13 มิถุนายน 2567, 23:09:28
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: [1] 2  ทั้งหมด   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย  (อ่าน 31955 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2549, 19:57:48 »

ทาง ๗ สาย

    เราชาวพุทธทั้งหลาย ทราบและเข้าใจดีว่า  สัตว์ทั้งหลายมีการเวียนว่าย ตายเกิด เป็นธรรมดา การเกิดในแต่ละชาติ จะได้ไปสู่ภพใด ภูมิใด นั่นขึ้นอยู่ที่กรรมของผู้นั้น ๆ และนั่นคือ ทาง ๗ สายที่ ผู้นั้น ๆ จะต้องไปเกิด

     ทาง ๗ สาย คือ


๑.   สัตว์นรก
๒.   เปรต อสุรกาย
๓.   ดิรัจฉาน
๔.   มนุษย์
๕.   เทวดา
๖.   พรหม
๗.   นิพพาน


    อันนี้จำแนกออกตาม สภาพจิตของสัตว์ที่จะไปเกิด

โทสะ  นำไปสู่ นรก
โลภะ นำไปสู่เปรต
โมหะ นำไปสู่ ดิรัจฉาน
ศีล ๕ นำไปสู่มนุษย์


การทำความดีทั่ว ๆ ไป รวมถึงการรักษาศีลนำไปสู่สวรรค์
ศีล ๘ และสมถะกรรมฐาน นำไปสู่พรหม
วิปัสสนากรรมฐาน นำไปสู่ นิพพาน


    อันนี้ ว่ากันคร่าว ๆ ตามตำราไปก่อน ส่วนรายละเอียดปลีกย่อย มีอีกเยอะ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามแบบดังกล่าว  

     เพียงแต่ในที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า การทำความชั่ว นำไปสู่ทุคติภูมิ คือไปเกิดในที่ไม่ดี การทำความดี นำไปสู่สุคติภูมิ คือไปเกิดในที่ดีดี การทำความชั่ว และการทำความดีแบบทั่ว ๆ ไป คงไม่ต้องกล่าวในที่นี้ กระมัง เพราะ ความดี ความชั่ว สิ่งดี สิ่งไม่ดี ระดับพื้นฐานทั่วไป มีอยู่ในฐานความเชื่อของทุกคนอยู่แล้ว  และทุกคนก็ รู้ดีว่า จิตของคนเราเจือด้วยกิเลส ตัณหา ยากที่จะถอดถอน อันนี้ เป็นความเชื่อ ความรู้ที่มีอยู่ในสัญญา ความจำทุกคนอยู่แล้ว

     ความโกรธ หรือ บางครั้งภาษาปาก เรียกว่า โมโห บ้าง นั้น เป็นส่วนหนึ่งของมูลฐานกิเลสที่เรียกว่า “โทสะ” และโทสะ นั้น นับได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลมากมีอำนาจมาก ในบรรดา กิเลส ผู้มีอิทธิพล ๓ ชนิด ลูกสมุนของโทสะ เช่น ความหงุดหงิด อารมณ์เสีย ขุ่นเคือง เคียดแค้น ไม่พอใจ หมั่นไส้ และอื่น ๆ อีกมากมาย

     ความโลภ หรือบางครั้งภาษาปาก เรียกว่า ละโมบ บ้างนั้น เป็นส่วนหนึ่งของมูลฐานกิเลสที่เรียกว่า โลภะ หนึ่งในกิเลสผู้มีอิทธิพลมาก ๓ ชนิด ซึ่งลูกสมุนของโลภะ เช่น ความอยากได้ของคนอื่น ความหวง ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

     ความหลง ความงมงาย หรือการที่ทำอะไรไปโดยไม่แจ้งใจถึงบาปบุญ คุณโทษ เป็นส่วนหนึ่งของมูลฐานกิเลสที่เรียกว่า โมหะ หนึ่งในกิเลสผู้มีอิทธิพลมาก ๓ ชนิด ซึ่งลูกสมุนของโมหะ เช่น ความหลงใหล ความหดหู่ ความเซ็ง ความเศร้า เป็นต้น

     การที่เราทำกรรมด้วยใจที่แปดเปื้อน หรือเจือด้วยกิเลสเหล่านี้  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่กิเลสเหล่านี้ชักนำให้เราทำกรรมใด ๆ ก็ตาม กรรมนั้น ๆ แล จะเป็นตัวชี้นำ นำพา ผู้ทำกรรมเข้าสู่ทางแห่งมัน เข้าสู่บ้านมัน เข้าสู่ที่พำนักมัน


    เมื่อเราพยายามไม่ทำตามอำนาจของกิเลสเหล่านั้น นี่แล คือการพยายามทำความดี และผลของมันย่อมนำออกนอกทางต่ำ ๓ อย่าง ดังกล่าวข้างต้น แล้วชักพาเข้าสู่ทางที่สูงกว่ามีมนุษย์ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2549, 20:04:37 »

มาคุยกันต่อเรื่องเกี่ยวกับทาง ๗ สาย

    แดนนรก แดนเปรต แดนเทวดา แดนพรหม นั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า ถ้ามีอยู่จริงมันอยู่ที่ไหน ทำไมเรามองไม่เห็น คำถามต่าง ๆ เหล่านี้ มักเกิดขึ้นเสมอกับมนุษย์ทั้งหลายผู้แสวงหาความรู้ ผู้มีความสงสัยเป็นเครื่องอยู่  กับผู้ที่สงสัยแล้ว แม้จะตอบและอธิบายอย่างไร หากไม่เห็นเอง ก็ไม่เชื่ออยู่ดี  แต่กับผู้ที่เชื่อแล้ว แม้ไม่ต้องพูดอะไร ก็เห็นด้วยแล้ว  อันนี้เล่าไว้ให้ประดับความรู้นะ ไม่ได้ให้เชื่อหรือปฏิเสธ

     แดนต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มันมีอยู่ของมัน จะว่าตามศัพท์สมัยใหม่ก็คือ อยู่คนละมิติกันนั่นแหละ มันมีอยู่ของมันนะ แต่ตาเนื้อที่หยาบของคนธรรมดาไม่สามารถมองเห็นได้ ที่มองไม่เห็นนั้นจะเปรียบเทียบให้ฟังนะ ตาเนื้อเรานั้นรับแสงได้เป็นปกตินั่นแหละ แต่ประสาทตาหรือตัวรับรู้ผ่านตานั้นมันหยาบ หมายถึงรับภาพได้เฉพาะที่หยาบ ๆ (ที่อยู่ในมิติเดียวกัน) ภาพที่ละเอียดเล็ก ๆ กว่านี้ มันรับไม่ได้ เปรียบเหมือน เราเอามุ้งลวดไปกรองน้ำ ดักฝุ่นในน้ำ ตาของมุ้งลวดก็กรองได้เฉพาะเม็ดฝุ่นที่ใหญ่กว่าตามันเท่านั้น ส่วนเม็ดฝุ่นที่เล็กกว่า หรือกระทั่งน้ำ มันหลุดลอดออกไปหมด มันจับเอาไว้ไม่ได้ ตาเนื้อเราก็เช่นกัน  นอกจากเราจะสร้างประสาทตาที่ดีกว่าเดิม กรองภาพได้ละเอียดกว่าเดิม (บางทีเรียกว่าตาทิพย์) ขึ้นมาแล้วใช้ประสาทตานั้นมองดูจึงจะเห็น อันนี้เป็นการเปรียบเทียบนะ อย่าถือเป็นจริงเป็นจังไป

     แต่ที่เรามองเห็น สัมผัสได้ (ซึ่งพระท่านก็บอกว่ามีอยู่) ก็คือ แดนมนุษย์ และ ดิรัจฉาน มีมิติแห่งความหยาบอันเดียวกัน จึงมองเห็นและสัมผัสกันได้ นี่แค่สองแดนเท่านั้นนะโลกยังแน่นขนาดนี้  หากแดนอื่น ๆ มาอยู่ในมิติเดียวกันอีกสงสัยคงแย่แน่ ๆ ธรรมชาติเขาสร้างของเขามาดีแล้ว เขาเป็นของเขาดีแล้ว... นี่วรรคนี้เพียงแต่จะบอกว่า เมื่อมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานมีอยู่จริง แดนอื่น ๆ ก็น่าจะมีอยู่จริงเหมือนกัน


    บางคนอาจเคยสงสัยว่า เอาอาหารให้ผีกิน ผีกินแล้วทำไมอาหารนั้น ๆ ยังเหลืออยู่ ไม่หมดไป ตกลงผีมากินหรือเปล่า ? ...หากเรายังมองไม่เห็นผี ผีมากินหรือไม่มากินเรามิอาจรู้ได้ (เอ้...ตาพงษ์กับตาหยอย อย่าหัวเราะสิ) เพราะมองด้วยตาเนื้อ ยังไงก็ไม่ทราบอยู่ดี กับข้อสงสัยนี้ ขออธิบายตามความเข้าใจของข้าพเจ้านะ... วัตถุต่าง ๆ นั้น มันมีหลายมิติในตัวมันเอง ..อธิบายยากเหมือนกันเนอะ..เอาเป็นว่า หากผีมากิน ก็กินเฉพาะส่วนที่เป็นมิติของเขาเท่านั้น สมมติเอาหัวหมูไปถวายผี ผีมากินหัวหมูในส่วนที่เป็นมิติของผี แต่ส่วนที่เป็นมิติของภพเรานั้น มันกินไม่ได้ มันจึงคงเหลือให้เราเห็นอยู่ เปรียบเสมือนแบตเตอรี่น่ะนะ เราใช้ไฟในแบตฯหมดแล้ว แต่ก้อนแบตฯก็ยังเหลืออยู่ หากเรามองแค่ด้วยตาอาจเห็นว่าก้อนแบตฯยังอยู่ (เอ้า ต่อให้จับ ให้ลูบคลำ ให้ดม..เลยก็ได้) ไม่รู้หรอกว่าไฟในแบตฯ มีอยู่หรือไม่ เหลืออยู่เท่าไหร่ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อนำแบตฯไปใช้กับมือถือที่เข้ากันได้เท่านั้น  อันนี้อธิบายเปรียบเทียบนะ มันไม่เหมือนกันนะ

    แดนนรก อยู่ที่ไหน แดนเปรต อยู่ที่ไหน ไม่ต้องอยากรู้ ไม่ต้องอยากไปเที่ยวฮันนี่มูน ไม่ต้องอยากไปพักตากอากาศเลยนะ มันไม่สวยงามหรอก (แต่ถ้ามีทัวร์ไปเที่ยวก็คงดีเหมือนกันเนอะ แค่ผ่านเฉย ๆ น่ะนะ) ว่ากันตามตำรานั้นแดนนรก มีหลายขุม ขุมใหญ่ ๆ 8 ขุม ขุมเล็ก ๆ ที่เป็นบริวารอีกมากมาย  แต่ทุก ๆ ขุม ไม่น่าไปอยู่หรอกนะ อย่าอยากไปอยู่นะ รายละเอียดไม่ขอเล่าถึง เอาเป็นว่า มันเป็นแดนแห่งความทุกข์ เป็นแดนสำหรับคนทุกข์ (ไม่ใช่คนจนนะ) คนที่ยึดความทุกข์ไว้เป็นอารมณ์ตอนตายจึงมักมาอยู่อาศัย ก็ชอบอมทุกข์ บริโภคทุกข์ เสวยทุกข์นักนี่ (ไม่ใช่รู้ทุกข์นะ เพราะถ้าทุกข์แล้วรู้ทุกข์ ไม่ตกนรกนะ) เมื่อตายแล้ว จึงต้องมาบริโภคกันต่อที่นรกนี่แหละ

     ใจเรา เมื่อเสวยอารมณ์ทุกข์ (คำว่าทุกข์นี้ เป็นทุกข์ทางใจ ไม่ใช่ทุกข์ทางกาย) พูดง่าย ๆ ก็คือใจมันเป็นทุกข์นั่นแหละ แสดงว่าใจในขณะนั้นตกนรกอยู่ ทุกครั้งที่เราทุกข์ใจ ใจเราจะตกนรก แต่กายเรายังไม่ไป หากสังเกตดีดีจะเห็นนะ นั่นแสดงว่าเราไปทัวร์นรกแล้วล่ะ มันเป็นความรู้สึกทางใจนะ ใจทุกข์คือใจตกนรก (แต่ใจที่รู้ทุกข์ เข้าใจทุกข์ ไม่ตกนรก)


    ในหน้าก่อนนี้ บอกว่าโทสะ นำไปสู่นรก เอะ ไฉนแค่ทุกข์ใจก็บอกว่าใจตกนรกเล่า ทุกข์ใจเกี่ยวอะไรกับโทสะ?

    ตอบแง้ม ๆ  แบบลึก ๆ ว่า ตามธรรมดาเมื่อคนเราทุกข์ใจ จะมีโทสะกิเลสเจือปนอยู่ด้วย ไม่เป็นสมุนตัวเป้ง ๆ ก็เป็นตัวเล็ก ๆ ล่ะ แต่จะมีเจือด้วยทุกครั้ง อย่างเช่นสมมตินะ มือถือหาย เสียดาย ทุกข์ใจ ความโมโห เกิดตามมา จะโมโหตัวเองหรือคนอื่นก็เถอะ หรือเป็นสมุนตัวน้อย ๆ เช่น หงุดหงิด ก็มักจะมีอยู่ด้วย  ลองสังเกตดูนะ ง่าย ๆ คือ ความรู้สึกขัดข้องใจ คับแค้นใจ นั่นแหละคืออาการหนึ่งของโทสะล่ะ (แง้มแค่นี้พอเนอะ)

     หากเราตายไปในตอนที่ใจกำลังเสพเสวยความรู้สึกนั้นพอดี ยึดอารมณ์ทุกข์นั้นไว้พอดี ซึ่งเป็นสภาวะหรือภาวะใจแบบเดียวกับสัตว์นรก ไอ้ภาวะใจแบบนี้แหละจะนำผู้ตายไปยังนรก (มันพาไปจริงๆ นะ ... เลียนแบบสมรัก..ไม่ได้โม้..)


    (แต่สำหรับผู้มีสติดี รู้ทันจิต จะรู้ทันใจทุกข์ เมื่อรู้ทันก็ไม่ยึดทุกข์ไว้ แต่จับตัวรู้ทุกข์นั้นมาเป็นอารมณ์แทน จึงไม่ตกนรก )

    พูดถึงอารมณ์ หรือความรู้สึกที่เราเสพเสวยเนี่ย ว่ากันว่า อารมณ์โกรธ เป็นอารมณ์ของยักษ์ อารมณ์ทุกข์ใจเป็นอารมณ์ของสัตว์นรก อารมณ์เสียใจเป็นอารมณ์ของผี อารมณ์ริษยาเป็นอารมณ์ของอสุรกายบ้างมารบ้าง อารมณ์ละโมบเห็นแก่ตัวเป็นอารมณ์ของเปรต อารมณ์ที่ไม่รู้บาป บุญคุณโทษ (คือสติสัมปชัญญะยังไม่ตื่น) เป็นอารมณ์ของสัตว์ดิรัจฉาน (อันนี้พูดตามประสาชาวบ้านนะ อย่าเอาไปเทียบกับตำรานะ)

    ดังนั้นลองมาดูอีกทีซิว่า ตอนนี้ เราเสวย (ไม่ใช่ราชาศัพท์นะ) อารมณ์แบบใดอยู่ กายเป็นมนุษย์ แต่ใจเราเป็นอะไรอยู่

    ไม่ต้องพาใจไปฮันนี่มูน ไม่ต้องไปตากอากาศดอกนะ ไอ้แดนนรก เปรต อสุรกายนั่นน่ะ
บันทึกการเข้า
LadyBamboo
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 402

« ตอบ #2 เมื่อ: 03 พฤศจิกายน 2549, 10:31:27 »

สาธุค่ะท่าน....
ไม่ห่างวัดห่างวาได้เหมือนเดิมเลยนะเนี่ย
แล้วห่างพิณห่างแคนมั่งไหมเนี่ย.....[/
size]
บันทึกการเข้า

As long as you wish beautiful, you will be beautiful!
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2549, 16:41:57 »

คุยกันสบาย ๆ เรื่องเปรต

    เปรตเนี่ย บางคนอาจจะเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ตัวสูง ๆ ผอม ๆ ผมยาวรุงรัง บ้าง ท้องใหญ่ ปากเล็กเท่ารูเข็มบ้าง และอื่น ๆ อีกมากมายตามแต่ใครจะเคยได้ยินได้ฟังมา ในตำราเองก็จำแนกเปรตไว้เยอะแยะอยู่ ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้  Species ของเปรตมีมากมายจริง ๆ ก็มันอยู่ที่กรรมเก่ามันนี่ รูปร่างและการเสวยกรรมเสวยทุกข์จึงต่างกันออกไป ดูแต่สัตว์เถิดว่ามีไม่รู้กี่ชนิดต่อกี่ชนิด.. แต่ที่เหมือนกันคือ เป็นเปรตเพราะโลภะ และได้รับทุกข์ ทรมาน

     ขอเล่าเรื่องสมัยเมื่อข้าพเจ้าบวชให้ฟัง ฟังเป็นนิทานนะ

     วันหนึ่ง เมื่อฉันเช้าแล้ว มีพระบางรูป เอานมติดมือไปเยอะรวมถึงขนมและมาม่าด้วย แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็เปรยขึ้นว่า “เห็นเปรตไหม นู่น หอบของพะลุงพะลังอยู่นู่น”

     ข้าพเจ้าก็เข้าใจความหมายแห่งคำพูดว่า ที่ว่าเปรตนั้น ยังไม่ใช่ผีเปรตแบบที่ตายไปแล้ว แต่เป็นเปรตด้วยใจ ใจเปรตสิงอยู่ในกายมนุษย์ เนื่องเพราะพระบางรูป เกิดความโลภในอาหารบิณฑบาต อาจคิดว่า ก็ข้าฯบิณฑ์มาได้ใครอื่นอย่าได้มาชุบมือเปิบ เกิดการหวงของบ้าง บางรูปอาจไม่หวงของ แต่อยากสะสมไว้กินในคราวหน้า อารมณ์ใจหรือทิฏฐิเหล่านี้มาจากมูลกิเลสคือโลภะ หรือจะว่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นลูกสมุนของโลภะ ตัวนี้แหละที่เป็นเปรต หากใครก็ตามตายไปด้วยอารมณ์ใจแบบนี้ ก็จะไปเกิดเป็นเปรตทันที

     ครูบาอาจารย์ท่านเป็นผู้มีตาดีแล้ว  การมองคนของท่านไม่ใช่มองแค่อาการทางกายเท่านั้น แต่ท่านมองลึกล้วงเข้าไปถึงใจคนนู่น ดังนั้นเมื่อท่านบอกว่าพวกนั้นเป็นเปรต ก็คือใจเป็นเปรต ไม่ใช่อาการหรือกิริยาทางกายที่ถือเอาของมากมาย เพราะบางคนที่ถือเอามากมายก็มีอยู่ แต่มิได้ถือเอาด้วยใจโลภ ถือเอาด้วยใจเมตตาต่อแขกผู้จะมาว่าจะได้มีของกิน ไม่ได้หวังเอาไปกินเอง ใจคนผู้นั้นก็ไม่ใช่ใจเปรต แต่เป็นใจบุญ นั่นคือ หากถือเอาด้วยความโลภแม้จะเป็นนมเพียงกล่องเดียว ก็คือใจเปรต ความต่างกัน ก็อยู่ที่ ใจ ผู้นำพาให้กายกระทำอะไรต่อมิอะไรนั่นเอง

     สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชัดเจนของเปรตอันเนื่องมาจากโลภะคือ ท้องใหญ่ ปากเล็ก (ไม่ใช่เปรตทุกตนนะ) ไอ้ประเภทท้องใหญ่ปากเล็กนี้ ว่ากันว่า ตอนเป็นคนเนี่ย ชอบโกงกิน ได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ ความอยากได้แบบอิ่มไม่เป็นหรือละโมบนี่แหละ สำคัญนัก คิดดูนะ คนพวกนี้ยิ่งได้มากก็ยิ่งอยากได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หามาใส่ปากใส่ท้องอย่างเดียว ท้องก็แค่เนี้ย แต่อิ่มไม่เป็น ไอ้ที่อิ่มไม่เป็นน่ะ มันเป็นกิเลส เป็นโลภะ เมื่อตายแล้วใจยังมีโลภะตัวนั้นอยู่อย่างเด่นชัด จึงต้องไปเกิดเป็นเปรต มีปากเล็ก ๆ ประมาณว่า ดูดกินเส้นหมี่ทั้งปีก็ไม่เต็มท้อง มันเป็นความทุกข์ ความทรมานอย่างหนึ่งนะ อยากกินแต่กินไม่อิ่มเนี่ย ไอ้ตอนเป็นคนอยู่ มันไม่อิ่มเหมือนกันนั่นแหละ แต่ตอนนั้น มันมองไม่เห็นทุกข์ เพราะความไม่อิ่มนั้น เป็นความไม่อิ่มทางใจ พอไอ้ตอนเป็นเปรตนี่สิ ไม่อิ่มทั้งกายและใจ จึงเข้าใจชัดขึ้นว่า ความไม่อิ่มเนี่ยเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะความหิวนั่นแหละ

     อิ่มเมื่อไหร่ก็สุขเมื่อนั้น พอเมื่อไร ก็สุขเมื่อนั้น

     จะหาอะไรกันให้มากมาย นี่ไม่ได้สอนให้ขี้เกียจนะ ถ้าหาได้มากโดยสุจริตไม่เบียดเบียนใคร ไม่มีใจละโมบน่ะ ไม่ใช่ใจเปรตหรอกนะ คนแบบนี้เขาเรียกว่า “เศรษฐี” แปลว่าผู้ประเสริฐ มีเงินมากเฉย ๆ ยังไม่ใช่เศรษฐีนะ เป็นแค่คนรวยหรือคนมีตังค์ ต้องมีใจประเสริฐหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตด้วย จึงเรียกได้ว่าเศรษฐี ปัจจุบันนี้ความหมายมันถูกแปลงไปซะแล้ว มีเงินมาก ๆ ก็ได้เป็นเศรษฐี “เสฏฐีเปโต – เศรษฐีใจเปรต” น่ะสิ ไม่ได้ใช้คำแรงนะ คำพระว่าอย่างนี้จริง ๆ ปัจจุบันก็มีคนประเภทนี้เยอะแยะดังที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจกันนั่นแหละ  แต่ไม่ต้องไปรังเกียจเขานะ รังเกียจกิเลสในใจเขาก็พอ และต้องไม่ลืมมองย้อนดูในใจเราด้วยนะ


เห็นเขาทำไม่ดี รู้ว่าไม่ดีแล้วอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อย่าลอกเลียนแบบ คนอื่นเขาทำ(ชั่ว)ได้เราก็ทำได้ อย่าคิดอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนั้น แสดงว่าเรากำลังตามใจกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า โมหะ นั่นเอง
บันทึกการเข้า
LadyBamboo
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 402

« ตอบ #4 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2549, 16:46:47 »

ท่านอาบัติ เราจะปรินท์ให้มารดาเราอ่านก่อนนะ ขอบคุณมากที่มาเล่าให้ฟัง
บันทึกการเข้า

As long as you wish beautiful, you will be beautiful!
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2549, 16:52:18 »

ได้เลย  ไม่มีลิขสิทธิ์หรอกเด้อ

นี่แสดงว่า หญิงไผ่ ก็ชอบธรรมะงั้นรึ

ก็คง แหงล่ะนะ ถึงได้มีห้องธรรมะเอาไว้
บันทึกการเข้า
LadyBamboo
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 402

« ตอบ #6 เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2549, 17:22:12 »

ตอบท่านอาบัติ

อืมม์ ชอบธรรมะไหม?
 
เราว่า ธรรมะเป็นวิถีชีวิต นะ
ธรรมะ ทำให้เรารอดพ้นอะไรหลายๆ อย่างมาจนวันนี้

สมัยก่อนนับว่าเป็นสาวเปรี้ยวใกล้วัด แฮ่.....นิยามเอง เหอ เหอ

แต่สมัยนี้....ห่างวัดซะแล้ว
อัน บุญยกิริยาวัตุ 10 ประการนั้น ตอนนี้เหลือไม่กี่ประการแล้ว
ได้แต่ทำบุญ ทำทานตามอัตภาพเพราะเวลาไม่เอื้อเท่าไหร่
ใส่ซองผ้าป่า กฐิน ถวานสังฆทานไปเรื่อยเล็กๆ น้อยๆ ตามกาล

มีช่วงที่ตั้งท้องนี่แหละ ที่ขยับจากทาน มาเป็นศีล เป็นภาวนามั่ง
ได้อยู่ใกล้ธรรมะมากขึ้น
เพราะเปิดธรรมบทประกอบดนตรีให้ลูกฟังแทนเพลงของโมสาร์ท บีโธเฟน
สวดพาหุงฯ ให้ฟังแทนร้องเพลง
อันนี้พี่แอ ดอกเตอร์นราพร ที่ซีมะโด่งนี่แหละแนะนำมา
พี่เค้าบอกว่า จะช่วยให้เด็กจิตใจสงบ เลี้ยงง่าย
ด้วยความอยากให้ลูกเลี้ยงง่ายตามธรรมเนียมคนขี้เกียจอย่างเรา
เลยทำให้เราได้สวดมนต์บ่อยขึ้น
แต่ตอนหลังมา ตามวิสัยคนขี้เกียจอีกแล้ว เลยสวดอัดเทป ให้ลูกฟังแทน
เพราะเราเริ่มสวดนานๆ แล้วเหนื่อยอ่ะค่ะ

เราเปิดห้องธรรมะ ตาม request ของชาวซีมะโด่งแหละ
เพราะในนี้ หากมารวมตัวกันจริงๆ มีแต่สาธุชนเต็มไปหมด
แต่ตอนนี้ พี่ๆ ท่าทางจะหาทางมายังไม่เจอ
เพราะว่าเว็บบอร์ดใหม่นี้ เห็นพี่ๆ สาธุชนทั้งหลายบอกว่า ทางเข้ามันซับซ้อนเหลือเกิน
เราก็ยังไม่รู้ว่า เราจะแผ้วถางทางให้มันสะดวกโยธินได้อย่างไร
กำลังพิจารณา...................จ้ะ.....
บันทึกการเข้า

As long as you wish beautiful, you will be beautiful!
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 07 พฤศจิกายน 2549, 11:24:33 »

โมหะ จอมแห่งความมืด

    ที่เคยเล่าไว้ว่า โมหะ นำไปสู่ดิรัจฉาน ก็ไอ้ตัวไม่รู้ความนี่แหละ มันชักใยให้เราหลงทำตามมัน มันมากับความมืดจริง ๆ …

อะไรเอ่ยมันมากับความมืด?

...ติ๊กต็อก..ติ๊กต็อก...

ในที่นี้คำตอบไม่ใช่ยุงนะ (คนดำอย่าตกใจ คำตอบไม่ใช่ท่านหรอก) คำตอบทางธรรมะน่ะคือ โมหะ นี่แหละ เป็นคนดีอยู่ดีดี มันมาเมื่อไหร่ ตัดสินใจผิดทุกที (การตัดสินใจเป็นทิฏฐิ—ความเห็น) จริง ๆ แล้ว กิเลสเขาก็ทำตามหน้าที่เขาสุดความสามารถนั่นแหละ ตอนนี้เขาเก่งกว่าเรา เราจึงเป็นทาสเขา (โดยไม่รู้ตัว)

     บางคนน่ะนะหากินอย่างสุจริต สะสมทรัพย์ได้มาก แต่ไม่ค่อยกล้าใช้สอยเอง กลัวจะสิ้นเปลือง ยิ่งสะสมได้มาก ใจก็ยิ่งอยากให้มันสะสมมากขึ้น ๆ แทนที่อย่างน้อยน่าจะนำไปทำบุญทำทานบ้างก็ไม่ทำ นั่นเพราะลูกสมุนของโลภะคือความตระหนี่มาครอบงำ มาบงการ ไอ้อารมณ์แบบนี้น่ะ เจ้าโลภะหรือลูกสมุนยังไม่แรงเท่าไหร่ ที่มาแรงแซงนำก็คือ...


    แอ่น..แอน..แอ้น..

โมหะ นั่นเอง มันช่วยส่งเสริมไม่ให้เราตัดสินใจอย่างถูกต้อง ไม่กล้าใช้สอย ไม่กล้านำมาทำบุญ เก็บอย่างเดียว มีความตระหนี่สิงในใจ (ต่างกันกับการประหยัดนะ) หากตายไปในตอนที่อารมณ์ใจ หรือภาวะทางใจเป็นแบบนี้ ไม่แคล้วต้องไปเป็นดิรัจฉาน (แต่บางทีอาจเป็นยักษ์ เป็นผี ฯลฯ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับภาวะทางใจขั้นสุดท้ายก่อนตาย) และที่สำคัญใจมักเกี่ยวพัน ผูกพันอยู่กับข้าวข้องที่สะสมไว้ได้ เมื่อตายแล้วจึงมักมาเฝ้าของนั้น ๆ  หากเป็นงู ก็มานอนเฝ้าบ้านนั้น หากเป็นผีก็เป็นผีเฝ้าสมบัติ อันนี้ยกตัวอย่างนะ ไม่ใช่แบบนี้ทั้งหมด

     ใจคนที่ไม่รู้ ผิด ถูก ชั่ว ดี บาป บุญ คุณ โทษ ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ดิรัจฉานหรอกนะ เพราะว่าเรื่องคุณธรรมน่ะ สัตว์มันไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรนักหรอก (แต่บางตัวที่ใกล้จะเป็นคนก็พอจะมีอยู่นะ) ดูแต่ไก่สิ พอมีลูก ตอนแรกก็มีความรักลูกดีอยู่หรอก พอลูกโต การแย่งอาหารกันระหว่างแม่ลูก เป็นเรื่องธรรมดา หรือเมื่อลูกโตเป็นหนุ่ม ก็มาเป็นสามี (เซิง) แม่ตัวเอง เป็นต้น การที่สัตว์จะคิดเรื่องคุณงามความดีน่ะมันยากนะ (ขนาดคนบางคนยังยากเลย) เพราะมันหลงอยู่แต่กับการหาอยู่หากิน มีที่อยู่ที่นอน มีอาหารกิน กินอิ่มนอนพักผ่อน หากไม่มีกิน ออกหากิน กินอิ่มนอนพักผ่อน มันเป็นของมันอย่างนั้น คนที่มีใจแบบนี้ จึงถือได้ว่ากายเป็นคนใจเป็นดิรัจฉาน


    ครั้งหนึ่งตอนที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ ขณะสนทนากับครูบาอาจารย์ ข้าพเจ้าเห็นหมาตัวหนึ่งนอนอยู่จึงหยิบมาเป็นประเด็นคุยว่า

“หมา นี่น่าสงสารเนาะ”

“น่าสงสารน่ะ น่าสงสารอยู่ แต่มันก็สมกับกรรมมันนั่นแหละ ชาติก่อนที่เป็นมนุษย์พระท่านสอนปากเปียกปากแฉะ ให้ทำดี ทำดี ก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ความคิดตนว่าถูกต้อง เลยต้องมาเกิดเป็นหมานี่แหละ”

“แล้วอะไรที่ทำให้มาเกิดเป็นหมาครับ”

“โมหะ ความไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ว่า อะไรคือความดีความถูกต้อง นั่นแหละ เมื่อไม่รู้ และไม่เชื่อฟังพระผู้รู้ ก็เป็นอย่างนี้แหละ”

“แต่ปกติ ทุกคนก็คิดว่าตัวเองรู้แล้ว เข้าใจแล้วนั่นแหละ จึงไม่ได้ถามเพื่อรู้อีก น่ะครับ”

“ไอ้ความรู้ที่ว่า รู้แล้ว เข้าใจแล้ว นั่นน่ะ มันเป็นความรู้ของโมหะ คือกิเลสมันบอกว่ามันรู้ ทั้งทั้งที่ รู้นั่นน่ะ ไม่ถูกต้อง เป็นทิฏฐิหรือความเห็นจากตาคือกิเลส ไม่ไช่รู้เห็นจากตาปัญญา  นี่แหละคนเราก็พลาดเพราะเชื่อกิเลสกันทั้งนั้น”

“ก็สิ่งที่ไม่ดีมันทำง่ายกว่านี่ครับ”

“คนไม่ดี ตามใจกิเลส ก็ทำสิ่งไม่ดีได้ง่าย ทำดีได้ยาก  แต่คนดี ไม่ตามใจกิเลส คือมีความดีอยู่ในสันดานน่ะ ทำสิ่งไม่ดียาก เพราะไม่กล้าทำ ส่วนสิ่งดีดี คนดีทำง่าย เพราะใจมันชอบของมันเอง”


    ดังนั้น เมื่อเรายังไม่มีตาที่สะอาดพอจะเข้าใจถึงอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ  ก็พึงรับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของพระผู้มีตาดีไปก่อน  มิฉะนั้นอาจได้ไปเกิดเป็นสุนัขตัวหนึ่งเข้าสักวันนะครับ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 08 พฤศจิกายน 2549, 11:51:55 »

การเลือกเกิด

    ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้คุยกับอาจารย์เกี่ยวกับการเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านว่า ที่บางคนบอกว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้นั้น ไม่จริงดอก เพราะว่าจริง ๆ แล้วเลือกเกิดได้ การที่เราเกิดเป็นอะไร นั้น เราเลือกเอาเองทั้งนั้น หมายถึงว่า เราเลือกทำกรรมเอาเอง แล้วกรรมนั้น ๆ จะพาเราไปเกิดตามที่เราเลือกไว้อย่างซื่อสัตย์ ไม่เบี่ยงเบนแม้แต่น้อย  

     และท่านยังได้แสดงโดยยกอุปมาชัดเจนว่า เมื่อตายไป จิตเราจะมองเห็นทาง ๗ แพร่งอย่างชัดเจน (ทาง ๗ สายที่เคยอธิบายไปในหน้าก่อน ๆ) และตรงทางเข้านั้นก็มีป้ายบอกยี่ห้อชัดเจนว่า

“ทางนี้ไปนรก”
“ทางนี้ไปเปรต”
“ทางนี้ไปดิรัจฉาน”
ฯลฯ


จิตเราขณะตายเสวยอารมณ์ใดอยู่ (หมายถึงใจเป็นนรก เปรต หรือดิรัจฉานอยู่นั่นแหละ) มันจะเลือกของมันเอง เช่นว่า
“โฮ้ .. ทางไปนรก นี่แหละบ้านเรา นี่แหละแดนแห่งความสุข”
แล้วก็เดินเข้าทางนั้นต่อเมื่อไปถึงนรกจริง ๆ ทราบว่าเป็นแดนแห่งความทุกข์ ก็กลับออกมามิได้แล้ว จนกว่ากรรม(ใจแบบนรก)จะหมดสิ้น

    ซึ่งการเลือกนั้นเป็นการเลือกของกิเลส (ตัวเรา ใจเรา ถูกกิเลสเหยียบหัวเอาไว้ไม่มีโอกาสได้เงยหน้าขึ้นมอง) เหมือนที่เราเคยเลือกทำกรรมต่าง ๆ ตามใจกิเลสนั่นเอง คราวนี้ก็หลงเชื่อกิเลสอีกตามเคย แต่สำหรับผู้ที่ฝึกจิตมาดี ฝึกสติมาดี จะรู้เองว่าทางนั้น ๆ เป็นทางไปที่ไหน แล้วเลือกเอาตามที่ชอบใจ(ตัณหา)

     สำหรับบางคนที่ฝึกจิตมายังไม่ดี สติยังไม่ดีพอ แต่ทำความดีอยู่เนือง ๆ เมื่อตายไป จิตตอนตายเสวยอารมณ์แห่งความดีนั้น ๆ อยู่ มันก็จะเลือกเอาทางมนุษย์หรือทางสวรรค์เองทีเดียว (แต่ไม่รู้ว่าทางอื่น ๆ นอกนี้เป็นอย่างไร เพียงแต่เลือกเอาตามความรู้สึกหรือความทรงจำสุดท้ายขณะตายของตน ซึ่งแตกต่างจากผู้มีสติ)


   (นี่อธิบายมายืดยาวเหมือนกับว่าใช้เวลาเลือกพิจารณานาน  แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้นานแบบนี้ดอก มันเกิดขึ้นแป๊บเดียว ตายปั๊บ เลือกปั๊บ เกิดปั๊บ เลยทีเดียว)

    ดังนั้น พึงระวังจงหนัก เรื่องทิฏฐิและการกระทำตามทิฏฐินั้น ๆ นั้น หากเจือด้วยลูกสมุนของมูลกิเลสอันไหน ก็ถือว่าในขณะบัดนั้น ใจผู้นั้น เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต หรือเป็นดิรัจฉาน และหากตายไปในขณะนั้น ก็จะไปเกิดในที่ที่ใจตอนนั้นเป็นอยู่ (หรือภาษาธรรมเรียกว่า เสวยอารมณ์อยู่)

     คำว่า “ทิฏฐิ” ในที่นี้ แปลว่าความเห็น หมายความว่า การที่เราประเมินหรือตีค่าอะไรก็ตามออกมาว่า ดี ไม่ดี สวย ไม่สวย ถูก ผิด เป็นต้น เช่น เราบอกว่า “เออ..อันนี้สวยดี”  “อันนี้ น่าเกลียด”  “ฉันคิดว่า เธอทำไม่ถูก”  ความคิดที่ว่านี่แหละซึ่งมาจากการวิจัย จากการประเมินของเราแล้ว จะประเมินด้วยความเชื่อหรือประสบการณ์อะไรก็ตาม จัดเป็น “ทิฏฐิ”

     เพื่อเลี่ยงการเกิดในที่ที่ไม่ดี เราควรหมั่นทำความดี เนือง ๆ ขยันฟอกจิต ดูจิตของตนให้ผ่องใส เบิกบาน ให้เสวยอารมณ์แห่งความดีให้มากที่สุด ระลึกถึงบุญให้มากเข้าไว้   สิ่งที่ไม่ดี ความเสียใจ เศร้าใจ ความโกรธ ความละโมบ ฯลฯ หากเกิดขึ้น ควรทำลายเสีย ปล่อยวางเสียให้เร็วเท่าที่จะทำได้ อย่าเสวยอารมณ์ที่เป็นบาปนาน เดี๋ยวจะชิน และติดไปตอนตาย

     ในวันหนึ่ง ๆ เราลองดูจิต ดูใจ ดูอารมณ์ตนเองดูซิว่า ขณะนี้เราเสวยอารมณ์อะไรอยู่ เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต หรือเป็นดิรัจฉาน หรือไม่ แล้วเราจะทราบว่าในหนึ่งวันนั้นใจเรา เป็นสัตว์นรก เปรต หรือดิรัจฉาน เมื่อทราบแล้ว ต้องพยายาม เน้นคำว่า ต้องพยายาม เพื่อขยับใจของเราให้เป็นมนุษย์ ให้เป็นเทวดา ให้ได้และให้คงอยู่นานที่สุด


    พึงตรวจดูจิตของตนเนือง ๆ เพื่อรู้ และปรับปรุงมิให้จิตเสวยอารมณ์ที่ต่ำ
     พึงทำจิตของตนเองให้ผ่องใส เบิกบาน อยู่เสมอ เถิด
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2549, 15:51:51 »

ว่าด้วยอารมณ์ใจ-ใจเปรต

    ในบทก่อนๆ ที่ผ่านมา มักจะพูดถึงอารมณ์ใจ หรือความรู้สึก อยู่บ่อย ๆ ให้หมั่นดู หมั่นสังเกตว่าใจเราตอนนี้ เป็นใจเปรต ใจดิรัจฉาน ใจยักษ์ ใจมาร ใจผี ใจมนุษย์ หรือใจเทวดา ที่พยายามพูดถึงบ่อย ๆ ก็เพราะอยากให้ท่านทั้งหลายรู้ใจตนเอง เข้าใจใจตนเองว่าเสวยอารมณ์ความรู้สึกแบบใดอยู่ จะได้ไม่พาใจตกลงไปสู่ระดับที่ต่ำกว่ามนุษย์

    ใจเปรต เป็นอย่างไร ?

    ใจเปรต เป็นใจที่อยากได้แบบไม่เป็นธรรม อยากได้แล้วไขว่คว้าหามาด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรม ไอ้ความคิดอยากได้แล้วสรรหาวิธีได้มาแบบไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรมนั่นแหละ คือใจเปรต  (เป็นโลภะจิต)

     ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น มีเศรษฐีใจบุญคนหนึ่ง ฉลองครบรอบวันเกิด นำเงินมาแจกชาวบ้านคนละ ๑๐๐ บาท ชาวบ้านต่างก็เข้าแถวมารับเงิน ชาวบ้านคนที่มารับเงิน ๑๐๐ บาท นี้ มารับด้วยความอยากได้ก็จริง แต่เป็นการได้มาโดยธรรม ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เพราะเจ้าของเงินเขาเต็มใจให้ทุกคน คนละ ๑๐๐ บาท เท่า ๆ กัน ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว จึงยังไม่เรียกว่าใจเปรต เพราะรับมาโดยธรรม รับมาโดยถูกต้อง

     แต่หากในกลุ่มคนเหล่านั้น บางคน หัวใส ฉลาดแกมโกง เกิดอยากได้มาก คิดว่า “เราควรเวียนรับซ้ำอีกสักครั้ง ก็จะได้ ๒๐๐ บาท “ แล้วก็ทำตามที่คิด ไอ้ความคิดแบบนี้ ใจที่คิดแบบนี้แหละ เรียกว่าใจเปรต เพราะไม่ได้รับมาโดยธรรม โดยถูกต้อง เป็นการเอาเปรียบคนอื่นในกลุ่ม

     หรืออีกกรณีหนึ่ง สมมติเศรษฐีนั้นต้องการแจกเฉพาะแก่คนในหมู่บ้านตนเท่านั้น คนละ ๑๐๐ บาท แต่หากมีใครก็ตามที่ไม่ได้เป็นคนหมู่บ้านนั้น อยากได้เงินแล้วปลอมปนเข้ามา รับเงิน ๑๐๐ บาทไป เท่าๆ กับคนอื่นนั่นแหละ การรับเงินนั้น ก็ไม่เป็นธรรม เป็นการหลอกลวงรับเอา ใจของเขาคนนั้น ก็คือใจเปรต เช่นกัน

     เห็นไหมล่ะ เป็นเปรตน่ะเป็นง่ายนิดเดียว แม้แต่การอยากได้แล้วลักขโมยเอามา ใช้มายาล่อลวงเอามา ก็คือใจเปรตนะ เพราะได้มาโดยไม่ชอบธรรม

     คนบางคนหรือทายกทายิกาที่เข้าวัดบ่อย ๆ น่ะ  บางคนเข้าแล้วเกิดบุญ ได้ภาวะใจมนุษย์บ้าง ได้ภาวะใจเทวดาบ้าง แต่บางคนกลับเกิดบาป เข้าวัด แต่ได้ภาวะใจเปรต หลายคนทีเดียวที่เป็นเปรตเข้าวัด บางคนนะ ตอนแรกเข้าวัดก็เกิดบุญดีอยู่หรอก แต่ไป ๆ มา ๆ เมื่อพบว่าเข้าวัดแล้ว มีอาหารดี ๆ กว่าที่บ้านให้กิน มีขนมมากมายให้กิน แล้วคิดว่า “เราจะไปวัด รับเศษพระ กินอาหารอร่อย ๆ กินผลไม้อร่อย ๆ” แล้วทำเป็นนำกับข้าวแบบที่บ้านซึ่งตนไม่อยากกินไปถวายพระ แล้ว นั่งรอรับเศษพระ ไอ้ความคิดแบบนี้แหละ ใจเปรตล่ะ (แต่หากไม่ได้คิดแบบนั้น ไม่ได้มีใจคาดหวังจะรับเศษ คือไม่ได้รับเศษเพราะโลภว่างั้นเถอะ แม้จะรับเศษพระ  ก็ไม่ใช่ใจเปรตนะ)

     ในขณะที่บางคน นำอาหารที่บ้านตนเหมือนกัน (แม้จะเป็นแค่ปลาร้า หรือเกลือ) แต่เอาไปถวายพระด้วยใจคิดอยากทำบุญ อยากถวายทาน ไม่ได้คิดจะรอรับเศษพระแต่อย่างใด ใจของผู้นี้ ไม่เรียกว่าใจเปรตนะ แต่เป็นใจบุญใจกุศล


    ความต่างกัน อยู่ที่ใจนะ ทุกอย่างสำคัญที่ใจ พระท่านมองคนที่ใจ คนเราเองต่างหากที่ชอบมองคนที่ภายนอก

    ในอีกหลาย ๆ ตัวอย่างที่ท่านทั้งหลาย จะได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ เช่น การขายของแบบหลอกลวง การคดโกง ฉ้อฉล หลอกลวงด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามอันเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของที่ตนต้องการ ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากใจเปรต การทำนาบนหลังคน เกิดจากใจเปรต

    อย่าทำนาบนหลังคน

    ในวันหนึ่ง ๆ ขอให้สำรวจดูใจตนเอง หากพบว่า แว็บนึงที่ใจเปรตเกิดขึ้น ก็ควรสกัด สลัดมันทิ้งไปเสีย ให้เป็นแค่ความคิด อย่าให้มันแสดงผลออกมาทางกาย ทางวาจา หรือพอรู้ตัวว่าคิดแล้วก็อย่าได้ลงมือทำ แค่นี้ก็สกัดทางไปเป็นเปรตจริง ๆ ได้แล้ว
บันทึกการเข้า
weerapong_rx
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #10 เมื่อ: 14 มกราคม 2550, 08:45:43 »

ขอบคุณมากๆ ครับคุณอาบัติ2535 ผมอ่านไปแล้วสองตอน เขียนเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างดี ทำให้ผมได้ย้อนกลับมาดูอารมณ์ตัวเองแล้วครับ แต่ก่อนผมไปวัดทำสมถกรรมฐาน ตอนอยู่วัดนี่ก็ดีมากครับไม่พูดกับใครอยู่กับใจตนเองรู้ทันอารมณ์ แต่พอออกมานอกวัด กลับไปทำงาน เจอโน้นเจอนี่ ยิ่งตอนนี้เรียนเหนื่อยก็เลยห่างพระธรรมไปมาก ได้อ่านบทความของคุณ (น่าจะเป็นพี่ผมนะครับ) แล้วทำให้เห็นความสำคัญในการจับและคุมอารมณ์ตัวเองให้อยู่หมัด อย่าได้ทำให้มันทุกข์ไปกว่าเดิม จริงไหมครับ เดี๋ยวผมจะแวะมาอ่านเรื่อยๆ นะครับ ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 18 มกราคม 2550, 08:57:39 »

ว่าด้วยใจ ยักษ์ มาร และผี

     ใจยักษ์  ใจมาร ใจผี เป็นอย่างไร ?

    ยักษ์ แปลตามศัพท์ว่า ผู้ที่คนบูชา ผู้ที่คนเซ่นไหว้ หรือผู้ที่คนเซ่นสรวงบูชา
     ยักษ์ แปลตามภาษาชาวบ้านว่า ผู้หน้าบึ้ง ผู้หน้าบูด ผู้หน้าเบี้ยว ผู้หน้างอ ผู้หน้าบูดบึ้งขมึงตึง

     ยักษ์(ตัวจริงมีอยู่) แม้ว่าเราจะไม่เคยเห็นตัวจริงเขา แต่ก็เป็นตัวแทนหรือสื่อถึงความดุร้าย หน้าตาน่าเกลียด

     การที่หน้าตาน่าเกลียด ก็เพราะ ภาวะใจของยักษ์ เต็มไปด้วยความโกรธ ความขุ่นเคือง ไอ้ความโกรธนี่แหละส่งผลให้ มีหน้าตาอัปลักษณ์ น่าเกลียด หากไม่เชื่อ ลองส่องกระจกดูหน้าตัวเองสิ ว่าเวลาโมโห หน้าตาเป็นเช่นไร หรือไม่ก็สังเกตดูคนอื่นเวลาโมโห ว่าหน้าตาเขาเป็นเช่นไร หน้าบูดบึ้งหรือไม่ น่ากลัวหรือไม่ อยากเข้าใกล้หรือไม่ อยากคุยด้วยหรือไม่

     ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ อยากคุย อยากฟัง คนที่กำลังมีใจยักษ์หรอก จริงมั๊ย

    ดังนั้น อย่าให้ใจเราเองซึ่งเป็นมนุษย์อยู่ กลายเป็นใจยักษ์ไปซะล่ะ แม้นเราเผชิญกับคนใจยักษ์ เราก็อย่าเป็นยักษ์ตอบนะ

    มาร แปลตามศัพท์ว่า ผู้ทำให้ผู้อื่นตาย (จากความเจริญ)
     มาร แปลตามภาษาชาวบ้านว่า ผู้กีดขวางความเจริญของผู้อื่น ผู้ริษยาผู้อื่น

     มาร เป็นตัวแทนหรือสื่อถึงความริษยา ไม่อยากให้ใครหน้าไหนมาดีกว่าตนเหนือกว่าตน
     คนที่เห็นผู้อื่นได้ดี แทนที่จะชื่นชมยินดีกับเขา กลับเกิดความริษยา นั่นแหละคือคนใจมาร
     คนที่เห็นผู้อื่นเหนือกว่าตน แล้วริษยาเขา อยากให้เขาฉิบหายไป พยายามกีดขวางทางเจริญของผู้อื่น นั่นแหละคือคนใจมาร

     ใจมาร เป็นใจที่ไม่เจริญ เพราะภาวะใจมันเองก็ขวางความเจริญอยู่แล้ว

     จึงควรเปลี่ยนใจมารซึ่งเป็นความริษยา ไปเป็นใจพรหมซึ่งคอยสนับสนุน พลอยยินดีกับคนอื่นดีกว่า

     ใจผี
     ผีในที่นี้ หมายถึง ภูตผี หรือ อสุรกาย เป็นภพภูมิมืดที่อยู่คนละมิติกับภพภูมิมนุษย์

    ภูตผี เป็นวิญญาณ(ภาษาชาวบ้าน) ของคนหรือสัตว์ที่ตายแล้ว แต่ ยังไม่ไปผุดไปเกิดในภพใหม่มีนรก เป็นต้น (ความจริงเกิดแล้ว คือเกิดเป็นผี ) เพราะ การยึดติด หรือยึดมั่นในภพเดิมหรือภาวะใจเดิมรุนแรงมาก (ภาวะทุกข์ใจ) ไม่สามารถถอดถอน หรือปล่อยวางออกได้ ภาวะใจนั้น จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก (ภูต แปลว่า เป็นแล้ว ๆ ๆ หรือ มีแล้ว ๆ ๆ) เขาตายที่ไหน วิญญาณ (ที่ถูก ต้องเรียกว่าภูต) เขาจึงมักวนเวียนอยู่แถวนั้น บริเวณนั้น ที่เคยผูกพัน ที่ทรงจำได้ คอยรับกรรมจากภาวะใจเดิม ซ้ำไปซ้ำมา จนกว่าจะสลัดภาวะใจนั้นลงได้ ภูต นั้นก็จะตายหรือจุติ ไปสู่ภพอื่น (อาจเป็น นรก เปรต หรือมนุษย์ แล้วแต่กรรมหรือภาวะใจตัวต่อมาจะให้ผล)

(ความจริงแล้ว ทุกภพ เหมือนกันหมด เช่น มนุษย์ ตราบใดที่ยังยึดภาวะใจมนุษย์อยู่ ก็ยังเป็นมนุษย์ตราบนั้น เมื่อใดที่สลัดภาวะใจมนุษย์ออกไป เมื่อนั้น ก็จะเข้าสู่ภพใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าใจจะเข้าไปยึดภาวะใจแบบใดเป็นลำดับต่อมา ผี เปรต ดิรัจฉาน เทวดา เป็นต้น ก็เหมือนกัน)

     อสุรกาย ก็เป็นผีเหมือนกันกับ ภูตผี คืออยู่ในภพภูมิเดียวกัน ต่างกันที่ชื่อเรียก เพราะภาวะใจในรายละเอียดต่างกันนิดหน่อย (เหมือนมนุษย์ที่มีหลายเผ่าพันธุ์ หรือดิรัจฉานที่มีหลายเผ่าพันธุ์ นั่นแหละ) อสุรกาย แปลว่าพวกที่ไม่กล้า

     ภาวะใจผี เป็นใจที่อมทุกข์ ประกอบด้วยความโศกเศร้า เสียใจ กลัดกลุ้มใจ ตรอมใจ ซึ่งขณะเป็นมนุษย์อยู่ เสวยอารมณ์นี้ ก็ทุกข์มากมายอยู่แล้ว หากตายไปตอนนั้นพอดี เขาก็จะเสวยอารมณ์นั้นต่อในอัตภาพที่เราเรียกว่าผี

    การอมทุกข์ ต่างจากการรู้ทุกข์นะ การอมทุกข์คือเมื่อทุกข์แล้ว เอาใจเข้าไปนอนแช่ในกองทุกข์ เหมือนคนนอนแช่ในน้ำคร่ำ แต่การรู้ทุกข์คือเมื่อทุกข์แล้ว แค่รู้ว่ามีทุกข์ ไม่เอาใจไปนอนแช่ในทุกข์ เหมือนคนมองดูน้ำคร่ำอยู่ห่าง ๆ ไม่เอาตัวลงไปนอนแช่ นี่แหละ มันต่างกันแบบนี้

     ใจรู้ทุกข์ เป็นใจพระ
      ใจอมทุกข์ หรือแช่ทุกข์ เป็นใจผี


     บางคน พอประสบทุกข์มาก ๆ หาทางออกไม่ได้ ตัดสินใจหนีทุกข์นั้น โดยการฆ่าตัวตายก็มี คิดว่าจะหนีทุกข์ได้ แต่ความจริงแล้ว มันหนีไม่ได้หรอก หนีทุกข์ของมนุษย์ได้ แต่ก็ต้องทุกข์ต่อตอนเป็นผี ก็ทุกข์อันเดิมนั่นแหละ เคยร้องไห้ฟูมฟายก่อนตาย เป็นผีแล้ว ก็เอาแต่ร้องไห้เหมือนเดิม หาใครปลอบใจก็ไม่ได้ ยิ่งทุกข์กว่าเดิมอีก

     (บางคนที่นับถือผี บางคนที่อยากเป็นผี แม้ใจไม่อมทุกข์ เมื่อตายแล้ว ก็เกิดเป็นผีได้เช่นกัน เพราะใจมันอยากเป็น ใจมันติดความเป็นผี เกาะข้องความเป็นผีไว้)

     ภาวะใจต่าง ๆ ดังกล่าวมา เป็นภาวะใจที่นำไปหาภพภูมิที่ไม่ดี ที่เป็นทุกข์ ตราบใดก็ตามที่เรายังสลัดภาวะใจแบบนั้นไม่ได้ (คือไม่สามารถจะลืมมันได้ว่างั้นเถอะ) เราก็ยังไปเกิดใหม่ไม่ได้ตราบนั้น

     แต่หากเราพยายามฝึกดูใจตน รู้ใจตน อยู่เสมอแล้ว พอเราไปติดหรือเสพเสวยภาวะใจที่ไม่ดีเข้า ก็จะรู้ทันมันได้เร็ว และตัด สลัดมันออกได้เร็ว การเสวยทุกข์เพราะความไม่รู้ตัวนั้น ก็จะจบเร็ว
 
    ความโกรธ ความไม่พอใจ ความริษยา ความทุกข์โศก เป็นตัวทำใจให้หมองคล้ำ หมองเศร้า เป็นภาวะใจด่างดำ ไม่ใช่ภาวะใจมนุษย์ ขอให้พยายามขจัดมันออกเสีย อย่าให้มันสิงอาศัยอยู่ในใจเรานาน เดี๋ยวมันจะชิน นะ
บันทึกการเข้า
weerapong_rx
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #12 เมื่อ: 22 มกราคม 2550, 02:05:02 »

ขอบคุณหลายๆ เด้ออ้ายคับ อย่าลืมมาเล่าให้ฟังอีกเด้อคับ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 22 มกราคม 2550, 12:47:05 »

ว่าด้วยความละอายใจ

     สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ และเทวดา มีธรรมะหลายอย่างที่แตกต่างกัน คือคุณธรรมประจำใจมีความเข้มข้นไม่เหมือนกัน แต่ในที่นี้จะยกมาพูดถึงอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ เรื่องความอาย หรือความละอายใจ ที่ภาษาบาลี เรียกว่า หิริ นั่นแหละ

     ความอายนี้ นี่แหละสำคัญนัก ที่เป็นตัวจำแนกระหว่างดิรัจฉาน มนุษย์ และเทวดา

     ท่านทั้งหลายคิดว่า ดิรัจฉาน มีความอาย มีความละอายใจ มากน้อยเพียงไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ใจดิรัจฉานหรอกว่ามันอายเป็นหรือเปล่า แต่เมื่อประเมินจากที่พบเห็นบ่อย ๆ เห็นว่า มันไม่ค่อยอายกันนะ มันไม่อายคน ไม่อายใคร ๆ เลย อยากทำอะไรกัน (เข้าใจเอาเองนะ) ที่ไหน ตรงไหน ก็จัดการทันทีตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องมีที่กำบัง นี่ คือมันไม่มีความอาย

     การที่ดิรัจฉาน ผสมพันธุ์กัน (ใช้คำนี้ก็แล้วกันเนาะ) มันก็ไม่ได้สนใจหรอกว่า คู่ของมันเป็นใคร เป็นลูกมัน  เป็นพ่อมัน เป็นแม่มัน ความรู้สึกผิด ชอบ ชั่วดี ตรงนี้ของมันไม่มี นี่ คือมันไม่มีความละอายใจ

     ส่วนคนนั้น มีความอาย ความละอายใจ มากกว่าสัตว์ขึ้นมาหน่อย แต่ก็มากน้อยต่างกันในแต่ละคน

    บางคน ไม่กล้าทำอะไรกันในที่สาธารณะ เพราะอาย แต่บางคนกลับกล้า เพราะความอายน้อย
     บางคน ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ทิ้งลงถังขยะเท่านั้น เพราะอายคนอื่นบ้าง เพราะละอายใจบ้าง แต่บางคน ไม่เป็นเช่นนั้น
     บางคน ไม่กล้าถ่มน้ำลายหรือเสลด ลงบนลานซีเมนต์ เพราะอายคนอื่นบ้าง เพราะละอายใจบ้าง แต่บางคน ไม่เป็นเช่นนั้น

     หลาย ๆ อย่าง ที่คนแต่ละคน มีความละอายใจต่างกัน มีระดับความเข้มข้นที่ต่างกัน
    คนที่ไม่กล้าทำสิ่งไม่ดีเพราะมีคนอื่นอยู่ด้วย คืออายคนอื่นจึงไม่กล้าทำ นี่เรียกว่า มีความอาย
     คนที่ไม่กล้าทำสิ่งไม่ดีแม้อยู่เพียงลำพังตนเอง คืออายตนองจึงไม่กล้าทำ นี่เรียกว่า มีความละอายใจ


     ในระดับที่เรียกว่า ความอาย นั้น เป็นธรรมที่สัตว์ไม่มี แต่มนุษย์มี (แต่บางคนก็ไม่มี)
     ในระดับทีเรียกว่า ความละอายใจ นั้น เป็นธรรมที่มนุษย์บางคนมี บางคนไม่มี แต่เทวดามี
     มนุสสธรรม หรือธรรมของมนุษย์ นั้น หมายถึงธรรมะพื้นฐานที่มนุษย์ ต้องปฏิบัติ ซึ่งก็คือ ศีล ๕ นั่นเอง
     เทวธรรม หรือธรรมของเทวดา นั้น หมายถึงธรรมะประจำใจเทวดา มีสองประการคือ ความละอายใจต่อการกระทำไม่ดี และความเกรงกลัวต่อการกระทำไม่ดี (แค่สองข้อก็ครอบคลุมเหนือศีล ๕ แล้ว)

     ดังนั้น หากต้องการรักษาใจของตนไม่ให้ตกต่ำลงไปกว่าระดับใจมนุษย์ ก็ต้องมีความอายให้มาก ๆ อายในที่นี้หมายถึงอายต่อการทำไม่ดีนะ ไม่ใช่แบบว่า ฉันไม่กล้าเสนอขายของ เพราะอาย  ฉันไม่กล้าพูดต่อหน้าคนมาก ๆ เพราะอาย ไอ้อายแบบนี้น่ะ  มันเป็นโมหะนะ มันไม่ใช่อายต่อการทำไม่ดีนะ คนละเรื่องกัน แต่ใช้คำไทยคำเดียวกัน

     แต่ถ้าให้ดีกว่านั้น ควรพยายามยกระดับใจขึ้นสู่ระดับเทวดา มีความละอายใจ ต่อการทำไม่ดี แม้ว่าตนเองจะอยู่เพียงคนเดียว หากทำได้ดังนี้ ใจเราก็เป็นเทวดาแล้วล่ะ

    ดังนั้น ในแต่ละวัน ต้องหมั่นสังเกตใจตนเอง หากพบว่ากำลังเป็นใจระดับต่ำคือดิรัจฉานลงไป ก็ให้ยกระดับมันขึ้นมานะ ระวังอย่าให้ต่ำกว่าระดับมนุษย์

     หมั่นสร้างและรักษา ความอาย ความละอายใจ และความเกรงกลัวต่อการทำไม่ดี ให้มีอยู่ในใจเนื่องๆ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 26 มกราคม 2550, 08:28:51 »

ว่าด้วยใจพรหม

    มนุษย์ที่มีความอาย ก็เป็นตัวชี้บ่งได้อย่างหนึ่งว่า มีคุณธรรมเหนือกว่าสัตว์ แต่หากความอายนั้น เป็นแค่อายคนอื่นจึงไม่กล้าทำไม่ดี พอคนอื่นไม่อยู่ก็กล้าทำ ความอายระดับนี้นั้นยังกั้นความชั่วไม่ได้

     หากพัฒนาใจตัวเองให้สูงขึ้นอีก ให้มีความละอายใจต่อการกระทำไม่ดีของตนเอง ที่เรียกว่า หิริ ได้แล้ว แม้ว่าเราจะอยู่คนเดียว เราก็ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะอายตนเอง คิดได้ว่าแม้คนอื่นไม่รู้ ตัวเองก็ย่อมรู้ ความอายระดับนี้แหละ จึงจะสามารถกั้นมิให้ทำชั่วได้

     บางคนยังมีคุณธรรมอีกข้อหนึ่งมาประคับประคองใจที่เรียกว่า โอตตัปปะ หรือความกรงกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของการทำไม่ดี แล้วไม่กล้าทำสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหิริ และโอตตัปปะ นี้แล เป็นคุณธรรมที่สามารถจะป้องกันไม่ให้เราทำชั่วได้

     บางคน ไม่กล้าขโมยของ เพราะละอายใจว่า การกระทำแบบนี้ ไม่ดี ไม่ใช่สิ่งถูกต้อง เป็นความละอายอยู่ภายในใจตนเอง นั่นคือเขามี หิริ คือความละอายใจ

     บางคน ไม่กล้าขโมยของ เพราะกลัวว่าหากถูกจับได้จะถูกลงโทษบ้าง กลัวว่าตายไปจะตกนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง ซึ่งเป็นความเกรงกลัวต่อผลของการทำไม่ดี นั่นคือเขามี โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป

    คุณธรรม ๒ ประการนี้ เป็นธรรมะที่คุ้มครองโลก เป็นธรรมะของผู้มีใจสูง เป็นธรรมะระดับเทพหรือเทวดา

     ทว่า คุณธรรม ๒ ประการ กล่าวคือ หิริ และ โอตตัปปะ นี้ เกิดจากการน้อมประโยชน์เข้ามาหาตน คือเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เช่น หากทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีจะย้อนกลับมาหาตน เป็นต้น

     คุณธรรมที่สูงกว่านี้ ยังมีอยู่ สูงกว่าเทวดา ก็คือระดับพรหม เป็นระดับที่ใจประเสริฐยิ่งขึ้น สูงส่งยิ่งขึ้น

     ใจพรหมที่ได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ข้อนึงคือ เมตตา แปลกันว่า ความรัก เป็นความรักที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ หรืออารมณ์ทางเพศ เป็นความรักบริสุทธิ์

     ความรักแบบหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่ม นั่นแหละคือความรักแบบกามารมณ์ ศัพท์บาลีใช้ว่า เปม (สันสกฤตใช้ เปรม) แม้จะเป็นความรักอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความรักที่ เรียกว่า เมตตา

    เมตตา เป็นความรักที่ มองผู้อื่น เป็นที่ตั้ง คือใช้ความสุขของผู้อื่นเป็นฐาน มีจิตใจอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข มีการกระทำเพื่อให้ผู้อื่นได้สุข และไม่เจือด้วยกามารมณ์

     ที่พบเห็นง่าย ๆ เลยก็คือความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั่นเอง อยากให้ลูกได้ดี อยากให้ลูกเป็นสุข ตนเองทุกข์กายไม่เป็นไร และพ่อแม่ก็ไม่เกิดความรักแบบกามารมณ์กับลูก แต่สัตว์ที่เป็นพ่อแม่ กลับมีเพศสัมพันธ์กับลูกได้ นี่คือความต่างกันอันนึงระหว่างใจมนุษย์กับดิรัจฉาน

     พ่อแม่มีเมตตาต่อลูกนี่เอง พระท่านจึงว่า “พ่อแม่เป็นพรหมของลูก”  เพราะใจเมตตา ก็คือใจพรหม

    หากใครก็ตาม ยกระดับใจของตน จากความละอายใจ และความกลัวบาป ซึ่งเป็นคุณธรรมที่มองตนเองเป็นที่ตั้ง ขึ้นสู่ระดับใจที่มองความสุขผู้อื่นเป็นที่ตั้ง อันเรียกว่าเมตตาได้ ใจผู้นั้น ก็เป็นใจพรหม

    การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะยึดมั่นในศีล เป็นความดีระดับมนุษย์ คือการถือศีล
     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะละอายใจว่าเป็นสิ่งไม่ดี เป็นความดีระดับเทพ คือมีหิริ
     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะกลัวว่าจะได้รับผลกรรมของการฆ่า เป็นความดีระดับเทพ คือมีโอตตัปปะ
     การไม่ฆ่าสัตว์ เพราะสงสารมัน เป็นความดีระดับพรหม คือมีเมตตา (ความสงสารนี้เกิดจากความรักในชีวิตของสัตว์อื่น จึงเป็นเมตตา)


     การไม่ฆ่าสัตว์ จะไม่ฆ่าเพราะความเห็นหรือทิฏฐิอย่างใดก็ตาม จัดเป็นความดีทั้งนั้น เป็นกุศลทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่า ใจของผู้นั้น ๆ คิดอย่างไร จึงไม่ฆ่า มีความเห็นอย่างไร จึงไม่ฆ่า จิตใจที่คิดเห็นนั่นแหละจะเป็น ใจมนุษย์ ใจเทวดา ใจพรหม

    ( ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงว่า ผู้มีใจมนุษย์จะต้องเกิดเป็นมนุษย์ ผู้มีใจเทวดาจะต้องเกิดเป็นเทวดา ผู้มีใจพรหมจะต้องเกิดเป็นพรหม โดยแน่นอนนะ แต่เป็นการอธิบายถึงระดับภาวะทางใจ )

     ใจพรหมนั้น นอกจากเมตตาแล้ว ยังมี กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อีก

     กรุณา คือความสงสาร เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เป็นใจที่เมื่อพบเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์แล้วต้องการให้ผู้นั้นพ้นจากทุกข์นั้น ๆ

     มุทิตา คือความพลอยยินดี เป็นใจที่เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีสุข ก็พลอยยินดีด้วย และพร้อมจะส่งเสริมเขา โดยไม่มีใจริษยา

     อุเบกขา คือความวางเฉย เช่นเมื่อพบเห็นผู้อื่นทุกข์(เพราะผลกรรมของเขาเอง) รู้ว่าตัวเองช่วยเขาไม่ได้ ก็ปล่อยวางเสีย ไม่เอาใจตนไปนอนแช่ในทุกข์ตามเขา เป็นใจที่ถือความเป็นธรรม ถือความเป็นไปตามธรรม เป็นที่ตั้ง ไม่มีอคติทั้งในกรรมของตน ทั้งในกรรมของผู้อื่น

    ในวันนี้ เรา ดูจิตใจตนเองหรือยัง มีตอนไหนบ้างที่เราสามารถยกระดับใจขึ้นเป็นมนุษย์ เทวดา และพรหม ได้บ้าง พึงระลึกถึงภาวะใจตอนนั้น เทียบกับภาวะใจตอนนี้ และพยายามอย่าให้ลดต่ำลงกว่ามนุษย์นะ
บันทึกการเข้า
สมชาย17
Hero Cmadong Member
***


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,300

« ตอบ #15 เมื่อ: 26 มกราคม 2550, 20:00:23 »

อ่านแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น ช่วยกระตุ้นจิตจิตสำนึก และคุมจิตให้อยู่กับตัวได้ดีขึ้น

ช่วยโพสต์ลงบ่อยๆ นะครับ น้องอาบัติ  จะคอยติดตามครับ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 26 มกราคม 2550, 22:01:49 »

ขอบคุณครับ ท่านพี่สมชาย17 ที่จะคอยติดตามอ่าน...

ผมเพียงหวัง ให้ผู้สนใจในธรรมะ เข้าใจเคล็ดสำคัญของการฝึกวิปัสสนา

แม้ที่ผมอธิบายมาทั้งหมด จะไม่เอ่ยถึงคำ "วิปัสสนา"

วิปัสสนา เคล็ดสำคัญ อยู่ที่ "รู้"
"รู้" ที่ไม่ใช่ รู้จำ
"รู้" ที่เป็นสามัญ
"รู้ที่เป็นสามัญ" ก็คือ "รู้สักว่ารู้"



แต่หากอธิบายแบบ หลักการล้วนๆ อาจจะเข้าใจยาก (อย่างข้อความสีเขียวข้างบนนี้) จึงโยงนั่นโยงนี่เข้ามาประกอบ

สุดท้ายของแต่ละบทความ ก็หนีไม่พ้น ให้รู้ใจตน ให้รู้ความรู้สึกตน เพราะด้วย "รู้" เท่านั้น สติจึงจะเจริญได้ "รู้" นั่นแล เป็นอาหารของสติ

(ที่ผมพูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมรู้มาก สติผมเจริญมากแล้วนะครับ และที่นำมาอธิบาย ก็เพื่อฝึกอธิบายครับ)
บันทึกการเข้า
Junphen Juntana
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 403

เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 31 มกราคม 2550, 12:19:06 »

ได้ความรู้และความคิดเพิ่มพูนขึ้นอีกเพียบเลย

ขอบคุณค่ะ Cheesy
บันทึกการเข้า

เพ็ญ อักษร: รหัส 36 & ซีมะโด่ง 76

เว็บไซต์: http://www.tpa.or.th/writer/author_des.php?passTo=98900ed085c9084a2b01bdbd15fa8470&authorID=429

http://www.facebook.com/penfriend

ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 01 กุมภาพันธ์ 2550, 10:17:16 »

ว่าด้วยความตาย

    คำว่า “ตาย” มาจากภาษาบาลี คือ ติ แปลว่า ๓ + อายะ แปลว่าไป (ละคำว่าโลกไว้) รวมความแล้วแปลว่าไปสู่โลก ๓ หรือไปสู่โลกทั้ง ๓ (โลกใดโลกหนึ่ง)

    แล้วคำว่า ”โลก ๓”  นั้นคืออันใดเล่า ?

     โลก แปลว่า แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึง วิสัยหรือแดนอันสัตว์ทั้งหลายจะพึงอยู่อาศัยได้ แยกตามลักษณะแสงสว่าง หากแสงสว่างน้อยหรือไม่มี ก็เรียกว่า โลกมืด หากแสงสว่างมาก ก็เรียกว่าโลกแจ้ง

     ดังนั้น เมื่อแบ่งที่อยู่ของสรรพสัตว์ แยกตามโลก จึงได้ ๓ โลก คือ (เป็นศัพท์บัญญัติของข้าพเจ้าเอง)

๑. โลกมืด
๒. โลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง
๓. โลกแจ้ง

     โลกมืด ก็คือแดนอันมืดมิด ไร้แสงสว่าง ไม่มีทั้งแสงสว่างตามธรรมชาติเช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว เป็นต้น หรือไม่มีแม้กระทั่งแสงสว่างจากดวงแก้วมณีอันวิเศษ จะมีบ้างนาน ๆ ครั้งที่พระผู้วิเศษเดินทางลงไปโปรด แสงสว่างจากกายของพระผู้วิเศษนั้น ก็จะเปล่งรัศมีดัง Spot Light ทำให้พวกที่อยู่ในโลกมืดนี้ ตื่นตาตื่นใจได้เป็นบางครั้ง

     ซึ่งสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลกมืดนี้ ก็มีพวกสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และพวกผีต่าง ๆ หรือหากจัดตามทาง ๗ สายที่เขียนไว้ในฉบับก่อน ๆ ก็คือทางสายที่ ๑ และ ๒ นั่นเอง

     ที่มันมืด ก็เพราะกรรมของพวกเขาเอง คือชอบความมืด ก็ต้องเกิดในที่มืด

     โลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง ก็คือ โลกที่มีช่วงเวลาที่มืดครึ่งหนึ่ง ช่วงเวลาที่แจ้งครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่าเวลากลางวันกับกลางคืนนั่นแหละ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมนุษย์และดิรัจฉาน หรือทางสายที่ ๓ และ ๔ ในทาง ๗ สายนั่นเอง

     ซึ่งโลกของมนุษย์นี้ เราทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วว่า มีดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ เป็นต้น และกำหนดเวลากลางวัน กลางคืน ตามการโคจรของดวงอาทิตย์ (ยังมีโลกมนุษย์ที่อยู่คนละมิติกับเราอีก...บางครั้งเรียกเมืองลับแล)

     โลกแจ้ง ก็คือโลกที่มีความสว่างอยู่ตลอดเวลา ไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีดวงจันทร์ ไม่มีดวงดาว เป็นต้น ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน (ที่เกิดจากการโคจรของดวงอาทิตย์) แต่เขาก็มีเวลาของเขา เป็นแดนที่เรียก แดนทิพย์ หรือแดนสว่าง (ทิวะหรือทิวา หรือทิพ หรือทิพย์ ในที่นี้แปลว่า สว่าง หรือกลางวัน)

     ซึ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในโลกแจ้งนี้ ก็คือ เทวดา และพรหม หรือทางสายที่ ๕ และ ๖ ในทาง ๗ สายนั่นเอง

    สัตว์(หมายถึงผู้ยังข้องอยู่) ในอัตภาพหนึ่ง ๆ(หมายถึงในแต่ละชาติ)
     บางจำพวก ก็อยู่ได้ในโลกใดโลกหนึ่งโดยเฉพาะ ไปโลกอื่นไม่ได้ อยู่โลกอื่นไม่ได้
     บางจำพวก ก็เป็นสัตว์สองโลก คืออยู่ได้ทั้งโลกมืด ทั้งโลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง
     บางจำพวก ก็อยู่ได้ทั้งโลกแจ้ง ทั้งโลกครึ่งมืดครึ่งแจ้ง
     บางจำพวก ก็อยู่ได้ ไปได้ ทั้งสามโลกเลย


    สรุปว่า โลก ๓ ก็คือ โลกมืดอันเป็นแดนที่อยู่อาศัยของสัตว์นรกและผีทั้งหลาย๑    โลกครึ่งมืดครึ่งแจ้งอันเป็นแดนที่อยู่อาศัยของดิรัจฉานและมนุษย์๑    โลกแจ้งอันเป็นแดนที่อยู่อาศัยของเทวดาและพรหม๑

    ผู้ตาย คือผู้ไปสู่โลก ๓ เหล่านี้ โลกใดโลกหนึ่ง

    ดังนั้น คนตาย ก็คือคนที่ย้ายแดนที่อยู่อาศัย จากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ด้วยอัตภาพ หรือรูปกายที่แตกต่างไปจากเดิม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่ละทิ้งอัตภาพหนึ่ง แล้วไปสู่อีกอัตภาพหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง

     ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว
     คนที่กลัวความตาย เพราะมีห่วงหน้า ห่วงหลัง

     ห่วงหลัง คือห่วงหรือกังวลว่า ผู้ที่ยังไม่ตายหรือญาติเราเป็นต้นว่า บุตร ภรรยา สามี พ่อ แม่ พี่ น้อง  ฯลฯ จะอยู่อย่างไร เพราะความไม่รู้อนาคต

     ห่วงหน้า คือห่วงหรือกังวลว่า ตายแล้วจะไปเกิดในโลกใด เพราะความไม่รู้คติหรือทางไปของตน

     ที่กลัว เพราะ กลัวว่าตนจะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นดิรัจฉาน

     แต่หากเรา ไม่ได้มีใจนรก ไม่มีใจเปรต ไม่มีใจดิรัจฉาน ก็ไม่จำเป็นต้องกลัว

    ดังนั้น เราควรละทิ้ง ควรกำจัดใจนรก ใจเปรต ใจดิรัจฉาน และควรสร้าง รักษา ใจมนุษย์ ใจเทพ ใจพรหม

    นักท่องเที่ยวระหว่างโลก ๓ เรียกว่า “สัมภเวสี”  คือผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่
     ผู้ที่ยังข้องอยู่ในโลก ๓  เรียกว่า “สัตว์”  คือผู้ที่ยังออกจากโลก ๓ ไม่ได้
     ผู้ที่สิ้นชีวิต แต่ไม่ได้ไปโลก ๓ จึงไม่เรียกว่า “ตาย”  เรียกว่า “นิพพาน” แทน


    “นิพพาน” เป็นทางสายที่ ๗ อันเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้าย ตามคำสอนของพระพุทธองค์
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2550, 08:36:48 »

ว่าด้วยเรื่องศีล

     คำว่า ศีล นั้น หลาย ๆ ท่าน เกิดมา พอรู้ความ เข้าวัด ก็เริ่มได้ยินคำนี้กันแล้ว แต่อาจจะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรมากนัก วันนี้ จึงขอนำมาพูดถึงสักเล็กน้อย (พอเป็นกระสายยา)

     ศีล แปลกันว่า ปกติ บ้าง ระเบียบทางกายวาจา บ้าง หมายถึง หากรักษาศีลได้ ก็จะทำให้การกระทำทางกาย วาจาซึ่งผู้อื่นรู้เห็นได้นั้น เป็นระเบียบ งดงาม เจริญตาเจริญใจผู้พบเห็น ว่างั้นเถอะ

     ศีล อีกความหมายหนึ่ง คือ ระเบียบวินัยที่กำหนดขึ้นให้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งหมู่คณะนั่นเอง

   ศีล ๕ (ทุกท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง) เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน เพื่อความงามแห่งความเป็นมนุษย์ เพื่อความเป็นระเบียบแห่งสังคมมนุษย์
     ศีล ๘  เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งหมู่คณะชีพราหมณ์ และแม่ชี
     ศีล ๑๐ เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งหมู่คณะสามเณร
     ศีล ๒๒๗ เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นระเบียบและความงามแห่งภิกษุสงฆ์  เป็นต้น


     การกำหนดบัญญัติศีล วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อ ให้เกิดความงาม ความเป็นระเบียบในสังคมนั้น ๆ สิ่งที่คนทั้งหลายไม่ชอบ เห็นแล้วไม่เจริญตา ไม่เจริญใจ ก็คือ ความไม่ดี โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ดีนั้นมากระทบกับตนเอง จากการกระทำของผู้อื่น จึงต้องบัญญัติศีลเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการทำไม่ดีนั้น พื้นฐานแล้ว ก็มี ๕ ข้อ เท่านั้น (แต่ปัจจุบันนี้ แม้บัญญัติกฎหมายขึ้นมามากเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถควบคุมไม่ให้คนทำสิ่งไม่ดีได้)

     ความสำคัญ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ที่ว่า จะมีศีลกี่ข้อ มีวินัยกี่ข้อ มีกฎหมายกี่ข้อหรอกนะ สำคัญอยู่ที่ผู้รักษา(ผู้ปฏิบัติ) ต่างหาก

     ศีล ของคนทั่ว ๆ ไป มีเป้าหมาย เพื่อควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา
     แต่ศีลของผู้ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรม มีเป้าหมาย เพื่อควบคุมพฤติกรรมทางใจ

    ดังนั้น ศีล ของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม จึงมีเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ การรักษาใจ  
     การรักษาศีล สำหรับผู้ประพฤติธรรม จึงหมายถึงการรักษาใจของตน ให้เป็นระเบียบ ให้งาม ให้เบิกบาน อยู่เสมอ


     หากสามารถควบคุม รักษาพฤติกรรมทางใจได้ พฤติกรรมทางกาย ทางวาจา ก็จะเป็นระเบียบ และงดงามตามไปด้วย  เพราะการกระทำทุกอย่าง เกิดจากใจ ใจเป็นผู้พาทำทั้งสิ้น

     อย่าเพิ่งคิดว่า การรักษาใจ เป็นสิ่งที่ทำยาก การรักษาใจให้สมบูรณ์เพียบพร้อม ทำได้ยากก็จริง แต่การรักษาใจในระดับใจมนุษย์ ใจเทวดา นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับมนุษย์ เราเองก็เกิดเป็นมนุษย์อยู่แล้ว ควรที่จะรักษาใจของตนให้มีพฤติกรรมเหมือนใจมนุษย์ด้วย

     วันนี้ เราดูใจตนเองแล้วหรือยัง สำรวจใจตนเองแล้วหรือยัง หากยัง ก็จงสังเกตดู และพยายามรู้ใจตนเองนะว่า เป็นระเบียบดีหรือเปล่า งดงามหรือเปล่า ในระดับต้น ๆ นี้ ขอเพียงรับรู้สภาพใจก็พอ แค่รู้ก็พอ แต่ให้รู้บ่อย ๆ สังเกตให้บ่อย ๆ

    การรักษาใจ คือการรักษาศีลอันเยี่ยมยอด
     ใจเป็นระเบียบ กาย วาจา ก็เป็นระเบียบ
บันทึกการเข้า
สมชาย17
Hero Cmadong Member
***


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,300

« ตอบ #20 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2550, 13:44:42 »

บทความ ว่าด้วยศีล ของน้องอาบัติ เยี่ยม มากเลยครับ
บันทึกการเข้า
สมชาย17
Hero Cmadong Member
***


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,300

« ตอบ #21 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2550, 14:56:08 »

ขอเสริมด้วยภาพ และข้อคิดของหลวงพ่อ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: 16 กุมภาพันธ์ 2550, 08:43:19 »

ว่าด้วยการไปวัด

     พอพูดว่า “ไปวัด” “เข้าวัด” ทุกท่านก็คงเข้าใจความหมายตรงตัวดีอยู่แล้ว ว่าหมายถึงสิ่งใด หมายถึงไปไหน..

     แล้วทำไม สถานที่เช่นนั้น เขาถึงเรียกกันว่า “วัด” ล่ะ ?... คำถามนี้ ขอไม่อธิบายตรง ๆ นะ แต่จะอธิบายถึงคำว่า “วัด” ในอีกความหมายหนึ่งให้ฟังก็แล้วกันนะ

     “วัด” เป็นคำกิริยา แปลว่า..แปลว่าอะไรดีล่ะ ..นึกไม่ออก... ก็แปลว่า วัด นั่นแหละ เช่นเอาไม้บรรทัด เอาตลับเมตร เอาสายวัด มาวัดนั่นแหละ (ไม่ใช่เอามาวัด(อาราม) แล้วถวายพระนะ)... เอ...พูดใหม่ดีกว่า เช่นการวัดระยะ ด้วยไม้บรรทัด ตลับเมตร และสายวัด เป็นต้น... วัดน้ำหนัก วัดความดัง วัดความเข้ม ฯลฯ (ไม่ใช่ชื่อวัด ชื่ออารามนะ เดี๋ยวจะพากันพูดต่อ เป็นวัดมหาธาตุ วัดโพธิ์ วัดพระแก้ว ...ไม่ใช่นะคร้าบ)

     แต่นั่น เป็นการวัดในสิ่งที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือตา หู จมูก ลิ้น และกาย

    “วัด” ที่จะอธิบายในที่นี้เป็นการวัดทางใจ เป็นการวัดด้วยใจ คือวัดอารมณ์หรือสภาวะที่เกิดกับใจเรา ด้วยใจเราเอง วัดเพื่อตรวจสอบว่า ขณะนี้ ใจเรากินอารมณ์อะไรอยู่ เสพสภาวะอะไรอยู่ พูดง่าย ๆ คือ รู้สึกอย่างไร นั่นแหละ

     การวัดสำหรับผู้ใหม่ที่ยังไม่คุ้นกับการวัด ที่ยังใช้เครื่องมือสำหรับวัดไม่ค่อยถนัด ต้องเริ่มจากสเกลกว้าง ๆ หยาบ ๆ ก่อน เช่น เป็นวา ... ศอก ... คืบ ...

     การวัดใจ สำหรับผู้ใหม่ ที่ยังไม่คุ้นกับการวัดใจ ที่ยังใช้เครื่องมือวัดใจไม่ค่อยถนัด ก็เช่นกัน ต้องเริ่มจากสเกลหยาบ ๆ กว้าง ๆ ก่อน ลองฝึกวัดใจตัวเอง วัดความรู้สึกตัวเองกันดูนะ ...เช่น

    เมื่อเห็นวัว ควาย หมู เป็นต้น กำลังรอคอยการถูกฆ่า ยืนตาเปียกแฉะอยู่นั้น ลองมองดูนัยน์ตามัน ลองสบตามัน แล้วสำรวจใจตัวเองซิว่า รู้สึกอย่างไร รู้สึกสงสาร หรือว่า อ้วนพีดีน่าอร่อย เป็นตาแซบ  จงรีบ ๆ ตายซะ...
     เข้าตลาดสด มองดูตาปลา ปู กุ้ง เป็นต้น ที่นอนรอความตาย ตาละห้อย รู้สึกอย่างไร น่าสงสาร หรือน่าอร่อยเป็นตาแซบ...
     ไปโรงพยาบาล ห้องฉุกเฉิน เห็นคนบาดเจ็บร้องครวญครางโอดโอย รู้สึกอย่างไร สงสาร สลดใจ รังเกียจ รำคาญ หรือเฉย ๆ...
     เห็นคนกำลังลำบาก... คนแก่... คนเจ็บ... คนตาย.. คนพิการ... ฯลฯ  รู้สึกอย่างไร
     เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แล้วรู้สึกอย่างไร
     ได้ยินเสียงดังหนวกหู ได้ยินคำพูดไม่ดีระคายหู ฯลฯ รู้สึกอย่างไร รำคาญ ไม่พอใจ หงุดหงิด ตลก หรือเฉย ๆ
     ได้ยินเสียงที่ไพเราะ ได้ยินคำพูดหวานหู ฯลฯ รู้สึกอย่างไร
     ได้กลิ่นเหม็น กลิ่นฉุน กลิ่นหอม ฯลฯ รู้สึกอย่างไร รำคาญ ไม่พอใจ หงุดหงิด ชอบใจ ดีใจ ตลก หรือเฉย ๆ
     ได้ลิ้มรส หวาน มัน เค็ม เผ็ด จืด ฯลฯ รู้สึกอย่างไร ไม่พอใจ หงุดหงิด ชอบใจ ดีใจ ตลก หรือเฉย ๆ
     ได้สัมผัสกับของแข็ง ของนุ่มนิ่ม ของร้อน ของเย็น ฯลฯ ตากแดด ตากฝน โต้ลมหนาว ฯลฯ รู้สึกอย่างไร
     รำพึงถึงเรื่องราวเก่า ๆ คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต ฯลฯ รู้สึกอย่างไร


     นี่เป็นสถานการณ์สำหรับการวัดใจตนเองคร่าว ๆ ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ทุกคนต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน ๆ พบเจอแล้ว เรารู้สึกอย่างไร ลองสังเกตใจ สังเกตความรู้สึกตนเองดูนะ เอาแค่รู้ว่าตนรู้สึกอย่างไร ก็พอ รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววาง แล้วใช้ใจรับรู้ความรู้สึกตัวต่อๆไป

    วัด อยู่ภายในตัวเราเองนี่แหละ เราสำรวจดูความรู้สึกตน รู้ความรู้สึกตน เมื่อใด  ก็ชื่อว่าเราได้เข้าวัดแล้ว เมื่อนั้น

( รู้ความรู้สึก  เฉย ๆ นะ ไม่ใช่อมความรู้สึกไว้... ที่เรียกว่า รู้สักว่ารู้ นั่นแหละ )

    ดังนั้น การไปวัด การเข้าวัด (วัดใจ) ไม่จำเป็นต้องไปวัด(อาราม) ผู้วัดจิตวัดใจตน แม้ไม่ได้เข้าวัด(อาราม) ก็เรียกได้ว่า ผู้เข้าวัด เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร (ยกเว้นหลับ) ก็สามารถจะวัดใจเราเองได้ ตรวจสอบความรู้สึกตนเองได้ สำรวจความรู้สึกตัวเองได้

     การวัดใจตนเองแบบนี้แหละ จึงจะเรียกได้ว่า ไปวัดแล้วถึงวัดจริง ๆ เข้าวัดแล้วถึงวัดจริง ๆ ไม่ใช่ไปวัดแล้วถึงแค่ศาลา เข้าวัดแล้วถึงแค่โบสถ์ ถึงแค่กุฏิ

     ไปวัดแล้วต้องวัดกันถึงจิตใจ เข้าวัดแล้วต้องวัดกันถึงจิตใจ
    เข้าวัดหนึ่งครั้ง ได้บุญหนึ่งครา รู้ความรู้สึกตนหนึ่งครั้ง ได้บุญหนึ่งครา
     รู้ความรู้สึกตนร้อยครั้ง เท่ากับเข้าวัดร้อยหน เท่ากับได้บุญร้อยครา
     ในวันหนึ่ง ๆ รู้ความรู้สึกตนมากเท่าไหร่ บ่อยเท่าไหร่ ก็ได้บุญ ได้กุศลมากเท่านั้น
บันทึกการเข้า
สมชาย17
Hero Cmadong Member
***


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,300

« ตอบ #23 เมื่อ: 16 กุมภาพันธ์ 2550, 14:08:16 »

ว่าด้วยการไปวัด เยี่ยมมากครับ น้องอาบัติ
จะคอยตามบทความดีๆต่อไป นะครับ
บันทึกการเข้า
prapasri AH
Cmadong พันธุ์แท้
****


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 3,256

เว็บไซต์
« ตอบ #24 เมื่อ: 16 กุมภาพันธ์ 2550, 20:36:27 »

พี่แอ๊ะไม่กล้าเข้าห้องนี้เลยค่ะ  :) แต่เห็นสมชาย17  Shocked จึงตามเข้ามา สาธุค่ะ Cheesy

คืนนี้พี่แอ๊ะจะไปไหว้เจ้า ตรุษจีนค่ะ เป็นธรรมเนียมของชาวยโส ต้องไปไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

ไหว้กันตอนดึกๆ จนสว่างค่ะ  เจ้าหน้าที่ร.พ จะไปจัดวางเครื่องไหว้  พอได้เวลา เที่ยงคืน ถึงตี1 ตีสอง หรือสาม เค้าก็จะปลุกพี่แอ๊ะกับพี่หาญให้ไปไหว้ เป็นอย่างนี้ทุกปีค่ะ

รุ่งเช้าก็จะนำเป็ดไก่ทั้งหลายมา มาทอด ผัด ทำกับข้าวให้พนักงานทานกันทั้งร.พ ค่ะ :lol:

แฮบปี้ตรุษจีนนะคะ Cheesy

ซินเจีย ยู่อี่ ซินนี๊ฮวดไช้ นะจ๊ะ
บันทึกการเข้า

ชาวหอ ชาวหอจุฬา สดใสเริ่งรา เมื่อมาร่วม สามัคคี
  หน้า: [1] 2  ทั้งหมด   ขึ้นบน
  
กระโดดไป:  

     

ทำไมหอพักนิสิตจุฬาจึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์            " ไม่ได้เป็นแค่หอให้นอนพัก  แต่เป็นบ้านอบอุ่นรักให้อาศัย  ไม่เป็นแค่ที่ซุกหัวยามหลบภัย  แต่สร้างใจให้เข้มแข็งแกร่งการงาน"  <))))><