อ่านเพื่อเป็นข้อมูลครับ
เปิดปัจจัย 4 'ถุงยังชีพ' น้ำท่วมใหญ่แต่ไม่ท่วมหัวใจไทยทั้งชาติ4 พฤศจิกายน 2553 18:29 น.
กลายเป็นวิกฤตที่ใหญ่กว่าที่ใครจะคาดคิด สำหรับอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคใต้ที่ต่างก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน
อย่างตอนนี้พบว่าผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วมากกว่า 1.8 ล้านครัวเรือน หรือราวๆ 6 ล้านคน ในพื้นที่ 39 จังหวัด 384 อำเภอ 2,838 ตำบล 24,575 หมู่บ้าน ซึ่งแม้หลายๆ แห่งจะกลับคืนสู่ภาวะปกติกันบ้างแล้ว แต่ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า ซากความสูญเสียทั้งที่เจออยู่หรือผ่านไปแล้วนั้นช่างรุนแรง และต้องการได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ซึ่งหนึ่งในภารกิจที่หลายๆ คนรีบยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน ก็คือการแจกจ่าย 'ถุงยังชีพ' นั่นเอง
เปิดของออกจากถุง สังเกตได้จากหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต่างระดมแรงระดมใจมาช่วยทำถุงยังชีพแจกจ่ายอย่างหยุดหย่อน หนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่กำลังศรัทธาและทุนทรัพย์ของแต่ละที่ โดยของที่อยู่ภายในนั้นก็มีความแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน แต่เน้นที่ความจำเป็นของผู้ประสบภัยเป็นหลัก
อย่างถุงยังชีพของชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็อัดแน่นไปด้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 30 ซอง ปลากระป๋อง 6 กระป๋อง ผักกาดดอง 6 กระป๋อง ปลาราดพริก 6 กระป๋อง ข้าวหอมมะลิกระป๋อง 150 กรัม 6 กระป๋อง น้ำพริก 2 กระปุก ไก่ทอดกระเทียม 2 กระป๋อง เครื่องดื่มช็อกโกแลตผง 3 in 1 (1X6 ซอง) 2 ถุง ข้าวสาร 5 กิโลกรัม โลชันกันยุง 1 ขวด เทียนไข 2 เล่ม ไฟแช็ก 1 อัน ไฟฉายพร้อมถ่าน 1 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน 1 ชุด ยาแก้น้ำกัดเท้า 1 หลอด เกลือไอโอดีน 1 ถุง ถุงขยะสีดำขนาดเล็ก 6 ใบ และถุงขยะสีดำขนาดใหญ่ 6 ใบ
ขณะที่ถุงยังชีพพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ถือว่าหนักไม่แพ้กัน เพราะภายในนั้นมีที่ทั้งปลากระป๋องแบบฝาดึง 2 กระป๋อง น้ำพริก 5 กระปุก ผักกาดดองแบบฝาดึง 2 กระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 10 ซอง ขนมขบเคี้ยว 2 ห่อ นมสด 6 กระป๋อง ผ้าเช็ดตัว และผ้าขาวม้า อย่างละ 1 ผืน ข้าวสาร 1 กิโลกรัม เสื้อยืด กางเกง รองเท้าแตะ 1 ชุด เกลือ 1 กระปุก สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน แป้ง ไฟแช็ก อย่างละ 1 อัน น้ำดื่มขนาดเล็ก 6 ขวด ยาพาราเซตามอล ยาลดกรดในกระเพาะ ยาแก้แพ้ อย่างละ 20 เม็ด ยาทาแก้โรคผิวหนัง 2 หลอด ยาทาแก้เคล็ดขัดยอก 1 หลอด ยาใส่แผลสด 1 ขวด และปลาสเตอร์ปิดแผล 10 แผ่น
ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ก็แจ๋วไม่ใช่เล่น เพราะตามเทศบาลต่างๆ ก็มีการแจกทั้งข้าวสาร 5 กิโลกรัม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ซอง ปลากระป๋องแบบฝาดึง 6 กระป๋อง น้ำมันพืช 1 ลิตร 1 ขวด น้ำปลา 1 ขวด และน้ำดื่มขนาดเล็ก 12 ขวด
ด้านสโมสรโรตารี่ ก็มีน้ำใจก็เต็มเปี่ยมไม่แพ้กัน เพราะงานนี้แจกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5 ซอง ทิชชู่ 4 ม้วน ถุงดำ 1 ห่อ ไฟฉายพร้อมถ่าน 1 ชุด ยาทาแก้โรคผิวหนัง 1 หลอด ขนมปังกรอบไส้สับปะรด 1 ปี๊บ และน้ำดื่มขนาดเล็ก 6 ขวด ขนาดใหญ่ 2 ขวด
แน่นอนว่าที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะนอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอีกหลายร้อยแห่ง ทั้งช่อง 3 ทีวีไทย เอเอสทีวี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ฯลฯ ที่ต่างระดมพลเพื่อผลิตถุงยังชีพอย่างเต็มที่ เพราะช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้
เปิดขั้นตอนการผลิต เห็นของหลากหลายในถุงยังชีพ ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยไม่น้อยว่า อะไรกันหนอที่เป็นปัจจัยสำคัญที่แต่ละหน่วยงานจะตัดสินว่าจะเลือกของชิ้นนั้นชิ้นนี้ลงไปในถุงกันบ้าง รวมไปถึงขั้นตอนที่จะส่งต่อถุงยังชีพไปสู่มือประชาชนด้วย
ในฐานะที่เป็นหน่วยงานแรกๆ ซึ่งยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประชาชน อภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เล่าถึงที่มาที่ไปของถุงยังชีพที่มูลนิธิฯ แจกว่า เป็นไปพระประสงค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิฯ โดยของที่อยู่ในถุงนี้จะอาศัยหลักการที่ว่าครอบครัวที่ได้ถุงนั้นไปจะต้องสามารถดำรงชีวิตได้อยู่ประมาณ 7 วัน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแจกจ่ายให้แก่พสกนิกรทั่วประเทศไปกว่า 30,000 ถุงแล้ว
“ของที่อยู่ในถุง หลักๆ เลยก็คืออาหาร ซึ่งที่ต้องมีเลยก็อย่างเช่นข้าวสารอย่างดี 5 กิโลกรัม อาหารแห้ง อันได้แก่ปลากระป๋อง เครื่องกระป๋องทั้งหลาย โดยต้องมีอายุอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน นอกจากนี้ก็มีพวกเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งใช้ประจำอยู่ทั้ง จาน ชาม ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ อันต่อมาก็คือ ยารักษาโรค เพราะท่านบอกว่าในยามค่ำคืนฉุกเฉิน ไปโอสถศาลาไม่ทันก็สามารถรักษาในเบื้องต้นได้หมด แล้วก็มีพวกเสื้อผ้า ทั้งของผู้ชาย ผู้หญิง ของพระ พวกสบงจีวร
“สรุปก็คือ ในถุงนี้คือปัจจัย 4 นั่นเอง โดยทั้งสองพระองค์จะเป็นผู้พิจารณาของทั้งหมด แล้วก็สั่งซื้อจากห้างใหญ่ๆ ซึ่งตอนนี้ก็รวมทั้งหมด 34 รายการ ส่วนน้ำหนักท่านก็ทรงเพิ่มเรื่อยๆ อย่างตอนแรกๆ ก็ 7-8 กิโลกรัม แต่ตอนนี้ก็ประมาณ 20 กิโลกรัมแล้ว (หัวเราะ)”
หลังจากที่มีการคัดเลือกและเตรียมของเสร็จสิ้นแล้ว ก็ถึงเวลาที่หน่วยงานต่างๆ จะเร่งระดมพลอาสาสมัครใจบุญทั้งหลายมาช่วยกันแพ็กของ เพื่อดำเนินการส่งด้วย อย่าง ณัฐสิรี พงษ์ดี นักศึกษาชั้นปี4 คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ไปร่วมกิจกรรมของทีวีไทย
“ทราบข่าวผ่านทางโทรทัศน์ว่า ต้องการคนอาสาสมัครมาช่วย ก็เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ตนไปช่วย เพราะรู้สึกว่าอยากทำประโยชน์ให้แก่สังคมบ้าง ซึ่งพอมาก็ประทับใจมากๆ เพราะได้เห็นภาพความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย เช่นเห็นภาพครอบครัวที่พ่อแม่พาลูกมาช่วย หรือภาพของคุณลุงคนหนึ่งที่มาช่วย 4-5 วันติดๆ”
เปิดใจคนรับของ เห็นหน่วยงานใจดีระดมพลกันหนักขนาดนี้ ก็คงต้องหันมาดูในฝั่งผู้ได้รับของกันบ้างว่าจะรู้สึกปลื้มใจกับน้ำใจของคนไทยที่มีให้กันในยามวิกฤตขนาดนี้
อำนาจ เกิดเทพ หนึ่งในผู้ประสบภัยน้ำท่วม จากอำเภอเสาไห้ ตำบลม่วงงาม จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า โชคดีมากที่ในหมู่บ้านมีคนมาแจกถุงยังชีพกันตลอด ทำให้อยู่กันอย่างไม่ลำบากมากนัก
“ในหมู่บ้านน้ำท่วมเยอะมาก สูงประมาณ 3 เมตรได้ เวลาออกไปรับถุงยังชีพก็ต้องนั่งเรือออกไปรับ แต่ว่าปีนี้ได้รับความช่วยเหลือเร็วมาก ท่วมวันแรกของก็ถึงมือเราเลย เดลินิวส์ ไทยรัฐ ช่องสาม ของพระราชทานก็มา ส่วนใหญ่ของที่มีในถุงก็จะเป็นข่าวสาร ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราก็ได้ใช้หมดทุกอย่าง
“บ้านเราน้ำท่วมทุกปีก็ต้องทำใจแหละครับ พยายามคิดว่ามันเป็นเรื่องสนุกที่ต้องวิ่งไปรับถุงยังชีพนะ ถามว่ามันก็ลำบากไหม ก็ลำบาก แต่เราจะทำอะไรได้ นอกจากคิดในแง่บวกเข้าไว้”
.........
แม้ช่วงนี้หลายๆ แห่งจะต้องประสบกับภัยพิบัติหนักหนาสักแค่ไหน แต่เชื่อว่าพอได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมใจกันขนาดนี้ คงอดรู้สึกซึ้งกับมิตรภาพของคนไทยไม่ได้ ซึ่งก็คงเหมือนกับที่หลายคนชอบพูดกันว่า คนเราจะวัดน้ำใจกันได้ว่ามีแค่ไหน ก็ต้องเป็นช่วงลำบากนี่แหละ
เพราะแม้ในความเป็นจริงถุงยังชีพเหล่านี้จะเป็นเพียงแค่เครื่องช่วยบรรเทาความปวดร้าวกับภัยพิบัติเท่านั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน ก็ถือ ถุงเล็กๆ ดังกล่าวนั้นยังได้ใส่ พลังของน้ำใจอันเปี่ยมล้ม ความปรารถนาดี ความอยากช่วยเหลือ และความเป็นน้ำหนึ่งใจด้วยกันของทุกคนมีให้กันไว้เต็มถุง ซึ่งเพียงแค่เปิดออกมาก็รับรองว่า จะสัมผัสได้อย่างแน่นอน
>>>>>>>>>>
ผู้ที่สนใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ติดต่อได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทเวศน์ โทร 0-2025-3333-5
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK
ชมภาพเพิ่มเติม คลิ๊กตรงนี้...
จาก
http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9530000155968