

14. ระหว่างประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น ระหว่างพี่น้องจะทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส แต่จะใช้ภาษาไทยกับสมเด็จย่าเสมอ

15. ทรงได้รับการอบรมให้รู้จัก " การให้ " โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า " กระป๋องคนจน " เอาไว้ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก " เก็บภาษี " หยอดใส่กระปุกนี้ 10% ทุกสิ้นเดือนสมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อถามว่าจะเอาเงินในกระป๋องนี้ไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

16. ครั้งหนึ่ง ในหลวงกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้รถจักรยาน เพราะเพื่อนคนอื่นๆ เขามีจักรยานกัน สมเด็จย่าก็ตอบว่า " ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บค่าขนมไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญ ได้มาก ค่อยเอาไปซื้อจักรยาน "

17. กล้องถ่ายรูปกล้องแรกของในหลวง คือ Coconet Midget ทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนม์เพียง 8 พรรษา

18. ช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงปั่นจักรยานไปโรงเรียนแทนรถพระที่นั่ง


พระอัจฉริยภาพ

19. พระอัจฉริยภาพของในหลวง มีพื้นฐานมาจาก " การเล่น " สมัยทรงพระเยาว์ เพราะหากอยากได้ของเล่นอะไร ต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเอง หรือ ประดิษฐ์เอง ทรงเคยหุ้นค่าขนมกับพระเชษฐา ซื้อชิ้นส่วนวิทยุทีละชิ้นๆ แล้วเอามาประกอบเองเป็นวิทยุ แล้วแบ่งกันฟัง

20. สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่และภูมิประเทศของไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์

21. ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น เปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน แต่รู้หรือไม่ว่า เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ทรงหัดเล่นคือ หีบเพลง ( แอ๊กคอร์เดียน )

22. ทรงสนพระทัยดนตรีอย่างจริงจังราวพระชนม์ 14-15 พรรษา ทรงซื้อแซกโซโฟนมือสองราคา 300 ฟรังก์มาหัดเล่น โดยใช้เงินสะสมส่วนพระองค์ครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งสมเด็จย่าออกให้

23. ครูสอนดนตรีให้ในหลวง ชื่อ เวย์เบรชท์ เป็นชาว อัลซาส

24. ทรงพระราชนิพนธ์พลงครั้งแรก เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา เพลงพระราชนิพนธ์แรกคือ " แสงเทียน " จนถึงปัจจุบันพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งหมด 48 เพลง

25. ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง บางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อย่างครั้งหนึ่งทรงเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายตีเส้น 5 เส้นแล้วเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง " เราสู้ "

26. รู้ไหม ...? ทรงมีพระอุปนิสัยสนใจการถ่ายภาพเหมือนใคร : เหมือนสมเด็จย่า และ รัชกาลที่ 5

27. นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉาย แล้วนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอ และโรคเรื้อนด้วย

28. ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง " นายอินทร์ " และ " ติโต " ทรงเขียนด้วยลายพระหัตถ์ แล้วให้เสมียนพิมพ์ แต่ " พระมหาชนก " ทรงพิมพ์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์

29. ทรงเล่นกีฬาได้หลายชนิด แต่กีฬาที่ทรงโปรดเป็นพิเศษได้แก่ แบดมินตัน สกี และ เรือใบ ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในกีฬาแหลมทอง ( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น " กีฬาซีเกมส์ " ) ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2510

30. ครั้งหนึ่ง ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ ว่า เสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวส์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แสดงให้เห็นว่าทรงยึดกติกามากแค่ไหน

31. ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับสิทธิบัตรผลงานประดิษฐ ์คิดค้นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่มลอย หรือ " กังหันชัยพัฒนา " เมื่อปี 2536

33. ทรงเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาเชื้อเพลิงน้ำมันจากวัสดุการเกษตรเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น แก๊สโซฮอล์, ดีโซฮอลล์ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

34. องค์การสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่ในหลวงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย โดยมี นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง


เรื่องส่วนพระองค์

35. พระนามเต็มของในหลวง : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรา มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

36. รักแรกพบ ของในหลวงและหม่อมสิริกิติ์เกิดขึ้นที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯทรงให้สัมภาษณ์ว่า " น่าจะเป็น เกลียดแรกพบ มากกว่ารักแรกพบ " เนื่องเพราะรับสั่งว่าจะเสด็จถึงเวลาบ่าย 4 โมง แต่จริงๆแล้วเสด็จมาถึงหนึ่งทุ่ม ช้ากว่าเวลานัดหมายตั้งสามชั่วโมง

37. ทรงหมั้นกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 โดยทรงจดทะเบียนสมรสเหมือนคนทั่วไป ข้อความในสมุดทะเบียนก็เหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท

37. หลังอภิเษกสมรส ทรง " ฮันนีมูน " ที่หัวหิน

38. ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา 15 วัน

39. ระหว่างทรงผนวช พระอุปัชฌาย์และพระพี่เลี้ยง คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

40. ของใช้ส่วนพระองค์นั้นไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องแบรนด์เนม ดังนั้นการถวายของให้ในหลวงจึงไม่จำเป็นจะต้องเป็นของแพง อะไรที่มาจากน้ำใจจะทรงใช้ทั้งนั้น

41. เครื่องประดับ : ในหลวงไม่ทรงโปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้น นาฬิกา

42. พระเกศาที่ทรงตัดแล้ว : ส่วนหนึ่งเก็บไว้ที่ธงชัยเฉลิมพลเพื่อมอบแก่ทหาร อีกส่วนหนึ่งเก็บไว้สร้างวัตถุมงคล เพื่อมอบแก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ

43. หลอดยาสีพระทนต์ ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอด ยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด ซึ่งเป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีด และ กดเป็นรอยบุ๋ม

44. วันที่ในหลวงเสียใจที่สุด คือวันที่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต มีหนังสือเล่าไว้ว่า วันนั้นในหลวงไปเฝ้า แม่ถึงตีสี่ตีห้า พอแม่หลับจึงเสด็จฯกลับ เมื่อถึงวัง ทางโรงพยาบาลก็โทรศัพท์มาแจ้งว่า สมเด็จย่าสิ้นพระชนม์แล้ว ในหลวงรีบกลับไปที่โรงพยาบาล เห็นแม่นอนหลับตาอยุ่บนเตียง ในหลวงคุกเข่าเข้าไปกราบที่อกแม่ ซบหน้านิ่งอยู่นาน ค่อยๆเงยพระพักตร์ขึ้นมาน้ำพระเนตรไหลนอง


งานของในหลวง

45. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนถึงปัจจุบนมีจำนวนกว่า 3,000 โครงการ

46. ทุกครั้งที่เสด็จฯไปยังสถานต่างๆจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ 3 สิ่ง คือ แผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง ( ตัดต่อเอง ปะกาวเอง ) กล้องถ่ายรูป และดินสอที่มียางลบ

47.ในหลวงทรงงานด้วยพระองค์เองทุกอย่างแม้กระทั่งการโรเนียวกระดาษที่จะนำมาให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าฯถวายงาน

48. เก็บร่ม : ครั้งหนึ่งเมื่อในหลวงเสด็จฯเยี่ยมโครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเปียกฝนกันทุกคน เมื่อทรงเห็นดังนั้น จึงมีรับสั่งให้องครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงเยี่ยมข้าราชการและราษฎรทั้งกลางสายฝน

49. ทรงศึกษาลักษณะอากาศทุกวัน โดยใช้ข้อมูลที่กรมอุตุนิยมวิทยานำขึ้นทูลเกล้าฯ ร่วมกับข้อมูลจากต่างประเทศที่หามาเอง เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจก่อความเสียหายแก่ประชาชน

50. โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มต้นขึ้นจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 32,866.73บาท ซึ่งได้จากการขายหนังสือดนตรีที่พระเจนดุริยางค์ จากการขายนมวัวก็ค่อยๆ เติบโตเป็นโครงการพัฒนามาจนเป็นอย่างที่เราเห้นกันทุกวันนี้

51. เวลามีพระราชอาคันตุกะเสด็จมาเยี่ยมชมโครงการฯสวนจิตรลดา ในหลวงจะเสด็จฯลงมาอธิบายด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงรู้ทุกรายละเอียด

52. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงตอบว่า " ความจริงมันน่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ "

53. ทรงนึกถึงแต่ประชาชน แม้กระทั่งวันที่พระองค์ทรงกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลังในอีก 5 ชั่วโมง ( 20 กรกฎาคม 2549 ) ยังทรงรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์ไว้ เพราะกำลังมีพายุเข้าประเทศ พระองค์จะได้มอนิเตอร์ เผื่อน้ำท่วมจะได้ช่วยเหลือทัน


ของทรงโปรด

54. อาหารทรงโปรด : โปรดผัดผักทุกชนิด เช่น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา

55. ผักที่ไม่โปรด : ผักชี ต้นหอม และตังฉ่าย

56. ทรงเสวย ข้าวกล้อง เป็นพระกระยาหารหลัก

57. ไม่เสวยปลานิล เพราะทรงเป็นผู้เลี้ยงปลานิลคนแรกในประเทศไทย โดยใช้สระว่ายน้ำในพระตำหนักสวนจิตรลดาเป็นบ่อเลี้ยง แล้วแจกจ่ายพันธุ์ไปให้กรมประมง

58. เครื่องดื่มทรงโปรด : โปรดโอวัลตินเป็นพิเศษ เคยเสวยวันหนึ่งหลายครั้ง

59. ทีวีช่องโปรด ทรงโปรดข่าวช่องฝรั่งเศส ของยูบีซี เพื่อทรงรับฟังข่าวสารจากทั่วโลก

60. ทรงฟัง จส.100 และเคยโทรศัพท์ไปรายงานสถานการณ์ต่างๆ ใน กทม.ไปที่ จส.100ด้วย โดยใช้พระนามแฝง

61. หนังสือที่ในหลวงอ่าน : ตอนเช้าตื่นบรรทม ในหลวงจะเปิดดูหนังสือพิมพ์รายวันทั้งไทยและเทศ ทุกฉบับ และก่อนเข้านอนจะทรงอ่านนิตยสารไทม์ส นิวสวีก เอเชียวีก ฯลฯ ที่มีข่าวทั่วทุกมุมโลก

62. ร้านตัดเสื้อของในหลวง คือ ร้านยูไลย เจ้าของชื่อ ยูไลย ลาภประเสริฐ ถวายงานตัดเสื้อในหลวงมาตั้งแต่ปี 2501 เมื่อนายยูไลยเสียชีวิต ก็มี ลูกชาย นายสมภพ ลาภประเสริฐ มาถวายงานต่อ จนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปีแล้ว

63. ห้องทรงงานของในหลวง อยู่ใกล้ห้องบรรทม บนชั้น 8 ของตำหนักจิตรลดาฯเป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3x4 เมตร ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ

64. สุนัขทรงเลี้ยง นอกจากคุณทองแดง สุวรรณชาด สุนัขประจำรัชกาล ที่ปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล แล้ว ยังมีสุนัขทรงเลี้ยงอีก 33 ตัว


รู้หรือไม่ ?

65. ในหลวง เกิดจากคำที่ชาวเหนือใช้เรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า " นายหลวง " ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็น ในหลวง

66. ทรงเชี่ยวชาญถึง 6 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน และ สเปน

67. อาชีพของในหลวง เมื่อผู้แทนพระองค์ไปติดต่อเอกสารสำคัญใดๆทรงโปรดให้กรอกในช่อง อาชีพ ของพระองค์ว่า " ทำราชการ "

68. ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวา เป็นผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา ตอนนั้นมีอายุเพียง 20 พรรษา และทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียว ในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนชาวไทยมาตลอดกว่า 60 ปี

69. ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวลือเกี่ยวกับในหลวงว่า แซกโซโฟนที่ทรงอยู่เป็นประจำนั้นเป็นแซกโซโฟนที่ทำด้วยทองคำเนื้อแท้บริสุทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำรัสว่า " อันนี้ไม่จริงเลย สมมติว่าจริงก็จะหนักมาก ยกไม่ไหวหรอก "

70. ปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอแค่ 12 แท่ง ใช้เดือนละแท่ง จนกระทั่งกุด

71. หัวใจทรงเต้นไม่ปรกติ ในหลวงเคยประชวรหนักจนหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากติดเชื้อไมโครพลาสม่า ขณะขึ้นเยี่ยมราษฎรที่อำเภอสะเมิงติดต่อกันหลายปี

72. รู้หรือไม่ว่า ในหลวงเป็นคนประดิษฐ์รูปแบบฟอนต์ภาษาในคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้อย่าง ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์

73. ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีประชาชนเข้าชมรวม 6 ล้านคน

74. ในหลวงเริ่มพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 จน 29 ปีต่อมาจึงมีผู้คำนวณว่าเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับครั้งละ 3 ชม. ทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทาน 470,000 ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ 3 ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมด 141 ตัน

75. ดอกไม้ประจำพระองค์ คือ ดอกดาวเรือง

76. สีประจำพระองค์คือ สีเหลือง

77. นั่งรถหารสอง : ทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันเป็นการสิ้นเปลือง จึงให้นั่งรวมกัน ไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด


ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระเกษมสำราญ มีพระพลานมัยแข็งแรงสมบูรณ์ มีพระชนม์ยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ตลอดกาลนานเทอญ. ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ...
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 14 มกราคม 2551, 14:06:17 »

ส.ค.ส. ปีใหม่ 2551 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแด่ปวงชนชาวไทย

บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 09 มีนาคม 2551, 22:22:30 »

เรื่องน่ารักๆ ของเจ้าหญิง แห่งประเทศไทย

เอ๊ะ-ลัลลนา - ครุ 16 ... ส่งมา

เพื่อนผมเคยเล่าให้ฟังว่า สักประมาณ 20 ปี ที่แล้ว ขณะที่เขากำลังเดินดูหนังสือในร้านหนังสือดวงกมล สยามแสควร์ ก็มี นิสิตหญิงจุฬาสองสามคนเดินเข้ามาในร้าน นิสิตคนหนึ่งใบหน้าสวยคม จัดว่าสวย น่ารัก แต่ใบหน้าดูคุ้นเหลือเกิน ทันใดเขาก็เห็นคน เริ่มไหว้บ้าง ค้อมศรีษะบ้าง ให้แก่นิสิตคนนั้น แต่ก็มีเสียงเอ่ยขึ้นมาอย่างเกรงใจจากนิสิตคนนั้นว่า
" ไม่เป็นไรค่ะ ขอบคุณค่ะ วันนี้เป็นนิสิต มาหาซื้อหนังสือ เชิญทุกท่านตามสบายค่ะ " ทุกคำที่เอ่ยจะมีคำว่า " ค่ะ " ตลอด แล้วก็หันไปยิ้มแบบเขิน ๆ กับเพื่อนทีมาด้วยกริยาช่างงามน่ารักเหลือเกิน เพื่อนผมย้ำ ทันใดนิสิตกลุ่มนั้น ก็หันไปเห็นผู้อาวุโสท่านหนึ่งกำลังเดินดูหนังสืออยู่ในร้านเหมือนกัน จึงเดินเข้าไปหาพร้อมยกมือไหว้ ผู้อาวุโสท่านนั้น และนิสิตท่านก็เป็น ผู้เอ่ยทักว่า
" สวัสดีค่ะ อาจารย์มาหาซื้อหนังสือเหรอคะ " ทันใดนั้นท่านอาวุโสก็สะดุ้งกำลังจะก้ม และย่อตัวลงในท่าทำความเคารพ แต่ความที่อยู่ในวัยชราจึงไม่ ค่อยถนัด พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า
" อ้าว องค์หญิง กระหม่อมมาหาซื้อหนังสือ พะยะค่ะ "


ในตอนนั้นเพื่อนผมก็จำได้ขึ้นมาว่านิสิตท่านนั้นก็คือ สมเด็จพระ เทพฯ นั่น เอง ในตอนนั้นพระเทพฯ ก็ทรงเข้ามาประคองอาจารย์ท่านนั้น พร้อมกับรับสั่ง
" ไม่เป็นไรค่ะอาจารย์ หนูกับเพื่อน มาหาซื้อหนังสือเหมือนกันค่ะ " เพื่อนผมบอกว่าตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขารัก และเทอดทูนเจ้าหญิงองค์น้อยเสมอมา ด้วยความที่ท่านไม่ทรงถือพระองค์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์


ผมเคยอ่านจากหนังสือ สกุลไทย ช่วงตอบปัญหาของใครจำไม่ได้แล้ว มีคนเขียนไปถามเจ้าของคอลัมน์ว่า จริงหรือเปล่า ทีพระองค์เคยเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ยังเมืองทองธานี เพื่อเสวยร้านอาหารโต้รุ่ง ก็มีคำตอบว่าจริง พระองค์เคยเสด็จอย่างส่วนพระองค์จริงๆ กับคุณข้าหลวงอีก 2 คน ไม่มี องครักษ์ติดตาม คือเสด็จยังร้านอาหารตามสั่งทั่วไป ริมถนน ตอนแรกยังไม่มีใครจำพระองค์ได้เลย แต่มี 2 สามีภรรยาคู่หนึ่งเห็นเข้า ฝ่ายสามีบอกว่า ไม่ใช่สมเด็จพระเทพฯ หรอก เพราะนี่คือร้านอาหารโต้รุ่ง แล้วก็ดึกมากแล้วด้วย แต่ฝ่ายภรรยาบอกว่าเหมือนมาก ก็โต้กันไป โต้กันมา จนพระองค์ทรงได้ยิน จึงหันพระพักตร์มา ทาง 2 สามีภรรยานี้ แล้วตรัสว่า " ใช่ แต่ขอให้ทำตัวตามสบาย " เท่านั้นแหละครับ 2 คนนี้ก็ก้มลงกราบจนคนอื่นๆแปลกใจ ก็หันมามองกันหมดทั้งร้าน เจ้าของร้านกับเด็กเสริฟก็เพิ่งทราบ จึงรีบเข้าไปถวายความเคารพ พวกพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นก็นำอาหารของร้านตนมาถวาย จนกระทั่งเสด็จกลับไป นี่แหละครับเจ้าหญิงในใจประชาชน พระองค์จริง

จำได้ว่าตอนที่พระองค์ท่านเสด็จในงาน concert กาชาด หลายปีแล้ว พระองค์ท่านทรงเป่า trumpet เพลงคู่กัด พอท่านทรงเป่าจบ คนดูก็ตบมือท่านก็ทรงรับสั่งว่า " แปลกจัง ทำไมไม่มีเสียงกรี๊ดเลย " คนดูก็เงียบกริบ ... คงตะลึงมั้ง ท่านก็รับสั่งย้ำอีกครั้งเท่านั้นแหล่ะ ... คนดูกรี๊ดถล่ม

ผมเคยเข้าไปเล่นคอนเสิร์ตหน้าพระที่นั่งศาลาดุสิตาลัย เมื่อสิบห้าปีก่อน พระเทพฯ ทรงประชวรหวัดเล็กน้อย แต่ก็ตรัสก่อนพวกผมเล่นกันว่า " วันนี้ไม่มีเสียงกรี๊ดนะ เป็นหวัด " พอตอนเล่น ผมเลยบังอาจถวายแซวพระองค์ ท่านว่า " ในฐานะรุ่นน้องจุฬาฯ ขอพระราชทานอนุญาต เอ่ยพระนามพระองค์ว่า พี่น้อย ก็แล้วกัน วันนี้ขอให้พี่น้อยหายหวัดเร็วๆ นะครับ " คนดูในศาลาดุสิตาลัยเงียบกริบ ผมก็ชักหนาวสันหลังว่าเหิมเกริมไปหรือเปล่า เพื่อนร่วมวงรีบชิงพูดต่อว่า มหาดเล็กครับ ช่วยยิงให้ถูกคนด้วย แล้วกัน คนเลยฮากันตึง รอดไป มีเพลงหนึ่ง ชื่อ เพลงกล้วยไข่ ผมก็แปลงเป็นว่า แปลกใจจริงพระเทพฯชอบอะไร พระเทพชอบกล้วย ไข่ เพราะว่าพระองค์ทรงโปรด ลัล ลัล ลัล ลา ตอนไปรับพระราชทานดอกไม้จากพระหัตถ์ ผมไป ยกมือไหว้ท่าน ท่านก็ตรัสย้อนผมว่า "ใ ครเค้าไหว้กัน เค้าโค้งจ้ะ " จากนั้น ท่านก็ตรัสว่า " ใครบอกฉันชอบกล้วยไข่ ฉันชอบ กล้วยน้ำว่า ย่ะ " ผมไม่เคยลืมสักภาพเดียวเลยครับ

ตอนเป็นนักเรียนแถวสามย่าน พระองค์ท่านเป็นนิสิตแล้ว เคยแอบไปเดิน " ส่อง " รถพระที่นั่งซึ่งจอดอยู่ หน้าหอประชุมจุฬา เห็นมีขนม ขบเคี้ยว สารพัดใส่โหลเอาไว้ 2-3 โหล ทุกวัน ตลอด 4 ปีที่ทรงศึกษา อยู่ผู้คนที่ต้องผ่านสัญจรแถวนั้นไม่เคยต้องเดือดร้อน กับการกั้นรถขบวนเป็นชั่วโมงๆ เพียงรถพระที่นั่ง 1 คันกับรถตำรวจนำอีก 1 ที่ไม่ เคยเปิด ไซเรน ไม่เคยเปิดโทรโข่ง ไม่เคยฝ่าไฟแดง เห็นพวกนักการเมือง มี ตำรวจนำ ตำรวจ ตาม วิ่งย้อนศร กั้นรถ ให้แซงลัดคิวแล้วนึกถึงสิ่งที่พระองค์ ปฏิบัติทุกครั้ง

LONG LIVE OUR BELOVED PRINCESS !
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 09 มีนาคม 2551, 23:31:22 »

พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว

โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คัดลอกจาก http://www.ybat.org/

พี่ชรินทร์ - รัฐ 07... ส่งมา

ด้วยพระเมตตาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทย พระองค์ประดุจพระผู้สร้างแผ่นดิน ทรงเป็นดั่งผู้มอบชีวิต มอบความรุ่งเรือง มอบความเจริญงอกงามภายในหัวใจคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นแรงบันดาลใจจุดประกายพลังแผ่นดิน

หากเราได้มีโอกาสศึกษาพระบรมราโชวาทแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดด้วยคำสอนที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ แต่ละข้อ แต่ละอย่างนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พระองค์ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้นอย่างถ่องแท้แล้ว ว่าจะเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหา การดับทุกข์ได้ด้วยสมาธิ

ธรรมดาสภาวะจิตอันเป็นสมาธินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการบังคับควบคุม เกิดขึ้นจากความผ่อนคลาย หรือเกิดขึ้นจากภาวะคับขันต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า จะทำให้ต้องเร่งรวบรวมสติให้มั่น ไม่ว่าสมาธิจะเกิดขึ้นอย่างไร สมาธิเป็นของดีเป็นของที่เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน เป็นของที่มีอยู่ในกาย และในจิตอันพร้อมเป็นของเข้าใจได้ เป็นของเข้าใจง่าย และใช้ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และความเข้าใจอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า สมาธิเองก็มิใช่ของที่เกิดขึ้นโดยลำพัง หรือใช้โดยลำพัง แต่สมาธิที่ดีจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มาก หากผู้ใช้สมาธิรู้จักการปฏิบัติอันถูกต้อง ถูกต้องทั้งแก่ตน แลถูกต้องทั้งแก่ผู้อื่น ดังที่ได้ศึกษาจากรอยพระจริยวัตรแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันได้แสดงไว้ถึงเรื่องราวของ " พระสมาธิ "

ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงาน หรือพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คงจะได้เห็นด้วยความพิศวงกันทุกคนว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อทรงนั่งลงแล้วจะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธี ไปจนกระทั่งจบ ไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย

นอกจากนั้นยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างกระฉับกระเฉง ต่อเนื่อง ไม่มีพระอาการที่แสดงว่าทรงเหนื่อย หรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวถึงประมาณ ๔ ชั่วโมง และมีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคน ได้เห็นเหตุการณ์เช่นว่านั้น แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งในศาลาดุสิตาลัยอีก

ในการประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่แสดงว่า เอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรี ( ที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย ) เป็นต้น ผมเคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรีตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลย แม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรง ในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน

ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่า ฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น

แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเป็นงานอีกชนิดหนึ่ง ที่จะต้องทำด้วยความจดจ่อ และต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จเหมือนกัน พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือด้วยการเอาพระราชหฤทัยจดจ่อ ไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้น สำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่

ผมไปรู้เอาหลังจากที่เข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำอยู่ได้ไม่นานว่า ที่ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจทุกชนิดได้เช่นนั้น ก็เพราะพระสมาธิ ผมไม่ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ( วัดพระแก้ว ) หลังจากทรงผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ทรงเลือกสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ( เมื่อครั้งยังเป็นพระโสภณคณาภรณ์ ) ให้เป็นพระอภิบาล ( พระพี่เลี้ยง ) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อย แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษา และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย

เมื่อผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ปรากฏว่าการศึกษา และปฏิบัติสมาธิ หรือกรรมฐานในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นประจำ และข้าราชสำนักข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่ายพลเรือน และทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ด้วยการฝึกสมาธิอย่างขะมักเขม้น

ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อน โดยเฉพาะจากหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟจากกรุงเทพมหานคร ไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่มเสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ประจำ ที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยร่วมกันสองนายใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้อานาปานสติ ( คือกำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้า และหายใจออก ) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมาย และเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิ และกลายเป็นอีกผู้หนึ่งที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำมาจนทุกวันนี้

เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่มปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกรุณาพระราชทานหนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัส แนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่าพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวนั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่า แม้จะทรงใช้อานาปานสติเป็นอุบายในการทำสมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ ( ลมหายใจเข้า ) และพระปัสสาสะ ( ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ วิธีนับของพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงทำดังนี้ หายใจเข้าครั้งที่หนึ่งนับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สองนับสอง หายใจเข้าครั้งที่สามนับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้านับห้า หายใจออกครั้งที่หนึ่งนับหนึ่ง หายใจออกครั้งที่สองนับสอง หายใจออกครั้งที่สามนับสาม หายใจออกครั้งที่สี่นับสี่ หายใจออกครั้งที่ห้านับห้า เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหาห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้น จนกว่าจิตจะสงบ รับสั่งว่าที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้า หนึ่งออกตลอดเวลา

พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิด้วยการรวบรวม และประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกคน แล้วก็ทรงพระกรุณาพระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติสมาธิอยู่ ครั้งหนึ่งทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่าเป็นบันทึกเสียงการ แสดงธรรมเรื่องฉฉักกสูตร ( คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษา และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ) และทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น

ผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นมาแล้ว ก็เอาไปใส่เครื่องบันทึกเสียง และเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ปิด แล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก หลังจากนั้นไม่นานนักได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯ แล้วหรือยัง เป็นอย่างไร ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็นเท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าฟังได้ไม่ทันจบม้วนก็ได้หยุดฟังเสียแล้ว ตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯ ท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯ เทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนใช่หรือไม่ว่า สมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่าให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่าคิดไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย ผมกลับมาทำตามพระราช กระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้งแต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ สมเด็จฯ หยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และไม่คิดๆ ไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร คราวนี้ผมฟังได้จนจบ และเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่ สุดม้วนหนึ่ง

ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และกราบบังคมทูลประสบการณ์ที่ได้ขณะทำสมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่าขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอยขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไร แต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่าเหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจ และต้องเลิกทำสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะ เลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น

อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่าพอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อนต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ครือตัวผม และที่ปลายท่อข้างล่าง ผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิ รับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว ( มีสติ ) อยู่ ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยังอยู่ และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน

ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสสอนให้ " ดำรงสติให้มั่น " ในเวลาทำสมาธิ ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบ และเกิดนิมิต ในนิมิตนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร ( แขนท่อนล่าง ) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ ( หนัง ) ลงไปจนถึงพระอัฐิ ( กระดูก )

พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้าน หรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอย และเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอัน เป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เป็นพระประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ ให้เป็นที่ร่มเย็นของเรา และของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาท ด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิกันอย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 09 มีนาคม 2551, 23:39:07 »

ทิพยอำนาจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โดย สิริอัญญา บทความข้างประชาราษฎร์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 พ.ค. 2545

พี่ชรินทร์ - รัฐ 07... ส่งมา

เนื่องในมหามงคลสมัยวันฉัตรมงคลที่จะเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม ศกนี้ นับเป็นมหามงคลสมัยที่ปวงชนชาวไทยจะได้ถวายความจงรักภักดี และได้ถวายพระพรต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้เป็นทั้งพระมหากษัตริย์อันประเสริฐ และประดุจดังพระเทพบิดรของปวงชนชาวไทย ในวาระเช่นนี้ คอลัมน์นี้จะแสดงเนื้อความอันเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบางมุมบางแง่ ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แต่เป็นความจริงซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อพสกนิกรทั้งหลายจะได้รู้ จะได้ทราบว่า พระประมุขของเรานั้นใช่ว่าจะเรืองพระบรมเดชานุภาพเฉพาะแต่ทางโลกก็หาไม่ แต่ในทางธรรมก็ทรงบรรลุภูมิธรรมอันสูงยิ่ง สมแล้วที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เป็นหลักชัยที่ค้ำชูทำนุบำรุงพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในพระราชอาณาจักร ตลอดระยะเวลาอันช้านาน

เมื่อแรกเริ่มครองราชย์ ก็ทรงประกาศเป็นพระปฐมบรมราชโองการอันยังก้องกังวานทั่วผืนฟ้าแผ่นดินสิ้นถึงทุกวันนี้ว่า " เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม " นับเป็นพระปฐมบรมราชโองการที่ครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ หมดจดงดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดพระราชกรณียกิจมากหลายกว่าครึ่งศตวรรษ ล้วนเป็นบทพิสูจน์อันปราศจากความสงสัยใดๆ ว่าทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงเคารพธรรม ทรงถือธรรมเป็นใหญ่ ทรงประพฤติปฏิบัติธรรม และธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ทรงละ ทรงวางความสุขสบายส่วนพระองค์เป็นระยะเวลาอันยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อประโยชน์และความสุขของพสกนิกร สมัยหนึ่งเมื่อครั้งที่พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมชยังมีชีวิตอยู่ ได้กล่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นทรงตรากตรำพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างหนักหนาสาหัส ถึงขนาดอาบพระเสโทต่างน้ำ

เพราะเหตุที่ทรงประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นแบบอย่าง เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ตลอดระยะเวลาอันยาวนานเช่นนี้ ได้เปิดหนทางอันกว้างใหญ่ให้ทรงค้น และพบพระเถรานุเถระที่ทรงภูมิธรรมขั้นสูง ได้ศึกษ และรับแนวทางปฏิบัติอันถูกต้อง ในการถึงซึ่งวิชชาในพระพุทธศาสนา กระแสพระราชดำรัสหลายครั้งหลายหนที่ทรงรับสั่งกับพระมหาเถระที่ทรงธรรม ทรงวินัย ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ภูมิธรรมในพระองค์นั้นได้บรรลุมรรคผลที่สูงมาก ทรงแจ่มแจ้งทั้งในทางปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ อย่างยากที่พุทธศาสนิกชนคนใดจะก้าวไปถึง

มีผู้กล่าวว่าภูมิธรรมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานั้น มิได้ย่อหย่อนไปกว่าพระเจ้าพิมพิสารในครั้งพุทธกาล และมิได้น้อยไปกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชในยุคหลังพุทธกาล 300 ปี นั้นเลย แต่คอลัมน์นี้กล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นั้นก็ไม่เคยแสดงทิพยอำนาจในพระองค์ให้ปรากฏเหมือนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยเรานี้เลยแม้แต่สักครั้งเดียว

เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเพื่อความรับรู้ในหมู่พสกนิกรซึ่งมีความจงรักภักดี เห็นสมควรนำกรณีอันมีผู้รู้เห็นยืนยัน และแสดงถึงภูมิธรรมอันสูงยิ่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแสดงดังนี้

* เรื่องที่หนึ่ง *

พลตรี อมรรัตน์ จินตกานนท์ อดีตนายทหารประสานงานของราชสำนัก ซึ่งได้ถึงแก่กรรมแล้วเคยเล่าว่า สมัยหนึ่งเมื่อครั้งยังปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ ได้รับพระราชกระแสให้ไปนิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีองค์สำคัญของภาคอีสาน เพื่อมาร่วมงานราชพิธีส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ท่านได้ติดต่อไปทางจังหวัด ประสานงานไปทางอำเภอ ตำบล และต้องให้คนขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่วัด แต่ปรากฏว่าพระมหาเถระรูปนั้นได้ออกธุดงค์ไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อได้ จึงนำความมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ทรงรับสั่งว่าให้ไปเรียนพระศาสนโสภณให้ช่วยนิมนต์ให้ พระศาสนโสภณที่ว่านี้ก็คือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ดังนั้นพลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์จึงนำความไปเรียนให้พระศาสนโสภณทราบ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ พระศาสนโสภณได้แจ้งว่าให้มาฟังผลในเวลา 16 นาฬิกา แล้วเดินขึ้นไปบนกุฏิชั้นบน พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ ได้รอคอยจนถึงเวลา 16 นาฬิกา ก็ได้รับคำบอกกล่าวจากพระศาสนโสภณว่าได้นิมนต์ตามพระราชประสงค์แล้ว ให้เอารถไปรับที่จุดนัดพบในเวลาที่นัดหมาย

พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ เดิมสำคัญว่าพระศาสนโสภณมีข่ายงานติดต่อพิเศษของคณะสงฆ์ แต่ก็รู้สึกแปลกใจ จึงสอบถามพระเลขานุการว่าการติดต่อได้ใช้วิธีใด ก็ได้รับคำบอกว่าเป็นการติดต่อทางโทรจิต ผู้ที่รู้ว่าผู้อื่นมีภูมิธรรมในระดับที่สามารถใช้ทิพยอำนาจได้เช่นนี้ ก็ย่อมมีภูมิธรรมที่ห่างกันไม่มากนัก เพราะคนธรรมดาไหนเลยจะล่วงรู้ได้

* เรื่องที่สอง *

ช่วง 3-4 ปี ก่อนที่ท่านเจ้าคุณพุทธทาสจะมรณภาพ หนังสือพิมพ์ต่างประเทศได้ลงข่าวว่าท่านเจ้าคุณป่วยหนัก รัฐบาลไทยไม่เหลียวแลเอาใจใส่ หนังสือพิมพ์ไทยได้นำความมาลงตีพิมพ์ เป็นเหตุให้คนไทยได้รับรู้ และความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณพุทธทาสป่วยหนักด้วยโรคน้ำท่วมปอด เส้นเลือดหัวใจตีบ มีอาการหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงร่วม 300 หากเป็นคนทั่วไปก็เห็นได้ว่าเข้าขั้นโคม่า มีความตายเป็นเบื้องหน้าเป็นแน่แท้

ในครั้งนั้นหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับลงข่าวตรงกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ ... ( ต้นฉบับได้ขาดหายไป เหลือข้อความเพียงเท่านี้ เจี๊ยบเสียดายมากค่ะ กำลังเข้าด้าย เข้าเข็มอยู่ซะด้วย ... ทำไงดีล่ะเนี่ย ? )
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 13 มิถุนายน 2551, 23:57:40 »

การแบ่งปัน mail ดี ๆ ให้แก่กัน ถือว่าเป็นการทำความดี

ม้า-ศรัญญา - เภสัช 16 ... ส่งมา

วันนี้ คุณส่งเมลล์ดี ๆ ให้กับคนรอบข้าง บ้างหรือยัง ?

ขอเชิญชวนเพื่อน ๆ ชาว E-mail ทุกท่าน ร่วมทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ




1. ความเพียร

การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันควรทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีควรต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ วันที่ 27 ตุลาคม 2516

2. ความพอดี

ในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 18 ธันวาคม 2540

3. ความรู้ตน

เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญ ให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน
พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี 2521

4. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้

คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521

5. อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ

ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 มิถุนายน 2496

6. พูดจริง ทำจริง

ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจ จัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540

7. หนังสือเป็นออมสิน

หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้ มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้
พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในโอกาสที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท วันที่ 25 พฤศจิกายน 2514

8. ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง
พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปี พุทธศักราช 2531

9. การเอาชนะใจตน

ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ
พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุม

สิ่งดี ๆ คงไม่เกิดขึ้น หากเราไม่ลงมือทำอะไรดี ๆ หรือเพียงรอรับแต่สิ่งดี ๆ จากผู้คนรอบข้าง ...

สังคมดีได้ เพราะคนไทยรู้รักสามัคคี
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 03 มกราคม 2552, 03:35:58 »

" ไข่พระอาทิตย์ " สูตรพระราชทานจากในหลวง

นุชน้อย - อักษร 16 ... ส่งมา

" ไข่พระอาทิตย์ " เป็นสูตรอาหารที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือ " สูตรอาหารต้นตำหรับข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ " โดยหนังสือเล่มนี้ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิของไทยให้เป็นที่รู้จักของทุกประเทศ

สำหรับที่มา และวิธีทำของสูตรอาหารพระราชทาน " ไข่พระอาทิตย์ " กรมการค้าต่างประเทศได้อัญเชิญลายพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีมาบันทึกไว้ในหนังสือ " สูตรอาหารต้นตำหรับข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ " ความว่า

" เมื่อข้าพเจ้ายังเด็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประกอบอาหารพระราชทานเรียกว่า ไข่พระอาทิตย์ "

วิธีทำ ไข่ฟองหนึ่ง


ตีให้ไข่ขาว และไข่แดงเข้ากันเหมือนเวลาจะตีไข่ทำไข่เจียว ( ไม่ตีมากเหมือนทำเค้ก )


ใส่ข้าวสุกประมาณทัพพีหนึ่ง เครื่องปรุงรสใส่แม็กกี้ ( ที่เมืองนอกสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ หาน้ำปลาได้ยาก แต่สมัยนี้เราชอบใส่น้ำปลามากกว่า )


ตั้งกระทะใส่น้ำมันเล็กน้อย ไม่ใส่มากเหมือนทำไข่เจียว


เทไข่ผสมข้าวลงไป จนสุกตรงขอบกรอบๆ ตรงกลางแฉะๆ สักนิดก็ได้

 
ใส่จาน

มีผู้ถามว่า ทำไมเรียกว่าไข่พระอาทิตย์ ข้าพเจ้าทูลถาม " ทรงเล่าว่า เมื่อส่องกล้องแล้ว พื้นผิวดวงอาทิตย์มีลายเหมือนเมล็ดข้าว ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Grain de riz "
บันทึกการเข้า
Jiab16
Global Moderator
Hero Cmadong Member
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 2,267

เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 03 มกราคม 2552, 13:50:03 »

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541

วณิชย์ - วิศวะ 16 ... ส่งมาจาก USA

พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541

ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาชุมนุมกันในโอกาสใกล้จะถึงปีใหม่ ไม่ใช่ปีใหม่ เป็นปีใหม่ของเรา คือปีใหม่ของผู้พูด เพราะว่าพรุ่งนี้เริ่มศักราชใหม่ เริ่มอายุใหม่ นายกฯ ได้กล่าวสรุปชีวิตตั้ง ๕๐ กว่าปี ที่ได้ทำงานทำการ และชมว่าได้ช่วยให้ประเทศชาติอยู่เย็นเป็นสุข มีความร่มเย็น วันนี้ท่านทั้งหลายมา ทั้งที่อยู่ข้างในข้างนอก มาเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประวัติการณ์. การที่ได้ทำความเจริญหรือความสุขแก่ประเทศชาติและประชาชนนั้น มิได้เป็นงานของผู้หนึ่งผู้ใดที่จะปฏิบัติได้ ต้องร่วมมือกัน ผู้ใดมีความรู้ทางใดก็ควรจะใช้ความรู้ความสามารถนั้นเพื่อสร้างความมั่นคง ถ้ามีหลายคนที่มีความรู้อย่างเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกัน บางคนมีความรู้เหมือนกันแต่ความเห็นต่างกัน ดังนี้ก็จะต้องปรึกษากันมากกว่าที่จะเถียงกัน คำว่าปรึกษากับคำว่าเถียงนี่ต่างกัน คำว่าเถียงใช้แต่อารมณ์ คำว่าปรึกษาใช้ปัญญา ถ้าสามารถที่จะใช้ปัญญาปรึกษากันจะได้คำตอบ เพราะว่าความจริงนั้นมีอันเดียว ความเท็จมีหลาย หรือทางที่ผิดมีมากมาย แต่ความจริงทางที่ดี ส่วนมาก เป็นทางเดียวที่จะสามารถนำพาสู่ความสำเร็จ

นายกฯ ได้กล่าวถึงกิจการต่างๆ เช่น เรื่องที่ได้กล่าวเมื่อปีที่แล้ว เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่มีในตำรา ไม่เคยมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง มีอย่างอื่นแต่ไม่ใช้คำนี้ ปีที่แล้วพูดว่า เศรษฐกิจพอเพียงเพราะหาคำอื่นไม่ได้ และได้พูดอย่างหนึ่งว่า เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ในคราวนั้น เมื่อปีที่แล้วนึกว่าเข้าใจกัน แต่เมื่อไม่นาน เดือนที่แล้ว มีผู้ที่ควรจะรู้ เพราะว่าได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนา มาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ

ต้องพูดเข้าในเรื่องเลย เพราะหนักใจว่าแม้แต่คนที่เป็นดอกเตอร์ก็ไม่เข้าใจ อาจจะพูดไม่ชัด แต่เมื่อกลับไปดูที่เขียนจากที่พูด ก็ชัดแล้วว่าควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำทั้งหมดก็จะทำไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่ง หรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่อื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์ กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้น ก็มีเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ปฏิบัติได้  แต่ต่อมาเมื่อออกจากถ้ำ ในสมัยต่อมา ที่สร้างบ้านเป็นที่อาศัย ก็เริ่มจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหลือประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีคนผ่านไปผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรู เอาอะไรๆ มาแลกเปลี่ยนกัน เช่นคนที่มาจากไกล ผ่านมามีหนังสัตว์ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ก็ซื้อด้วยการแลกเปลี่ยนด้วยอาหาร เช่นปลาที่จับได้ในบึง อย่างนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เวลาก้าวล่วงมาอีก มาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนที่อยู่ทั้งข้างนอกทั้งข้างในนี้ จะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คงทำไม่ได้ และถ้าสำรวจตัวเอง หรือเศรษฐกิจของตัวเอง ก็เข้าใจว่า จะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำ เข้าใจว่าทำได้ไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ เพราะว่าสิ่งที่ตนผลิตหรือทำ ส่วนใหญ่ก็เอาไปแลกกับของอื่นที่มีความจำเป็น ฉะนั้นจึงพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็ควรจะพอและทำได้ อันนี้เป็นข้อหนึ่ง ที่จะอธิบายคำพูดที่พูดมาเมื่อปีที่แล้ว คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อ เท่าไหร่ ๒๐ ๒๔ ปี เมื่อปี ๒๕๑๗ ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ นี้ ก็ ๒๔ ปี ใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้

ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency ( พึ่งตนเอง ) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง ( พึ่งตนเอง )

บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง ( ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง ) หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด “ อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ ” มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง

เคยพูดว่า ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าอยากจะไปนั่งบนเก้าอี้ของผู้ที่อยู่ข้างๆ เช่นนี้ไม่พอเพียง และทำไม่ได้ ถ้าอยากนั่งอย่างนั้นก็เดือดร้อนกันแน่ เพราะว่าอึดอัด จะทำให้ทะเลาะกัน เมื่อมีการทะเลาะกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นควรที่จะปฏิบัติสิ่งที่พอเพียง ทางความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทางกายเท่านั้น ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่ง และต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูก ก็ไม่สมควรทำ ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่การปฏิบัติแบบพอเพียง ความพอเพียงในความคิดก็คือ แสดงความคิดของตัว ความเห็นของตัว และปล่อยให้อีกคนพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง ถ้าไม่เข้าเรื่องก็แก้ไข เพราะว่าถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องกัน ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกัน จากการทะเลาะด้วยวาจาก็กลายเป็นการทะเลาะด้วยกาย ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่ความเสียหาย เสียหายแก่ผู้ที่เป็นตัวละครทั้งสองคน ถ้าเป็นหมู่ก็เลยเป็นการตีกันอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้คนอื่นอีกมากเดือดร้อน

ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะต้องอธิบายคำว่าพอเพียงที่คนไม่เข้าใจเมื่อปีที่แล้ว และไม่เข้าใจจนกระทั่งถึงประมาณ ๒-๓ อาทิตย์นี้ ที่แปลกที่สุด คนที่มาพูดก็นึกว่าเขาเข้าใจ เพราะว่าเป็นคนที่เคยได้คุยด้วยมาก และก็คุยในเรื่องพรรณอย่างนี้ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความหมายของคำต่างๆ แต่ก็ยังไม่วาย ฉะนั้นจึงต้องอธิบายอย่างกว้างขวางพอใช้ ไม่ทราบว่าวันนี้พูดเข้าใจหรือไม่ ถ้าพูดไม่เข้าใจวันนี้อาจจะต้องอธิบายต่อปีหน้า ( เสียงหัวเราะ ) เพราะน่าเบื่อถ้าต้องอธิบายต่อไปอย่างนี้ คนที่อยู่ต่อหน้านี่ก็ชักจะง่วง ( เสียงหัวเราะ ) แต่ว่านี่ก็ได้อธิบาย ที่ท่านทั้งหลายหัวเราะ ก็คงแปลว่าท่านก็เริ่มเข้าใจนิดหน่อย ( เสียงหัวเราะ ) ก็ดีแล้ว เข้าใจนิดหน่อย ดีกว่าไม่เข้าใจ

อันนี้ก็มาอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่นายกฯ ได้กล่าวว่าทรงทำอะไรๆ ดีๆ คล้ายๆ ว่าทำอยู่คนเดียว ความจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำ คนอื่นทำด้วย ยกตัวอย่าง การปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ เป็นการกระทำของหลายคน ของเจ้าหน้าที่การพัฒนาส่วนหนึ่ง และของประชาชนเองที่ทำตามทฤษฎีใหม่ ทฤษฎีใหม่นี้เป็นทฤษฎีที่ได้กล่าวออกมา หรือได้แสดงออกมาเมื่อประมาณปี ๒๕๓๗ พิมพ์ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็น ๓ ขั้น และพยายามที่จะทำให้สั้นที่สุด การทำให้สั้นที่สุดย่อมเข้าใจยาก แต่ว่าเมื่อทำให้สั้นที่สุด และให้มีใจความก็น่าจะเข้าใจได้ จึงให้ผู้ที่มีหน้าที่ได้ดู และให้เขาไปเลย ไม่ได้นึกว่าทฤษฎีใหม่นี้จะไปปฏิบัติได้อย่างง่ายๆ แต่ว่าผู้ที่รับทฤษฎีใหม่นี้ไปก็เกิดเข้าใจ และไปปฏิบัติได้

ทฤษฎีใหม่นี้เกิดขึ้นมาอย่างไร ก็มาจากการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการปฏิบัติของคนอื่นด้วยตั้งแต่ต้น ทฤษฎีใหม่นี้ ความจริงทางราชการได้ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ก่อนที่เกิดเป็นทฤษฎีใหม่ตามที่เรียกว่าทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ คือ การพัฒนาทางการเกษตร โดยเพาะปลูกหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน อย่างเช่นเขาปลูกข้าว หลังจากฤดูกาลข้าว เขาก็ปลูกถั่ว อย่างนี้เป็นทฤษฎีใหม่แล้ว แต่ไม่มีใครบอกว่าเป็นทฤษฎี ก็เลยได้หน้าว่าใช้คำว่า ทฤษฎีใหม่ นี่เป็นความคิดขึ้นมา และยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี เมื่อยอมรับกันว่าเป็นทฤษฎี ก็ไปปฏิบัติต่อได้

ที่เริ่มทำทฤษฎีใหม่นี้ ก่อนที่จะได้เรียกว่าเป็นทฤษฎีก็ทำที่สระบุรี ที่นั้นได้ไปหาซื้อที่ ๑๕ ไร่ ซึ่งคุณภาพไม่ดี. เงินที่ซื้อ ๑๕ ไร่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินส่วนตัว อันนี้ส่วนตัวแท้ๆ ไม่ได้ไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดิน หรือจากที่อื่น เป็นเงินส่วนตัวที่เก็บอยู่เป็นเงินสด จนมีคนล้อว่าเป็นเศรษฐีเงินสด ไม่ได้เป็นเศรษฐีที่ไปลงทุนกินดอกเบี้ย บางคนเขาตำหนิว่าทำไมเก็บเงินสด เก็บเงินสดไว้ในกระเป๋า เอาไว้ในห้องไม่ได้เอาไปไว้ที่ธนาคาร หรือบริษัทหลักทรัพย์ คนเขาก็บอกว่า การเก็บเอาไว้อย่างนั้นไม่ถูกหลักเศรษฐกิจ ก็เลยเอาเงินเช่นนั้นไปซื้อที่ดิน คนอื่นที่เห็นดีในการไปซื้อที่ดินเพื่อที่จะทดลองก็มาสมทบทุน เป็นเอกชน เป็นเพื่อนเป็นฝูง ไปซื้อ ๑๕ ไร่ และคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งฝ่ายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ร่วมไปทำ ก็บอกว่าให้ไปขุดสระ เพราะที่นี่ยังไม่มีน้ำ

คนที่ขายที่นั้นเขาบอกว่ามีบริษัทหนึ่งเข้ามาแถวนี้จะมาขอซื้อ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ถ้าหาน้ำได้เขาจะซื้อ ปรากฏว่าเขาขุด แล้วหาน้ำไม่ได้ อันนี้ก็แปลกเพราะว่าเมื่อซื้อที่ซึ่งห่างจากที่ที่บริษัทนั้นเคยจะมาซื้อเพียงประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เราไปขุดมีน้ำ เรียกว่าเราดวงดี ขุดมีน้ำได้ เมื่อมีน้ำแล้ว ก็สามารถที่จะนำน้ำนั้นมาทำการเพาะปลูกตลอดปี เลี้ยงปลาก็ได้ เลยใช้ที่ ๑๕ ไร่นี่ มาปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ต้นไม้ผล ปลูกสมุนไพรก็มี และมีการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งหมดนี่ใน ๑๕ ไร่นี้ คนก็บอกว่า แหม ! ทำไมในที่แคบอย่างนี้ ทำได้ทุกอย่าง เมื่อทำไปปีหนึ่งก็ได้ผล ผลผลิตนั้นได้ให้นักเรียนที่โรงเรียนวัด และที่เหลือก็ยังขายไป ได้กำไร ๒๐,๐๐๐ บาท

แต่ที่บอกว่าการทำนี่ไม่ได้ทำเองแท้ เพียงแต่พูดไปว่ามีทฤษฎีทำอย่างนั้นๆ คนที่ทำก็คือข้าราชการ และคนอื่นเข้ามาช่วยทำ. หมายความว่าต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ราชการ คนงานและนักวิชาการต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ค่อยคิดว่าจะทำในที่ ๑๕ ไร่ที่แห้งแล้งแบบนี้ได้ แต่ก็ทำได้ ผู้วางแผนเองก็ทึ่งตัวเอง นี่พูดเหมือนว่า จะอวดตัวว่าเก่ง แต่ตกใจตัวเองว่าที่พูดไปใช้งานได้ จึงมาสรุปเป็นทฤษฎีใหม่ เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่ก็ให้ไปที่มูลนิธิชัยพัฒนา แล้วเขียนข้างใต้ว่าเป็นทฤษฎีใหม่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ต่อมาคนก็ได้เห็นว่าใช้ได้ และไปปฏิบัติได้ในที่ที่แห้งแล้ง เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าที่ทำที่อำเภอเขาวง กาฬสินธุ์ ที่ได้ผลดี ที่ตรงนั้นทำ ๑๒ ไร่ ภายในปีหนึ่งเขาก็มีข้าวกิน ครั้งแรกที่ไปเยี่ยมเขาไม่มีข้าวกิน มีเพียงไม่กี่เม็ดต่อรวง เมื่อชาวบ้านแถวนั้นเห็นว่าดี ก็ขอให้ช่วย ปีต่อไปก็เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ ราย ปีต่อๆ ไปก็เป็น ๑๐๐ และขยายออกไปในภาคอื่น ได้เป็นการปฏิบัติตามทฤษฎีและได้ผล

เมื่อเป็นทฤษฎีใหม่แล้ว ก็มาเข้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง คนที่ทำนี้ ต้องไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ฟุ้งเฟ้อ ได้เขียนไว้ในทฤษฎีนั้นว่าลำบาก เพราะผู้ที่ปฏิบัติ ต้องมีความเพียร และต้องอดทน ไม่ใช่ว่าทำง่ายๆ ไม่ใช่บอกว่าเป็นทฤษฎีของในหลวง แล้วจะทำได้สะดวก และไม่ใช่ว่าทำได้ทุกแห่ง ต้องเลือกที่ ถ้าค่อยๆ ทำไป ก็จะสามารถขยายความคิดของทฤษฎีใหม่นี้ไปได้ โดยดัดแปลงทฤษฎีนี้ แล้วแต่สภาพของภูมิประเทศ หรืออาจจะช่วยสภาพภูมิประเทศ โดยหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ความจริงทฤษฎีใหม่ที่ปฏิบัติที่สระบุรีนั้นได้คิดก่อนที่บัญญัติทฤษฎี ที่สระบุรีนั้นได้ตั้งโครงการ ก่อนที่ตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา โครงการนี้เป็นคล้ายๆ โครงการแรกของมูลนิธิ และก่อนที่เขื่อนป่าสักได้เริ่มต้น นึกว่าที่ตรงนั้นถ้าหากเขื่อนป่าสักสำเร็จ “ ซึ่งเวลานี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว ” จะสามารถนำน้ำมาผ่านใกล้ที่ของทฤษฎีใหม่นั้นได้ ถ้าคลองส่งน้ำผ่านมา ทฤษฎีใหม่นี้ก็จะสมบูรณ์ เพราะมีโครงสร้างรองรับไว้แล้ว และบริเวณที่ไม่ใช่บริเวณของทฤษฎีใหม่ เป็นของชาวบ้าน และปฏิบัติแบบเดียวกับที่ของทฤษฎีใหม่ ก็จะอยู่ดีมีกินมากขึ้น ถ้าทำโครงการอะไรที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ก็สามารถจะสร้างความเจริญให้กับเขตที่ใหญ่ขึ้นได้ เขตที่ใหญ่ ลงท้ายก็จะแผ่ทั่วประเทศได้ แต่เพื่อการนี้จะต้องมีความร่วมมืออย่างดี ระหว่างทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และนักปกครอง ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้
 
ต่อไปนี้ไปคนละเรื่อง เป็นเรื่องจากข่าวที่ฟัง หรือจากการอภิปราย ถูกหรือไม่ถูก ต้องขออภัย เพราะว่าเกิดความคิดส่วนตัว เวลาฟังเขาเถียงกัน เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องปลีกย่อย เขาพูดกันว่า คนที่เป็นนักธุรกิจส่งนอก บอกว่าเดี๋ยวนี้เงินบาทแข็งเกินไป แต่ก่อนนี้เงินบาทลอยไป ไม่ต้องมีเครื่องบิน ไม่ต้องมีบอลลูนหรอก มันลอยขึ้นไป พวกที่หัวใสในทางเก็งราคา ก็เก็งราคาดอลลาร์ ไปซื้อดอลลาร์เพราะทราบว่าจะลอย ก็ซื้อดอลลาร์มากมายทีเดียว เมื่อลอยก็ขายได้กำไร ถ้าซื้อล้านบาท ก็ได้กำไรกลับคืนมาสองล้านบาทภายในไม่กี่เดือน

การที่เงินบาทขึ้นๆ ลงๆ นี้ รู้สึกว่าจะไม่ถูก ถ้าอย่างที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เงินบาทมีความสม่ำเสมอ จะอยู่แค่ไหนก็ไม่เป็นไร ขอให้มีความมั่นคง คือไม่วูบวาบ ขึ้นแล้วลงมากเกินไป อยู่ตรงไหนก็ได้ ปัจจุบันนี้อยู่แถว ๓๖ มาแตะ ๓๕ บ้าง ขึ้นๆ ลงๆ เพียง ๑๐ สตางค์ ๒๐ สตางค์ อย่างนี้ไม่เป็นไร ถ้าเงินบาทอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ นักธุรกิจที่ส่งนอกเขาบอกเขาแย่ เพราะว่าจะไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อที่จะไปขายต่างประเทศ แต่หารู้ไม่ว่า ผู้ที่ผลิตนั้นไม่ใช่ว่า เขาพอเพียง หรือประเทศพอเพียง เพราะต้องสั่งวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบของสินค้านั้นมาจากต่างประเทศ ถ้าเงินขึ้นลง บางคนที่ไม่เก่งนัก ซื้อวัตถุดิบมาในราคาแพง แล้วขายสินค้าของเขาในราคาถูก คนเหล่านั้นก็ล่มจม ส่วนใหญ่นักธุรกิจธรรมดาๆ ก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะขึ้น เมื่อไหร่จะลง ก็เลยผิดจังหวะ เขาก็ล่มจม ในวงการธุรกิจจึงบอกว่าล่มจม ส่วนผู้ที่เรียกว่าฉลาด หรือหัวใสเก็งราคา คือรู้ว่าเงินมีขึ้นมีลง ก็เล็งเอาตอนที่เหมาะสม ซื้อวัตถุดิบมาในราคาถูก และขายสินค้าในราคาแพง อย่างนี้ควบคุมไม่ได้ ก็ทำให้พวกนี้สบาย

ความจริงมีคนที่ยังสบายอยู่ไม่น้อย ถ้าเศรษฐกิจการคลัง อัตราแลกเปลี่ยนไม่วูบวาบเกินไป ทุกคนที่ขยัน ก็จะสามารถทำธุรกิจได้ดี ในระยะหลังนี้ทราบข่าวมาว่าเดือนนี้เศรษฐกิจดีขึ้น จะเอาเกณฑ์อะไร ที่บอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าถามกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่มีใครเชื่อ เขาบอกว่ารัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีพาณิชย์นี่ พูดอะไร เชื่อไม่ได้ ท่านพยายามพูดอธิบายจนกระทั่งท่านไม่พูดแล้ว ท่านพูด ๆ ๆ ไม่มีใครฟัง ท่านก็ไม่พูด ที่ได้ถาม ไม่ใช่รัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวง ถามโหราจารย์ ไม่ใช่ถามว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ถ้าถามโหราจารย์ว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจดีหรือยัง ก็ไม่มีใครเชื่ออีก หาว่างมงายไปฟังโหราศาสตร์ โหราจารย์นั้น ไม่ใช่บอกว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี โหราจารย์บอกว่าเดี๋ยวนี้เศรษฐกิจของโหราจารย์ดีขึ้น ( เสียงหัวเราะ ) ของตัวเองดี ไม่ใช่ของประเทศ ไม่ใช่ของนักธุรกิจ ไม่ใช่ของนักการเมือง ไม่ใช่ของฝ่ายค้าน ไม่ใช่ของฝ่ายรัฐบาล แต่ของตนเอง ของท่านโหราฯ เองดี เอาเกณฑ์อะไรที่บอกว่าดี ก็เพราะว่ามีคนมาขอฤกษ์มากขึ้น เมื่อปีก่อนนี้ ท่านโหราจารย์แย่ ไม่มีใครมาขอฤกษ์ เลยไม่มีใครบำรุงกิจการบอกว่าล่มจม แต่มาระยะหลังนี้ มีคนมาขอฤกษ์ หมายความว่าเศรษฐกิจชักกระเตื้อง นี่เป็นเรื่องของเกณฑ์ ที่เราจะสามารถทราบว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร

นี่เป็นความคิดความเห็นที่เป็นกลาง เพราะเป็นเรื่องของตัวท่านโหราจารย์เอง เป็นข้อเท็จจริง และก็เถียงไม่ได้ ฉะนั้นทำให้นึกดูว่า ถ้าเศรษฐกิจสม่ำเสมอดี มีแต่ดีขึ้นได้ จึงต้องรักษาความเป็นอยู่ที่ดี สถานการณ์ที่ดีต่อไป โดยรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่สม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาว่าประเทศชาติจะรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ ทั้งนี้เพราะวิกฤตการณ์นี้มาจากความฟุ้งเฟ้อ หรือความโลภ ไม่อยากจะพูดว่าความทุจริต เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องมีความทุจริตก็แย่ได้เหมือนกัน ยิ่งมีทุจริตก็ยิ่งแย่ เพราะว่าถ้ามีทุจริต ไม่มีใครทำงานอะไรได้ ไม่มีใครเชื่อใคร แล้วผู้ที่จะพยายามทำงานก็ไม่สามารถทำงาน เพราะกลัวทุจริต ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าไม่มีความสม่ำเสมอ ผู้ที่เป็นนักธุรกิจ หรืออุตสาหกรที่สุจริต ก็จะไม่สามารถกะงบประมาณ งบของตัวเอง จึงต้องค้ากำไรเกินควร เพื่อไม่ให้ขาดทุน แต่มีหลายคนที่พยายามทำงานด้วยความไม่ฟุ้งเฟ้อ

ได้พูดกับนักธุรกิจต่างประเทศ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเชื่อชาวต่างประเทศ หรือนักเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศ บางคนก็เข้าข้างตัวเอง จะมาเรียกว่ามาขุดทองในเมืองไทย มีพวกที่เป็นอุตสาหกร ผู้ที่เป็นนักธุรกิจต่างประเทศเขาหัวเราะเลย เมืองไทยนี่กำลังวุ่นวาย เขามาขุดทอง เพราะเมืองไทยยังมีทอง เมืองไทยยังเป็นสุวรรณภูมิ แต่ของเราเห็นทองแล้วโยนทิ้ง ก็เลยไม่ใช้ประโยชน์ ชาวต่างประเทศเห็นเราทิ้ง เขาก็เก็บ อันนี้เป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดขึ้นมา ที่พูดทั้งหมดนี้ ฟังแล้วอาจจะน่ากลุ้มใจ แต่ถ้าดูอีกแง่หนึ่งก็อาจจะน่าสบายใจ น่าสบายใจ เพราะดูได้ว่าถ้าเราปฏิบัติอย่างเรียกว่าตรงไปตรงมา ด้วยความตั้งอกตั้งใจสักนิดหนึ่ง “ บอกว่าสักนิด ” ก็พอ ไม่ต้องตั้งอกตั้งใจอย่างเคร่งเครียดมากเกินไป แต่ให้สม่ำเสมอ สม่ำเสมอนี้ก็แบบเดียวกับที่พูดถึงพอเพียง สม่ำเสมอในทุกอย่าง พอเพียงในทุกอย่าง เมืองไทยรอดเพราะโครงสร้างของประเทศ หรือนิสัยของประชากรชาวไทย ประชากรนี่ หมายถึงประชาชนที่อยู่ในกรุง ประชาชนที่อยู่ในชนบท ประชาชนที่อยู่ชายทะเล ประชาชนที่อยู่บนภูเขา ยังดี คนยังมีจิตใจที่กล้าคิดกล้าทำ ถ้าทำตามคุณสมบัติของคน คือ คุณธรรมของคนหรือความดีของคน เมืองไทยสบาย ไม่ต้องให้ต่างประเทศมาขุด แม้จะมีต่างประเทศมาขุด เขาก็ขุดให้เรา เขาก็แบ่งให้เราด้วย เราก็แบ่งให้เขา นี่ก็เลยกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบ เศษ ๑ ส่วน ๔ หรือมากกว่า

เศษ ๑ ส่วน ๔ ด้วยความพอเพียงที่แปลว่า พอประมาณ และมีเหตุมีผล อันนี้ก็กลับมาถึงที่เศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยนึกว่าเป็นสิ่งที่น่าจะนำไปคิดมีอีกเรื่องที่ได้พูดปีที่แล้ว และปีนี้มีความเปลี่ยนแปลงไป คือเรื่องที่ท่านนายกฯ พูดเรื่องภัยพิบัติน้ำท่วม ปีที่แล้วภัยพิบัติน้ำท่วมได้เกิดขึ้น แต่ปีนี้ไม่เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร ที่อำเภอเมืองจังหวัดชุมพรนั้น ปีที่แล้วน้ำท่วม ๒ ครั้ง และแต่ละครั้งเสียหายไปประมาณเกือบพันล้าน ๒ ครั้ง ก็เสียหายไปเกือบ ๒ พันล้าน ปีนี้เสียไปไม่เท่าไหร่ เพราะไม่มีน้ำท่วม เสียสำหรับโครงการที่เล่าให้ฟังว่าไปขุดคลองให้ครบถ้วน คลองชลประทาน เขาขุดไว้แล้ว แต่ไม่ทะล ถามเขาว่าเมื่อไหร่จะทะลุ เขาก็บอกว่าอีก ๒ ปี ตอนนั้นปลายปี ๔๐ ปี ๔๑ ปี ๔๒ ก็จะยังท่วมอีก เพราะว่าคลองไม่ทะลุ จึงได้ทำโครงการให้ทะลุภายในเดือนเดียว เงินไม่มีก็ให้ ปีที่แล้วบอกว่ามูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และมูลนิธิชัยพัฒนาให้ไป จะให้คืนหรือไม่คืนไม่เป็นไร ลงท้ายได้คืน ได้เงินคืนจากประชาชนเอง และจากทางราชการ ประชาชนเห็นว่าทำดี เขาก็บริจาค ปีที่แล้วบ่นว่าชาวชุมพรไม่ยอมบริจาค แต่ปีนี้ยอมบริจาคช่วย จึงสามารถทำโครงการเพิ่มเติม นอกจากการป้องกันน้ำท่วม ได้ทำโครงการเพิ่มเติมสำหรับการทำเกษตรที่ปลอดภัย และพอเพียงโดยใช้เงินที่ได้คืนมาตั้งกองทุน เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้เป็นกลุ่มๆ

ในปีนี้ระยะหนึ่ง ถ้าวัดน้ำในจุดหนึ่ง มีสูงกว่าปีที่แล้ว แต่เมื่อผ่านโครงการมาแล้ว ทำให้ที่ที่เคยท่วม ไม่ท่วม เพราะน้ำสามารถมาอยู่ในแก้มลิง อย่างที่อธิบายเรื่องแก้มลิงเมื่อปีที่แล้ว แก้มลิงของเรานี้ ที่จริงเป็นแก้มลิงธรรมชาติที่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น และต้องบริหารให้ดี ลิงตัวนี้ตัวโตก็สามารถกักน้ำไว้ได้พอดี ถ้าบริหารดีแล้ว น้ำจะไม่ท่วม ปีนี้คนที่อยู่ข้างนอก ใกล้ทางที่เดินผ่านมาจากรถ ถ้าลองหันหลังไปดู มีกรงลิง แล้วมีลิงอยู่ในนั้น

ปีก่อนนี้ถามว่าเคยเห็นลิง ที่กินกล้วยไหม ก็ดูเหมือนไม่มีใครเคยเห็น จึงเอาลิงมาให้ดู อยู่ในกรง หันหลังไปดูหน่อย ลิงนี้เวลาให้กล้วยให้เงาะกิน มันใส่ปากแล้วเก็บไว้ในแก้มในแก้มลิง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กลืน น้ำที่อยู่ในแก้มลิงหนองใหญ่ที่ชุมพร ก็เป็นอย่างนั้น น้ำเข้ามาๆ แล้วจึงค่อยๆ ปล่อยออกไป เป็นอันว่าเมื่อเข้ามาเก็บไว้ น้ำนั้นก็ไม่มาท่วมเมืองชุมพร เมื่อน้ำที่ลงมาลดลงก็ปล่อยออก ลิงนี้ก็เหมือนกัน ได้พยายามถ่ายรูปลิงที่กินกล้วย ตอนนั้นลิงไม่ได้อยู่ตรงนั้น อยู่ที่ข้างสระกลม ให้ถั่วลิสง มันก็เอาเข้าปาก แก้มลิงก็ตุ่ยออกมา แต่ถ่ายไม่ค่อยทัน ถ่ายไม่ได้ เพราะว่ามีลูกกรงทำให้รูปไม่ชัด แต่คราวนี้มีอยู่ในกรงนี้ อาจจะสามารถถ่ายรูปลิง และแก้มของเขาให้เห็นชัด แต่ท่านทั้งหลายที่ฟังเมื่อปีที่แล้ว เรื่องแก้มลิง คงได้ไปที่เขาดิน ดูลิงกินกล้วย กินเงาะ ก็คงได้เห็นแก้มลิงมาแล้ว เพราะสนใจเรื่องลิงขึ้น

ตอนนี้เล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับที่พูดเมื่อปีที่แล้ว และที่นายกฯ ได้บอกว่า เป็นสิ่งที่ได้ปฏิบัติมา ฉะนั้น ก็คงสมควรแก่เวลาที่จะให้ท่านทั้งหลายไปพักผ่อนได้ วันนี้ท่านมาในบัญชีที่อ่านเมื่อตะกี้ สองหมื่นกับเก้า ( ๒๐,๐๐๙ ) คน ก็ไม่รู้ว่าครบหรือไม่ครบ ( เสียงหัวเราะ ) เพราะว่าเดิมเป็นสองหมื่นกับเจ็ด ( ๒๐,๐๐๗ ) คน แต่มีคนมาเพิ่มอีกสองคนเป็นสองหมื่นกับเก้า ( ๒๐,๐๐๙ ) คน คงอยากให้มีเลขที่เป็นมงคล ( เสียงหัวเราะ ) ก็ขอขอบใจทุกคน ทั้งสองหมื่นกับเก้า ( ๒๐,๐๐๙ ) คน ที่มาให้พร และเป็นกำลังใจ ก็ขอให้กำลังใจนี้สะท้อนกลับไปถึงแต่ละคน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ใครทำอะไร มีหน้าที่อะไรก็ขอให้ทำได้อย่างดี และช่วยกัน ร่วมมือกัน ทำเพื่อความสงบสุข และความเจริญของประเทศและประชาชน
บันทึกการเข้า
ti2521
Hero Cmadong Member
***


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,987

« ตอบ #11 เมื่อ: 27 พฤษภาคม 2552, 22:07:28 »


                         


                             .....ขอพระองค์ ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.....
      บันทึกการเข้า

เพื่อซีมะโด่งจุฬาฯ
สำหรับผม
อย่างไรก็ได้
swsm
Cmadong Member
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
****


@@ ยาหยี @@
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: Rcu2523
คณะ: Comm Arts
กระทู้: 28,369

« ตอบ #12 เมื่อ: 27 พฤษภาคม 2552, 22:35:31 »

ชื่นใจจังค่ะ .. พี่เจี๊ยบ
ขอบคุณกับเรื่องดี ๆ ที่เป็นเหมือนน้ำทิพย์ชะโลมใจชาวไทยทุกคน

ทรงพระเจริญ


หึหึ
      บันทึกการเข้า

.. don't play with me, cos I know how to play it too .. may be better than you do ..
ตุ๋ย 22
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
******


ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: RCU2522
คณะ: ครุศาสตร์
กระทู้: 20,173

« ตอบ #13 เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2552, 21:07:25 »

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
      บันทึกการเข้า

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ไม่เสื่อมคลายหายไปจากหัวใจ
Leam
Cmadong Member
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 23,776

« ตอบ #14 เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2552, 23:05:24 »


               
      บันทึกการเข้า
I-Love-CU
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 705

« ตอบ #15 เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2552, 23:37:08 »

อ่านแล้วซึ้งมาก

เมื่อครั้งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จอินเดียครั้งล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ ได้แวะเดลี หลังกลับจากเสด็จไปเยี่ยมเผ่าไท อาหม ที่แคว้นอัสสัม ท่านอุปทูตพลเดช วรฉัตร เล่าให้ฟังว่าตลอดการเดินทางตามเสด็จกว่า 10 วัน สมเด็จพระเทพฯ ทรงคิดถึงแต่ประโยชน์ และความรู้ที่จะนำกลับไปให้ประเทศชาติ ทรงงานทุกอย่างไม่ได้คำนึงถึงส่วนพระองค์ ท่านอุปทูตบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาหลายวัน เลยได้เห็นว่าพระองค์ทรงงานหนัก และทรงกระทำเพื่อประเทศชาติมากแค่ไหน

ได้เจอน้องนักศึกษาไทยคนหนึ่ง เป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ จาก จ.สุราษฎร์ธานี มาเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเดลี ทราบว่าท่านส่งนักเรียนไทยมาเรียนด้านวิทยาศาสตร์ที่อินเดียจำนวนไม่น้อย

มีเรื่องอีกมากมายที่ราชวงศ์ของเราได้ทำสิ่งดีๆที่คนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบ

กระทู้นี้ให้ความรู้สึกที่ปลื้มปิติมากๆ ขอทรงพระเจริญ
      บันทึกการเข้า
manopkd
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #16 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2552, 10:20:41 »

สวัสดี คุณน้องลุกหยี๋
             พี่สิงห์อ่านแล้ว ยินดีด้วย ที่มีโอกาสรับใช้ท่านใกล้ชิด ขอแสดงความยินดี

                           สำหรับสมเด็จพระเทพฯ พี่สิงห์มีโอกาสใกล้ชิด ตอนรับน้องใหม่จุฬาฯ เมื่อปี 2516 พี่สิงห์พร้อมด้วยชาวหอ ตั้งแถวรอรับน้องใหม่แด่พระองค์ท่าน หน้าตึกคณิตศาสตร์ พอท่านเสด็จผ่าน พวกเราขอให้ท่านเต้นลาวกระทบไม้ ร่วมกับน้องใหม่ท่านอื่นๆ เป็นการรับน้องใหม่ จุฬาฯ และพี่สิงห์เป่าแคนอิสานเพลงลาวกระทบไม้ครับ
      บันทึกการเข้า
ตุ๋ย 22
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
******


ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: RCU2522
คณะ: ครุศาสตร์
กระทู้: 20,173

« ตอบ #17 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2552, 19:26:23 »

      บันทึกการเข้า

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ไม่เสื่อมคลายหายไปจากหัวใจ
swsm
Cmadong Member
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
****


@@ ยาหยี @@
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: Rcu2523
คณะ: Comm Arts
กระทู้: 28,369

« ตอบ #18 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2552, 19:49:35 »

เรื่องประทับใจกับพระองค์ท่าน (สมเด็จพระเทพฯ) ยังมีอีกหลายครั้ง หลายเรื่อง
เพราะทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าหรือรับเสด็จ 
ท่านจะมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เราประทับใจเสมอ ..

รักที่สุดเลยค่ะ
   

หึหึ
      บันทึกการเข้า

.. don't play with me, cos I know how to play it too .. may be better than you do ..
wannee
Global Moderator
Cmadong พันธุ์แท้
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: จุฬาฯรุ่นประวัติศาสตร์ 2516
คณะ: ทันตแพทยศาสตร์
กระทู้: 4,806

« ตอบ #19 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2552, 20:29:16 »

พระองค์มีเรื่องให้ประทับใจมากมาย   ปิ๊งๆ รักนะ
      บันทึกการเข้า

"เสียด" ภาษาจีนฮากกา แปลว่า หิมะ
ตุ๋ย 22
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
******


ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: RCU2522
คณะ: ครุศาสตร์
กระทู้: 20,173

« ตอบ #20 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2552, 21:23:59 »

      บันทึกการเข้า

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ไม่เสื่อมคลายหายไปจากหัวใจ
I-Love-CU
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 705

« ตอบ #21 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2552, 23:06:46 »

ผมชอบบทร้อยกรองในพระราชนิพนธ์ “มุ่งไกลในรอยทราย” ของสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งมีความหมายตรงใจมาก จนสามารถท่องจำได้ขึ้นใจ *-*

แม้อีกสักร้อยปี ฉันยังไม่มีเวลา
พอเยือนเยี่ยมโลกา ทั่วขอบฟ้าท่องเที่ยวไป
ถึงวิ่งเร่งรีบรุด ถ้าไม่สุดลมหายใจ
อยากเห็นทุกสิ่งใน พื้นแหล่งหล้าจักรวาล
เปิดดวงใจให้กว้าง รับทุกอย่างอย่างเบิกบาน
เปิดหูตานานนาน เพื่อค้นคิดสัจจธรรม
และเพื่อจะรักยิ่ง รักรู้จริงรักจะจำ
ด้วยรักร้อยถ้อยคำ เป็นลำนำจวบร้อยปี
      บันทึกการเข้า
ตุ๋ย 22
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
******


ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: RCU2522
คณะ: ครุศาสตร์
กระทู้: 20,173

« ตอบ #22 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2552, 19:08:41 »

      บันทึกการเข้า

น้ำใจน้องพี่สีชมพู ไม่เสื่อมคลายหายไปจากหัวใจ
swsm
Cmadong Member
Cmadong อภิมหาอมตะเซียน
****


@@ ยาหยี @@
ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: Rcu2523
คณะ: Comm Arts
กระทู้: 28,369

« ตอบ #23 เมื่อ: 01 มิถุนายน 2552, 08:57:41 »

เรื่องประทับใจจากหะยี (1)

หึหึ

เป็นเรื่องพระราชอารมณ์ขันในวันทรงงาน...ของพ่อหลวง 
ซึ่งได้รับ FW mail เมื่อนานมาแล้ว
อ้างจากเนชั่น สุดสัปดาห์  2-8 ธันวาคม (ไม่ได้ระบุปี พ.ศ.)

 
----------

ระยะแรกราวปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา   
คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล
จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน
หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง 
ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 
โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว 


วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง
ผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ย่านหมู่บ้านห้วยมงคล  อำเภอหัวหิน
ราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่ง ประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง   
และไม่คาดคิดว่ารถยนต์ที่กำลังแล่นเข้ามา
เป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ 


เมื่อทรงขับรถยนต์เข้าใกล้ซุ้ม  ราษฎรคนหนึ่งรีบวิ่งเข้ามาบอก
"..ต้องให้ในหลวงเสด็จฯ ก่อน  แล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้.. 
วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้  เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อนนะ.."


ทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว  

วันรุ่งขึ้น  เมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนิน
ไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้  อย่างเป็นทางการ 
พร้อมคณะข้าราชบริพาร  ผู้ติดตาม 
และทรงมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า 


"วันนี้ฉันเป็นในหลวง..คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ.."

----------

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน



รักนะ
      บันทึกการเข้า

.. don't play with me, cos I know how to play it too .. may be better than you do ..
wannee
Global Moderator
Cmadong พันธุ์แท้
*****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

รุ่น: จุฬาฯรุ่นประวัติศาสตร์ 2516
คณะ: ทันตแพทยศาสตร์
กระทู้: 4,806

« ตอบ #24 เมื่อ: 01 มิถุนายน 2552, 09:05:50 »

เห็นพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว  วันวานเมื่อ ก.ค. 20  ก็ผุดขึ้น   ปิ๊งๆ
พระองค์ทรงเป็นน้องใหม่ ปี 2516 ซึ่งรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นประวัติศาสตร์  ปัจจุบันพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ ให้รุ่น 16 ทำกิจกรรมต่อเนื่องอยู่เสมอ  ตามที่รับสั่งไว้ ปีหน้าก็จะมีงานเพื่อหารายได้ และจะพระราชทานให้กับจุฬาฯ  บ่ฮู้บ่หัน
      บันทึกการเข้า

"เสียด" ภาษาจีนฮากกา แปลว่า หิมะ
  หน้า: [1] 2 3  ทั้งหมด   ขึ้นบน
  
กระโดดไป:  

     

ทำไมหอพักนิสิตจุฬาจึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์            " ไม่ได้เป็นแค่หอให้นอนพัก  แต่เป็นบ้านอบอุ่นรักให้อาศัย  ไม่เป็นแค่ที่ซุกหัวยามหลบภัย  แต่สร้างใจให้เข้มแข็งแกร่งการงาน"  <))))><