เผยนาทีระทึก "นศ.ไทยในฟลอริด้า" ถูกปืนเรเซอร์จ่อหัว! ฐานไม่เข้าเรียนให้ครบตามเกณฑ์วีซ่ารายงานโดย อรสา ศรีสุขเสริม ผู้สื่อข่าวพิเศษมติชน จากฟลอริดา สหรัฐฯ
จากกรณีที่สำนักงานสอบสวน ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ไอซีอี.) ประจำสำนักงานเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (Immigration and Customs Enforcement: ICE) เข้าจับนักเรียนไทยเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ จำนวน 52 คน เป็นชาย 24 คน หญิง 28 คน ทั้งหมดถูกตั้งข้อหา กระทำผิดสถานะของวีซ่านักเรียนเอฟ วัน ( F-1) ซึ่งเรียกว่า วีซ่า ไวโอเลชั่น (Visa violation) ใน 3 กรณีแตกต่างกันไปแต่ละคน
กรณีที่ 1 นักเรียนไม่เข้าเรียนให้ครบ 18 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามเงื่อนไขผู้ที่ถือวีซ่าเอฟ วัน ต้องเข้าเรียนเต็มเวลาสม่ำเสมอ กรณีที่ 2 ไม่อนุญาตให้นักเรียนทำงาน และกรณีที่ 3 นักเรียนอยู่ในประเทศเกินกว่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้การอนุญาตไว้ เรียกว่า โอเวอร์สเตย์ (overstayed ) โดยทางการสหรัฐเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่าเป็น “การทลายการฉ้อฉลของโรงเรียนและนักเรียนครั้งใหญ่ที่สุด”
การจับกุมครั้งนี้ นอกจากมีนักเรียนไทยแล้ว ยังมีนักเรียนต่างชาติอื่นๆ เช่น ญึ่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย ตุรกี โคลัมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เตอร์กมินิสถาน คาร์กีซสถาน ฮอนดูรัส ซีเรีย เวเนซูเอลา และบราซิล อีกกว่า 50 คน ถูกจับกุมเช่นกัน ล้วนเป็นนักเรียนที่มีรายชื่อลงทะเบียนเรียนที่สถาบันสอนภาษาอังกฤษ ชื่อ "ฟลอริด้า แลงเควจ อินสทิทิวท์" (Florida Language Institute) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “โรงเรียนสีชมพู” เนื่องจากตัวอาคารทาสีชมพู และเก็บค่าเล่าเรียนถูกกว่าที่อื่น คิดราคา คอร์สละ 3 เดือน 1,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 32,000 บาท) ขณะนี้โรงเรียนดังกล่าวได้ถูกสั่งปิดกิจการและเจ้าของโรงเรียนถูกทางการสหรัฐดำเนินคดี ตั้งข้อหาไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสถาบันการศึกษา ฉ้อโกงรัฐ เป็นจำนวนเงินกว่า 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้นักเรียนลงทะเบียนเพื่อรักษาสถานภาพ และยินยอมให้นักเรียนเซ็นชื่อเข้าเรียนโดยไม่ต้องเข้าเรียนจริงได้
ความคืบหน้าล่าสุด นักเรียนไทยทั้งหมดที่ถูกจับกุมได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่สถานกักกัน ชื่อ บราเวิร์ด ทรานซิชั่นแนล เซ็นเตอร์ (Broward Transitional Center) เมืองปอมปาโน่ บีช รัฐฟลอริดา ถึงปัจจุบันทั้งหมดยังไม่ได้รับการประกันตัวแต่อย่างใด และมีนักเรียนบางส่วนที่มีรายชื่อลงทะเบียนเรียนอยู่ในโรงเรียนดังกล่าว แต่ยังอยู่ในระหว่างติดตามเพื่อจับกุมตัวได้เดินทางกลับประเทศแล้วกว่า 15 คน ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกตั้งข้อหาและได้แจ้งความจำนงผ่านสถานทูต ด้วยเกรงว่าหากถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐตรวจพบอาจถูกจับไปควบคุมตัวเช่นเดียวกับนักเรียนที่โดนจับกุมก่อนหน้า และขณะนี้ยังมีผู้แจ้งความจำนงขอกลับประเทศไทยและขอคำแนะนำมายังสถานทูต เพื่อให้ข้อมูลในกรณีนี้โดยเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก
นางภัทราวรรณ เวชศาสตร์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ให้สัมภาษณ์ว่า สถานทูตไทยได้รับข้อมูลเรื่องการบุกจับนักเรียนจาก นางกัญญา มูลศิริ นายกสมาคมไทย-อเมริกันแห่งฟลอริด้าภาคใต้ จึงมายังเมืองไมอามี พร้อมคณะเจ้าหน้าสถานทูตไทย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือแก่นักเรียนไทย เนื่องจากการจับกุมครั้งนี้เป็นการจับกุมโดยความร่วมมือระหว่างกองตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐและกระทรวงความมั่นคงภายใน (Department of Homeland Security) ซึ่งได้ติดตามสืบสวนสอบสวนตามรายชื่อนักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว
อัครราชทูตที่ปรึกษา กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือนักเรียนไทยที่ถูกจับกุมตัวว่า ขณะนี้ถูกตั้งข้อหาคนละ 2-3 ข้อหาแตกต่างกันไป และหลายคนได้ติดต่อทนายความเพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการทางศาลแล้ว โดยสถานทูตได้เข้ามาให้ข้อมูลด้านการติดต่อและพิจารณาคัดเลือกทนายความ ซึ่งสถานทูตได้นำรายชื่อทนายความที่ว่าความให้ฟรีหรือคิดค่าบริการในราคาไม่แพงมาให้กับนักเรียน ขณะเดียวกันญาติและผู้เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนบางคนก็ได้ดำเนินการว่าจ้างทนายความไว้ให้กับนักเรียนแล้ว ซึ่งขณะนี้รอเพียงการขอประกันตัวและเข้าพบผู้พิพากษาเพื่อรับการพิจารณาคดีเป็นรายบุคคล คาดว่าคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ขั้นแรกนี้นางภัทราวรรณ กล่าวว่า สถานทูตได้ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการทางศาลกับนักเรียนไทยว่า มีสองทางเลือกที่นักเรียนจะพิจารณาตัดสินใจด้วยตัวเองว่า ทางเลือกหนึ่ง จะเซ็นเอกสารยอมรับผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งถ้ายินยอมเซ็นรับผิด ทนายความก็จะส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาอนุมัติและส่งตัวกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ แต่จะไม่สามารถกลับเข้ามาสหรัฐอีกเป็นเวลาสิบปี
อีกทางเลือก จะต่อสู้คดีหรือไม่ แบ่งเป็น 3 กรณี หนึ่ง หากนักเรียนมีเอกสารหลักฐานการเข้าเรียนตามเกณฑ์ที่วีซ่าเอฟ วันกำหนด ประกอบกับเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชน เป็นผู้มีความประพฤติดี มีเอกสารรับรองจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนมานำเสนอต่อศาล ก็จะได้รับการยกเลิกข้อกล่าวหา สอง หากต่อสู้คดีและมีความผิด สามารถแจ้งความจำนงขอกลับประเทศไทยโดยสมัครใจ ซึ่งนักเรียนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเอง กรณีนี้นักเรียนอาจไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาสหรัฐเป็นเวลา 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับข้อกล่าวหาที่ได้รับ และสาม หากต่อสู้คดีและศาลตัดสินว่ามีความผิด จะถูกบังคับกลับ (Orderly Deportation) ซึ่งศาลจะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่จะไม่ได้รับอนุมัติวีซ่าให้กลับเข้ามาสหรัฐ เป็นเวลา 10 ปีเช่นกัน ทั้งนี้นักเรียนไทยยื่นความจำนงขอต่อสู้คดีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเห็นว่า ยังพอมีหลักฐานนำเสนอเพื่อแก้กล่าวหา
นางภัทราวรรณ กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้สถานทูตได้เดินทางมาเยี่ยมเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักเรียน และช่วยเหลือดูแลขอความร่วมมือกับทางการสหรัฐในเรื่องสถานที่กักกันให้อยู่ในสภาพดี พบว่า สถานกักกันมีสภาพสะอาดเรียบร้อย จัดแบ่งสถานที่พักแยกระหว่างหญิง-ชาย ที่พักหญิงแบ่งเป็นห้องละ 5 คน ชายห้องละ 6-8 คน แต่ละห้องมีโทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี ภายในบริเวณสถานกักกันมีสนามกีฬาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฯลฯ มีห้องสวดมนต์สำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีอาหารให้บริการ 3 มื้อ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ
"นอกจากนี้ ทางสถานฑูตยังได้เจรจาขอให้สถานกักกันจัดหาอาหารไทยเพื่อให้บริการแก่นักเรียนไทยในบางมื้อด้วย โดยมีนักเรียนไทยบางคนขออาสาสมัครเข้าไปเป็นพ่อครัว ปรุงอาหารไทยให้เพื่อนๆในสถานกักกันได้รับประทาน เพื่อเป็นการ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ไม่ฟุ้งซ่าน" นางภัทราวรรณ กล่าว
อัครราชทูตที่ปรึกษา กล่าวด้วยว่า ในการประสานขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐครั้งนี้ ทางการไทยไม่สามารถแทรกแซงทางการเมืองได้ ตามสนธิสัญญาเวียนนา ว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากมีญาติและผู้เกี่ยวข้องกับนักเรียนขอร้องให้สถานทูตเจรจาขอลดหย่อนผ่อนโทษให้กับนักเรียน ผู้กระทำความผิด แต่เนื่องจากข้อกล่าวหาที่นักเรียนไทยได้รับนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างชัดเจน สถานฑูตจึงทำได้เพียงขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่สหรัฐ ตรวจสอบเอกสารของนักเรียนแต่ละคนอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การดำเนินการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด ด้วยไม่ต้องการให้นักเรียนไทยต้องถูกกักตัวอยู่เป็นเวลานาน
สำหรับกฎระเบียบการเข้าเยี่ยมนักเรียนในสถานกักกันนั้น จากการสอบถามนางกัญญา มูลศิริ นายกสมาคมไทย-อเมริกันแห่งฟลอริด้าภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้จะเข้าเยี่ยมนักเรียนต้องโทรศัพท์ นัดหมายเวลาจากนักเรียน โดยโทรศัพท์ฝากข้อความ ชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ไว้ที่เบอร์ของสถานกักกัน เมื่อนักเรียนได้รับข้อความขอนัดพบแล้วจะโทรกลับเพี่อยืนยันการเข้าพบอีกครั้ง ระเบียบการเข้าพบทำได้กลุ่มๆละ 2-3 คน ครั้งละ 45 นาที โดย วันเสาร์เปิดให้เข้าเยี่ยมนักเรียนหญิง ส่วนวันอาทิตย์ให้เข้าเยี่ยมนักเรียนชาย ห้ามนำสิ่งของเครื่องใช้เข้าไปให้ผู้ถูกกักกัน ทุกคนจะต้องสวมชุดสีเทาเหมือนกัน
นางกัญญา กล่าวต่อว่า สมาคมไทย-อเมริกันแห่งฟลอริด้าภาคใต้ ได้รวบรวมเงินเพื่อให้ผู้ถูกกักกันไว้ใช้ในเบื้องต้น จำนวนคนละ 20 ดอลล่าร์สหรัฐ โดยใส่เงินไว้ในบัตรมันนี่ ออร์เดอร์ (Money Order) ซึ่งผู้ถูกกักกันสามารถกดเงินใช้ได้เฉพาะในวันพุธ ครั้งละ 50 ดอลล่าร์ต่อสัปดาห์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นร่วมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นด้วย อาทิ นางมาเรีย ดี.ซาลิโอล (Maria D.Sariol) กงสุลกิตติมศักดิ์ ,ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในฟลอริด้าภาคใต้ ฯลฯ รวมถึงความช่วยเหลือจากสมาคม Asian – American Federation of Florida ซึ่งมีสมาชิกกว่า 60 สมาคมย่อยๆ อาทิ สมาคมจากเวียดนาม จีน เกาหลี พม่า อินโดนีเซีย ได้พิจารณาเสนอให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย โดยเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านคำแนะนำปรึกษาแบบเป็นหมู่คณะ
ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสหรัฐอเมริกา และสถานกงสุลไทย ได้มีหนังสือแจ้งเตือนใปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษาไทย เรื่อง ขอให้ระมัดระวังตรวจสอบสถานะการพำนักในสหรัฐฯ ระบุว่า ตามที่นักเรียนไทย 52 คนที่เคยลงทะเบียนเรียน หรือกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสอนภาษา Florida Language Institute มลรัฐฟลอริด้า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ควบคุมตัวในข้อหาเกี่ยวกับการเข้าเมือง คือ ไม่เข้าเรียนเต็มเวลาตามประเภทวีซ่านักเรียน เอฟ1 (F1) หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือพำนักอยู่ในสหรัฐฯเกินกำหนดเวลาที่อนุญาต และโรงเรียนดังกล่าวถูกปิดไปแล้วนั้น สถานกลสุลใหญ่ฯ ขอให้นักเรียนไทยระมัดระวังหมั่นตรวจสอบสถานะการพำนักในสหรัฐฯของตนเอง และปฏิบัติตามเงื่อนไขของสถานะวีซ่าอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องต่างๆ ตามคำเตือนและเงื่อนไขของทางการสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น ถูกจับกุมคุมขัง หรือส่งตัวออกนอกประเทศ
นายรวมพล ไตรสารศีร อายุ 35 ปี อาชีพเชฟอาหารญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่ภรรยาถูกจับกุมตัวไปต่อหน้าต่อตาลูกชายวัยขวบเศษว่า ตนเตรียมตัวจะเดินทางไปแอตแลนต้า โดยขับรถไปที่ออแรนโดแล้วจะขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวนิวยอร์คต่อ ซึ่งมีแผนจะไปรับแม่ของภรรยาที่จะเดินทางมาจากประเทศไทยที่นั่น ในระหว่างเส้นทางตนได้จอดพัก ณ จุดพักรถเพื่อเข้าห้องน้ำ ขณะกำลังเดินมาที่รถมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายเดินมาประกบ เมื่อมองไปที่รถก็เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกสองนายยืนประกบอยู่ข้างรถที่มีภรรยาและลูกชายนั่งอยู่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ถามตนว่าเป็นใคร ชื่ออะไร มีบัตรอะไรมาแสดงตัวบ้าง พร้อมทั้งแจ้งว่ามาตามหาคนชื่อนี้ เอ่ยชื่อภรรยาแล้วถามตนว่า รู้จักหรือไม่ หลังจากนั้นภรรยาก็ถูกควบคุมตัวไปในรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อพาตัวไปค้นหลักฐานการลงทะเบียนเรียนที่โรงเรียนดังกล่าว ตนขับรถพาลูกตามรถตำรวจไปจนถึงบ้าน เจ้าหน้าที่ก็ให้ตนรอข้างนอกและให้ภรรยาพาเข้าไปรื้อเอกสารโดยไม่ยอมปลดกุญแจมือ แล้วในที่สุดภรรยาตนก็ถูกนำตัวไปยังสถานกักกันของ จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้ปล่อยตัวออกมา และยังไม่ให้ประกันตัวใดๆทั้งสิ้น ทั้งๆที่จับตัวภรรยาผมไปเป็นรายแรกตั้งแต่วันที่26 กุมภาพันธ์แล้ว ตอนนี้ลูกผมก็ร้องหาแม่ทุกวันเลย
นายกฤษณ์พล ชัยสวัสดิ์ เพื่อนของผู้ที่ถูกจับกุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ ไอซ์ กล่าวว่า เพื่อนของตนถูกจับกุมตัวไปจากบ้านพร้อมกัน 4 คน โดยเจ้าหน้าที่บุกมาที่บ้านกว่าสิบคน เข้าดำเนินการจับกุมด้วยวิธีค่อนข้างรุนแรงคือเอาปืนที่มีเรเซอร์จ่อหัว จับใส่กุญแจมือ เมื่อตรวจหลักฐานแล้วพบว่าเป็นนักเรียนที่ลงทะเบียนในโรงเรียนนี้ก็จับตัวขึ้นรถไป โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาจะพาไปที่ไหน แต่เนื่องจากเพื่อนๆผมโดนจับเป็นกลุ่มก็ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะเมื่อผมไปเยี่ยมหลังจากที่รู้ว่าเขาเอาตัวไปไว้ที่ปอมปาโน บีช ก็เห็นว่าพวกเพื่อนๆกำลังใจดีมาก ที่น่าสงสารก็เห็นจะเป็นคนที่ไม่มีเพื่อนหรือญาติเลย อาจจะเพิ่งมาจากเมืองไทยและเลือกเรียนที่โรงเรียนนี้ ยังไม่รู้จักใครเท่าไหร่ เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานกักกันเลยต้องโดนไปนอนห้องเดียวกับคนชาติอื่นๆ
นางสาวรัชฎาภรณ์ สมัครกิจ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเพื่อนซึ่งถูกจับกุม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในสถานกักกันว่า เพื่อนของตนเลือกเรียนที่นี่เพราะปัจจัยหลักคือราคาถูก ซึ่งเพื่อนก็เข้าเรียนตลอด ขณะนี้ได้รับจดหมายตอบรับให้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยหลายแห่งแล้ว เพราะสามารถสอบโทเฟล (TOEFL)ผ่านแล้ว แต่ก็ต้องมาถูกจับกุมตามรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ได้มาจากโรงเรียน ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กนักเรียนกลายเป็นคนผิด เพราะความจริงแล้วโรงเรียนสามารถออกใบ ไอ ทเวนตี้(I-20)ให้เด็กนักเรียนได้ ซึ่งเท่ากับทางการได้ตรวจสอบมาตรฐานของโรงเรียนแล้ว
“ขณะนี้เพื่อนกำลังติดต่อทนาย ซึ่งทนายก็บอกว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่จะพ้นข้อกล่าวหา เพราะเพื่อนมีความตั้งใจที่จะเรียนจริง มีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ว่าพยายามเรียนและสอบเพื่อสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ไม่ใช่เรียนแต่ภาษาอยู่ 2-3 ปีแล้วยังไม่พัฒนาไปถึงไหน มัวทำอะไรอยู่ ตอนนี้เพื่อนรู้จากทนายแล้วว่ามีโอกาสรอด กำลังใจเขาก็ดีขึ้น แต่เขาก็ถามว่าเมื่อไหร่เขาจะได้ออกจากสถานกักกัน เพราะทนายบอกว่า เจ้าหน้าที่มีสิทธิกักตัวไว้ได้ถึง 180 วัน”นางสาวรัชฏาภรณ์ กล่าว
นายเอ (นามสมมุติ) นักเรียนไทยผู้หนึ่งซึ่งลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนที่ถูกสั่งปิดดังกล่าว เป็นคนหนึ่งที่ทางการสหรัฐติดตามจับกุมอยู่ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนจบปริญญาตรีมาจากมหาวิทยาลัยเอกชนมีชื่อแห่งหนึ่ง ลงทะเบียนเรียนที่โรงเรียนนี้มาแล้วสองรอบ รอบแรกเมื่อปี 2007 แล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากนั้นเดินทางกลับมาสหรัฐอีกครั้งเมื่อต้นปี 2010 จึงลงเรียนเป็นรอบที่สอง ซึ่งโรงเรียนก็ออกใบ ไอ- ทเวนตี้ (I-20)ให้ ตนก็ไม่เคยไปเรียน ไม่เคยไปเช็คชื่อ ได้แต่ไปสอบตอนกลางภาค และปลายภาค ข้อสอบก็ง่ายๆ ทั้งโรงเรียนตนเคยเห็นครูอยู่ 2-3 คน ที่ว่าโรงเรียนนี้มีนักเรียน 500-600 คน ตนคิดว่าไม่น่าจะถึงหรอก แต่ตนก็ไม่ทราบเพราะในหนึ่งเทอมตนไปโรงเรียนแค่สองครั้งเท่านั้น
“ผมคิดว่าเด็กนักเรียนไทยที่มาลงทะเบียนเรียนที่นี่ ก็เพื่อจะได้ทำงาน ไม่ได้ตั้งใจจะเรียนอะไรจริงจัง เพราะส่วนใหญ่ก็ย้ายมาจากโรงเรียนอื่น พอรู้ว่าที่นี่ราคาไม่แพงและไม่เช็คชื่อก็แนะนำกันมาลงเรียนที่นี่จะได้มีเวลาทำงานหาเงินได้อย่างเต็มที่ เด็กที่ลงเรียนอย่างพวกผมก็พยายามจะทำให้ถูกกฎหมาย โดยแจ้งความประสงค์ในการเข้าประเทศว่าจะมาเรียน และโรงเรียนนี้ก็ทำให้พวกผมอยู่ได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งผมว่าไม่ยุติธรรมเพราะพวกผมพยายามจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมายกลับถูกไล่จับ แต่พวกที่โดดเรือมากลับไม่ถูกจับ” นายเอกล่าว
เมื่อถามถึงการใช้ชีวิตหลังจากเกิดกรณีกวาดจับนักเรียนที่กระทำผิดสถานะของวีซ่า เอฟ-วัน นายเอ กล่าวว่า ตนก็คงไม่หนีไปไหน เพราะตอนนี้ย้ายบ้านจากที่เคยแจ้งไว้กับโรงเรียนแล้ว ตอนนี้มีเพื่อนร่วมชะตากรรมหลายสิบคน แต่ละคนก็พยายามหาทางออกเพื่อจะได้อยู่ต่อ ซึ่งก็ติดต่อทนายเพื่อขอคำปรึกษาไว้บ้างแล้วแต่ถ้าจะถูกจับกุมและส่งกลับประเทศก็ยินยอม แล้วคงจะค่อยๆ หาทางกลับเข้ามาใหม่
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1269941655&grpid=&catid=02