จาก ไทยโพสต์ ออนไลน์ X-cite คู่มือจัดการบ้านหลังน้ำลดเรื่องปก 29 พฤศจิกายน 2554 - 00:00
จัดทำโดยคณะทำงานอาสาสมัคร สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
คำนำและเป้าหมายของคู่มือ คู่มือจัดการบ้านหลังน้ำลดนี้นำเสนอและเรียบเรียงข้อมูลโดยคณะทำงานอาสาสมัครจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำภาพกราฟฟิก รูปเล่ม โดยคณะทำงานอาสาสมัครจากสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย และเพิ่มเติมข้อมูลงานส่วนวิศวกรรมโดยคณะทำงานอาสาสมัครจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนที่ประสบภาวะน้ำท่วมบ้าน ว่าจะต้องเตรียมตัวและดำเนินการอย่างไรเมื่อน้ำท่วมได้ลดลงแล้ว โดยจะจัดการกับบ้าน-ทรัพย์สินที่จมน้ำได้อย่างไร
การเรียบเรียงลำดับหัวข้อในคู่มือนี้จะเริ่มจากเรื่องสำคัญที่สุดไปหาเรื่องสำคัญน้อย เพื่อให้ท่านเจ้าของบ้านสามารถดำเนินการได้ตามลำดับ ทั้งนี้ แนวทางและวิธีการที่ได้นำเสนอไว้นี้เป็นการหลักการเบื้องต้นเพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยตนเองได้ แต่ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่จะจัดการได้ด้วยตนเอง ท่านเจ้าของบ้านจำเป็นที่จะต้องจัดจ้างมืออาชีพที่มีความชำนาญเพื่อมาดำเนินการและแก้ไขปัญหาต่อไป
ข้อมูลส่วนหนึ่งของคู่มือนี้มาจากหนังสือของอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ "บ้านหลังน้ำท่วม" รวมทั้งได้ข้อมูลและแนวคิดจากการสอบถามผู้รู้หลายๆ ท่าน และจากสังคมออนไลน์อินเทอร์เน็ต ทั้งในเว็บไซต์ เว็บบอร์ด และเฟซบุ๊ก
คณะผู้จัดทำหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน สามารถบรรเทาความเดือดร้อน และทำให้ท่านฟันฝ่าอุปสรรคความยากลำบากในครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไปได้ด้วยดี
ด้วยความปรารถนาดีจากคณะทำงานอาสาสมัครจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เตรียมตัวเข้าบ้านหลังน้ำลด อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม : อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไว้เมื่อท่านจะเดินทางไปที่บ้านหลังน้ำลดนั้นประกอบด้วย
1.รองเท้ายาง ใส่เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าที่อาจจะรั่วในบริเวณพื้นบ้านมาดูดท่านได้
2.ถุงมือยาง หน้ากากกันฝุ่น ผ้าปิดปาก
3.ไขควงตรวจสอบไฟฟ้ารั่ว
4.ไฟฉายหรืออุปกรณ์ส่องสว่างที่ใช้แบตเตอรี่
5.อุปกรณ์ทำความสะอาด ไม้กวาดทางมะพร้าว แปรงขัดต่างๆ โดยแนะนำว่าควรใช้แบบพลาสติก ไม่ควรใช้แปรงโลหะ เพราะจะเกิดสนิมจากเศษแปรงที่ถูพื้นแบบแปรงขัด
6.พลั่วเพื่อใช้โกยขยะและขุดดิน
7.ที่ตัดโคลนด้ามยาว เพื่อใช้ตักโคลนและเศษขยะจากท่อระบายน้ำ
8.น้ำยาทำความสะอาดชนิดต่างๆ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
9.ถังน้ำ ขันน้ำ
10.ผ้าแห้ง ผ้าดิบที่ซื้อแบบยกหลาแล้วตัดเป็นแผ่นในขนาดพอดีใช้งาน และกระดาษทิชชูแบบม้วนใหญ่ๆ ไว้เช็ดทำความสะอาด ฯลฯ
11.สเปรย์ไล่ความชื้น
12.กระดาษทรายเพื่อขัดสนิม
13.เครื่องเป่าแห้งแบบใช้แบตเตอรี่ สำหรับการเริ่มต้นก่อนเปิดระบบไฟฟ้าของบ้านและแบบใช้กับไฟฟ้าบ้าน ซึ่งจะใช้เมื่อแน่ใจว่าระบบไฟฟ้าทั้งหมดปลอดภัยในการใช้งานแล้ว
14.ท่อน้ำขนาดเล็ก เพื่อใช้เป่าไล่น้ำบริเวณพื้นที่เล็กๆ เช่น ในท่อร้อยสายไฟฟ้า และท่อน้ำ เพื่อใช้ต่อท่อน้ำเพื่อฉีดน้ำทำความสะอาด
15.ไม้ไผ่หรือไม้ลวกยาวๆ เพื่อใช้ทะลวงท่อน้ำทิ้ง
16.ที่ปั๊มส้วม
17.เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง
18.เครื่องสูบน้ำแบบพกพา
19.กล้องถ่ายรูปและหนังสือพิมพ์ฉบับวันปัจจุบัน
20.ถังขยะพร้อมถุงขยะจำนวนมาก
การดำเนินการ :
การเข้าไปในบ้านที่น้ำเพิ่งจะลดนั้น แนะนำว่าควรไปแต่เช้า เนื่องจากในช่วงแรกเราอาจจะไม่สามารถเปิดระบบไฟฟ้าแสงสว่างได้ ต้องใช้เวลากู้ระบบช่วงหนึ่ง ถ้าเข้าไปในเวลาช่วงเย็นหรือค่ำ การดำเนินการอาจไม่มีความสะดวกและไม่ปลอดภัย
สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ถ่ายรูปความเสียหายของบ้าน ให้ถ่ายรูปก่อนดำเนินการแก้ไข เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการร้องขอค่าชดเชยต่างๆ ในภายหลัง ควรถ่ายให้เห็นบ้านเลขที่และหนังสือพิมพ์ที่มีวันที่ปัจจุบัน ถ้ามีร่องรอยงัดแงะจากการโจรกรรมให้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย โดยเฉพาะท่านที่ทำประกันโจรกรรมไว้จะเป็นประโยชน์ในการไปเรียกร้องสินไหมทดแทนต่อไป
ให้ท่านเปิดประตูและหน้าต่างๆ ทุกบานเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ความชื้นภายในบ้านระบายออกไปให้เร็วที่สุด
เรื่องแรกที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุดและต้องดำเนินการเป็นอย่างแรกคือ การตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยให้ท่านใส่รองเท้ายาง จะได้ปลอดภัยจากการถูกไฟฟ้าดูดที่อาจมีในบริเวณบ้านและในตัวบ้าน การสัมผัสส่วนต่างๆ ของบ้านที่เป็นโลหะต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก
เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไม่ควรเข้าไปในบ้านที่ยังมีน้ำท่วมพื้นบ้านอยู่ ถ้าสามารถทำได้ควรรอจนน้ำลดระดับและพื้นบ้านแห้งเสียก่อน หากยืนอยู่ในน้ำหรือเท้าเปียกน้ำ ต้องไม่สัมผัสอุปกรณไฟฟ้า เปิด-ปิดสะพานไฟ หรือเสียบปลั๊ก หรือเปิด-ปิดสวิตช์ใดๆ ทั้งสิ้น
ให้ท่านใช้ไขควงตรวจสอบไฟฟ้าแตะบริเวณที่เป็นโลหะต่างๆ เพื่อทดสอบว่ายังมีไฟฟ้าไหลอยู่หรือไม่ จากนั้นให้ไปที่สะพานไฟฟ้าหรือคัตเอาต์หลัก เพื่อตรวจสอบว่าได้ปิดสวิตช์สะพานไฟฟ้าหลักออกแล้วอย่างแน่นอน
เมื่อท่านแน่ใจแล้วว่าระบบไฟฟ้าทั้งหมดปิดไปหมดแล้ว จึงเริ่มดำเนินการแก้ไขระบบอื่นๆ และทำความสะอาดบ้านต่อไป แต่ให้ระวังถ้าต้องเดินบนพื้นกระเบื้องหรือแผ่นหินขัดมันที่เปียกน้ำ เพราะอาจหกล้มได้
ในระหว่างทำความสะอาดถ้าต้องรื้อของตามซอกต่างๆ ให้ระวังสัตว์อันตรายที่อาจจะซ่อนตัวในตามลืบเหล่านั้นพุ่งออกมาทำร้ายเราได้ ดังนั้นทุกครั้งที่จะรื้อค้นของตามซอกหรือมุมให้หาไม้ยาวๆ เขี่ยหรือเคาะก่อน และใช้ไฟฉายส่องดูสภาพด้านในก่อนเสมอ เรื่องนี้ให้ปฏิบัติทั้งบริเวณบ้านที่ถูกน้ำท่วมและส่วนของบ้านที่ไม่ถูกน้ำท่วมด้วย.[/size]
http://www.thaipost.net/x-cite/291111/48869