กิ่วแม่ปาน ป่าเมฆในม่านหมอกโดย : ชุติมา ซุ้นเจริญ
“อรุณรุ่งประกาศชัยเหนือเทือกเขาทะมึน ลำแสงสาดส่องไล้ทุ่งโล่ง ณ เบื้องล่าง”บางบรรทัดของเสกสรร ประเสริฐกุล
คือคำบรรยายภาพที่ฉันมองเห็นเวลานี้
หลังผ่านการเดินเท้ากว่าหนึ่งชั่วโมงในผืนป่าที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ปลายเทือกหิมาลัยที่ได้รับการกล่าวขาน ผ่านความเงียบของป่าทึบ ความสดชื่นของธารน้ำ ความเบิกบานของทุ่งหญ้า...
ที่แห่งนี้คือ จุดชมทิวทัศน์อันงดงามไร้ที่ติ ภาพของทิวเขาซ่อนตัวอยู่หลังเมฆหมอก ก่อนจะค่อยๆ เผยตัวรับไออุ่นจากแสงตะวัน เป็นของขวัญชิ้นใหญ่ระหว่างทางเดินศึกษาธรรมชาติ ‘กิ่วแม่ปาน’ ที่บรรยายอย่างไรก็ไม่เท่ากับการมาเห็นด้วยตาตัวเอง-1-
ใครบางคนว่าไว้ “ยิ่งสูง...ยิ่งหนาว” แต่ไม่ใช่ความหนาวเย็นหรอกที่ส่งเทียบเชิญให้เดินทางมาถึงที่นี่...อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กลางเดือนธันวาคม ที่อุณหภูมิใกล้รุ่งลดลงจนแตะ 0 องศา
เป็นเพราะความคิดถึงต่างหากที่เตือนให้กลับมายังป่าเมฆแห่งนี้อีกครั้ง เพื่อย้อนรอยเส้นทางกิ่วแม่ปานที่เคยตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ คราวนี้ฉันเลือกสัมผัสบรรยากาศอันแปลกต่างของอรุณรุ่งดูบ้าง
ที่เก่า...เวลาใหม่ เราได้ไกด์กิตติมศักดิ์ กุล ปัญญาวงศ์ ผู้จัดการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ผู้ช่ำชองและเชี่ยวชาญทั้งเส้นทางและการเล่าเรื่อง
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแห่งนี้มีความยาว 2.78 กิโลเมตร อยู่ก่อนถึงจุดสูงสุดแดนสยาม หรือยอดดอยอินทนนท์ ด้านหน้าทางเข้าเป็นลานจอดรถและจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ในช่วงหน้าหนาวจะเห็นกองทัพนักท่องเที่ยวมารอถ่ายรูปกันเต็มไปหมด แต่ส่วนมากไม่ได้มีความจำนงที่จะออกแรง ทางนี้จึงยังเก็บความรื่นรมย์ไว้ให้กับคนที่อยากชื่นชมธรรมชาติได้พอสมควร
หลังปลดเปลื้องสัมภาระรกรุงรัง ให้เหลือเพียงข้าวของสำคัญและน้ำดื่มขวดเล็กๆ การเดินทางก็เริ่มต้นพร้อมคำอธิบายถึงความสำคัญของการชมนกชมไม้
“กิ่วแม่ปานเป็นเส้นทางที่มีความหลากหลายและนับว่าดีที่สุดในเมืองไทย เพราะจะทำให้เข้าใจว่าดอยอินทนนท์มีความสำคัญอย่างไร เข้าใจเรื่องต้นน้ำลำธาร เข้าใจความสำคัญของป่าที่อยู่ตรงนี้ และเป็นที่มาของการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งมูลนิธิฯได้สำรวจร่วมกับนักวิชาการเรื่องสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง nature tail กำหนดว่าจุดไหนที่เป็นลักษณะเด่นของเส้นทางนี้ เพื่อให้คนได้หยุดและดู มีทั้งหมด 21 จุดตั้งแต่ต้นจนจบ”
แม้ทางเดินจะไม่ได้ยุ่งยากวกวน แต่ทางอุทยานฯ ก็กำหนดให้นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นคนนำทาง โดยติดต่อได้ที่อาคารหน้าทางเข้า ซึ่งมีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับป่าต้นน้ำและการเตรียมตัวในการใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติ กายพร้อม ใจพร้อม ข้อมูลพร้อม...เราเริ่มออกเดินกันตั้งแต่เช้าตรู่ คนที่เคยมาแล้วเร่งฝีเท้านำหน้าไปก่อน ส่วนคนที่มาใหม่เดินตามหลังห่างๆ เพราะมัวแต่แวะถ่ายภาพมุมนั้นมุมนี้ ก่อนจะมาพร้อมกันที่ป้ายสื่อความหมาย 'เฟินยุคโบราณ' ที่บรรยายถึงความพิเศษของเฟินที่อยู่บนโลกมานานถึง 230 ล้านปี
“แสงแดดรำไรกลางสายหมอก เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของเฟินใบบางที่สุด ...ช่วงแล้งอากาศแห้งจะพักตัวชั่วคราว ใบเหี่ยว แต่ไม่ตาย พร้อมฟื้นคืนความเขียวอีกครั้งเมื่อได้ละอองหมอก”
ป้ายเหล่านี้ถูกวางไว้เป็นระยะ คอยเล่าเรื่องอันน่ามหัศจรรย์ของระบบนิเวศน์ เช่น ป่าต้นน้ำกำเนิดสายธาร พรรณพืชไม้ป่าเมฆ ป่าซ่อมป่า เถาวัลย์...
ยิ่งลึกเข้าไป ก็ยิ่งเห็นภาพของการอิงอาศัยระหว่างไม้ใหญ่ที่ยืดตัวสูงรับแสงแดด กับไม้เล็กๆ ที่อยู่ด้านล่าง โดยเฉพาะพรมสีเขียวที่ห่อหุ้มลำต้นไว้อย่างมิดชิดอย่าง มอส เฟิน จนได้รับสมญาว่า “ต้นไม้ใส่เสื้อ”
ความน่าทึ่งของป่าเมฆคือการเอาตัวรอดจากสภาพอากาศที่หนาว ชื้น และลมแรง เป็นบทเรียนเล็กๆ จากธรรมชาติที่ต้องพินิจพิจารณา เช่นเดียวกับย่างก้าวที่ค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป ที่ต้องระมัดระวังทุกลมหายใจ
แม้จะเป็นทางเดินที่ไม่ได้ยากลำบาก แต่ด้วยระดับความสูงจากน้ำทะเล 2,200 เมตร อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น ดังนั้นจึงมีคำเตือนสำหรับคนเป็นโรคความดันสูงและโรคหัวใจ
ทว่า กับคนปกติแล้ว ข้อจำกัดนี้แก้ไขได้ง่ายๆ เพียงเดินให้ช้าลง และเก็บรายละเอียดระหว่างทางให้มากขึ้น
-2-
ในฤดูหนาว แม้สีของใบไม้จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่ดอกไม้บางชนิดก็เริ่มผลิบานอวดสีสัน ทั้งกล้วยไม้ป่าที่ต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อชื่นชม ดอกไม้ประดับดินที่เพียงค้อมศีรษะก็จะมองเห็น
ก้มๆ เงยๆ เหลียวซ้ายแลขวาอยู่พักใหญ่ รู้ตัวอีกที เสียง “โอ้...ว้าว” ของฝรั่งหนุ่มสาวที่เดินล่วงหน้ามาก่อน ก็เรียกร้องให้เร่งฝีเท้าไปพบกับภาพที่หลายคนไม่คาดว่าจะได้เห็นบนความสูงระดับนี้
ทุ่งหญ้า โล่ง กว้าง เปลี่ยนอารมณ์เคร่งขรึมของป่าชื้นมาสู่ความสดใสมีชีวิตชีวาในเสี้ยวนาทีนั้น เป็นเซอร์ไพรส์ที่หากไม่เคยรู้มาก่อน ก็คงต้องร้อง “โอ้ มายก็อด” หลายๆ ครั้งเหมือนกัน
พี่กุล ให้คำจำกัดความธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าว่า ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์
“
ทุ่งหญ้าอัลไพน์ในเมืองนอกจะไม่มีไม้พุ่มเลย แต่ที่บ้านเรามีไม้พุ่มเป็นหย่อมๆ เลยเรียก เซมิอัลไพน์ เมื่อก่อนเชื่อกันว่าทุ่งโล่งนี้เกิดจากการทำไร่ฝิ่น แต่เมื่อถามชาวบ้านพวกเขาบอกว่าตรงนี้ไม่เคยมีประวัติการทำไร่ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เพราะด้านหน้าเป็นหุบ โดนลมตลอด ตรงนี้ร้อนจัด หนาวจัด ลมแรง ก็เลยเกิดลักษณะพิเศษอย่างที่เห็น”
จากจุดนี้ ทางเดินทอดยาวไปตามไหล่เขา เสื้อผ้าสีฉูดฉาดของนักท่องเที่ยวเหมือนคาราวานที่เคลื่อนไปช้าๆ เป็นอีกครั้งที่ไม่มีเสียงใดตั้งคำถามถึงจุดสิ้นสุด
ไม่นานเราก็มาหยุดตรงจุดชมทิวทัศน์ในมุมมอง 360 องศา มีระเบียงไม้ยื่นออกไปเพื่อชื่นชมความงามเบื้องหน้าได้อย่างเต็มตา แผนที่ถูกวางในระนาบเดียวกันบอกชื่อของภูเขาและโตรกผาที่มองเห็น
เมื่อมาถึงที่นี่ครั้งแรก ฉันตกหลุมรักท้องฟ้าสีฟ้าจัดของยามบ่ายที่โอบกอดขุนเขาและทุ่งกว้าง ครั้งนี้แม้ดวงอาทิตย์จะไม่อาจพ้นจากการอำพรางของเมฆหมอก แต่ในความพร่าเลือนนั้น บางคนเปรียบเปรยว่า...นี่คือสวรรค์บนดินที่ไม่ต้องตะเกียกตะกายไขว่คว้า ถ้าเป็นไปได้ ใครต่อใครคงอยากให้โลกหมุนช้าลง หรือไม่ก็เก็บหมอกไปเป็นของฝาก แต่ในความเป็นจริง เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกล และยังมีอะไรให้ชื่นชมอีกมาก
ที่ไม่ควรละสายตาคือ ผาแง่มน้อย แท่งหินแกรนิตคู่ที่ตั้งตระหง่านผ่านร้อนหนาวมาหลายร้อยล้านปี หลักฐานทางธรณีวิทยาที่ธรรมชาติได้เก็บรักษาไว้อย่างดี จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของกิ่วแม่ปาน
“ผาแง่ม เป็นร่องรอยการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก เมื่อผิวโลกยกตัวขึ้นเป็นภูสูง และมีปรากฏการณ์ตรงข้ามอีกครั้งเป็นการผุพัง กัดกร่อน ผลคือ หินแง่มน้อยมีเนื้อหินแข็งกว่า มีรอยแตกน้อยกว่าจึงคงทนและอยู่มาถึงทุกวันนี้”
ทุกคนนิ่งฟัง เหมือนไว้อาลัยให้กับผาดึกดำบรรพ์ ก่อนจะมุ่งหน้าไปบนทางเดินที่วางตัวตามแนวไหล่เขา อาจน่าหวาดเสียวสำหรับคนกลัวความสูง แต่ถูกใจคนที่ชอบ(ถูก)ถ่ายรูปเป็นที่สุด พี่กุล รีบบอกกฎ กติกา มารยาท ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป
“ตลอดสองข้างทางที่เดิน บางทีอาจจะดูเป็นต้นไม้ธรรมดา ต้นหญ้าธรรมดาๆ จริงๆ แล้วต้นไม้ทุกชนิดข้างทางเป็นต้นไม้เฉพาะถิ่นที่มีที่นี่เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราออกนอกเส้นทาง ไปถ่ายรูป เราก็อาจจะไปเหยียบย่ำพืชเฉพาะถิ่นที่เป็นพืชหายาก”
ไม่เพียงพืชเฉพาะถิ่น แต่กิ่วแม่ปานยังมีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่าง กวางผา (ม้าเทวดา) นกพันธุ์หายากอย่าง นกกินปลีหางยาวเขียว ซึ่งหากต้องการเห็นตัวเป็นๆ ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด ไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวาย
“นั่น! กุหลาบพันปี” ใครบางคนแทบจะตะโกนออกมา หากไม่ได้ฟังคำเตือนก่อน
คนที่เหลือมองไปตามทิศทางของปลายนิ้ว ดอกสีแดงเข้มบนต้นที่สูงจากพื้นดิน 2-3 เมตร เพียงดอกเดียวเท่านั้นก็เพียงพอให้สมหวัง
แม้จะไม่ได้สวยสะพรั่งแบบกุหลาบบัลแกเรีย แต่ราชินีแห่งอินทนนท์ก็ขึ้นชื่อเรื่องการปรับตัว เพราะไม่เพียงต้องยืนต้นในสภาพหนาวเย็น ลมแรง บางปียังมีไฟป่ามาทดสอบความแข็งแกร่งอีกด้วย
-3-
หากประเมินจากระยะเวลา ดูเหมือนเราจะเลยครึ่งทางมาแล้ว แดดเริ่มแรงจนต้องถอดเสื้อคลุมตัวหนาออกมาผูกไว้กับเอว
“ป่าที่นี่ ฤดูไหนสวยที่สุด” เสียงสนทนาเริ่มต้นอีกครั้ง
“ถ้าในความรู้สึกของตัวเอง ช่วงสวยที่สุดคือหน้าฝนที่อุทยานปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ช่วงนั้นป่าจะเขียว แต่ถ้าสวยในสายตานักท่องเที่ยว คือช่วงหมดฝนใหม่ๆ เริ่มเข้าหน้าหนาว จะมีทั้งความเขียว มีดอกไม้ ส่วนหน้าหนาวก็จะได้ในเรื่องของอากาศ ฟ้าเปิด สวย แล้วก็มีกุหลาบพันปี ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์” พี่กุล ตอบตามประสาคนที่เดินมาแล้วทุกฤดูกาล ทุกสภาพอากาศ
ระหว่างการสนทนา ฉันเห็นหนุ่มม้งและปกาเกอะญอทำหน้าที่มัคคุเทศก์อย่างคล่องแคล่ว ไถ่ถามจึงได้ความว่าอุทยานต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในดูแลป่า เลยอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น และกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะมาเดินเส้นทางกิ่วแม่ปาน ต้องมีคนนำทาง วิธีนี้นอกจากจะควบคุมไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกลู่นอกทางไปทำลายธรรมชาติ ยังช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยได้อีกด้วย
"ก่อนจะเปิดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวเข้าชม มัคคุเทศก์พวกนี้จะมาช่วยกันเคลียร์เส้นทาง เอาไม้ล้มและสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายออกไป"
สำหรับคนในเมือง เรื่องแบบนี้อาจยกให้เป็น 'จิตอาสา' แต่กับคนที่นี่ มันคือความรู้สึกผูกพันและรับผิดชอบกับผืนป่าแห่งนี้
ในที่สุดทางลัดเลาะสันเขาก็พาเราเข้าสู่ป่าร่มรื่นอีกครั้ง เหมือนเป็นบทส่งท้าย ป้ายสื่อความหมายบอกเล่าความแตกต่างของ "ป่าสองรุ่น" ที่ไม่ควรแค่พบแล้วเลยผ่าน
"ป่าเก่าแก่สมบูรณ์จะพบไม้หลากชนิด ชั้นอายุและความสูงใหญ่ไม่เท่ากัน อยู่ปะปนคละกัน มีกล้วยไม้ มอส เฟิน และเถาวัลย์เกาะเกี่ยว ..ป่า (รุ่นใหม่) แห่งนี้ จะมีต้นไม้ไม่กี่ชนิด ขนาดและความสูงเกือบเท่ากัน เป็นรหัสบอกว่าในอดีตเคยโค่นล้มจากพายุ แล้วมีต้นไม้รุ่นใหม่เกิดขึ้นพร้อมกัน"
ดูเหมือนธรรมชาติจะกำหนดวัฏจักรแห่งชีวิตไว้แล้ว เมื่อชีวิตหนึ่งดับอีกชีวิตก็ถือกำเนิด หากมนุษย์ไม่เข้าไปแทรกแซง วงจรนี้ก็จะรักษาความสมดุลในตัวของมันเอง
แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เพื่อให้เส้นทางนี้เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาอยู่เสมอ สิ่งที่ท่องเที่ยวไม่ควรละเลยจึงเป็นการเตรียมความพร้อมและศึกษากฎระเบียบ เพื่อให้การเดินไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง คือการ "เรียนรู้" ไม่ใช่ "ทำลาย" และที่ต้องใส่ดอกจันกำกับไว้ก็คือ ต้องเปิดใจรับรู้ทุกย่างก้าว เปิดตามองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เงี่ยหูฟังเสียงป่าท่ามกลางความเงียบสงัด
เพื่อจะมาถึงบทสรุปสุดท้ายในป้ายสื่อความหมายที่ 21 “...สรรพสิ่งนี้แม้มนุษย์ไม่อาจสร้าง แต่ร่วมกันรักษาได้”
..........
รอยทางของนักเดินเท้า ณ กิ่วแม่ปาน สิ้นสุดลงแล้ว แต่ภาพทิวเขาในม่านหมอกวันนั้นยังเตือนให้คิดถึงประโยคหนึ่งในหนังสือ “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” ของเสกสรร ประเสริฐกุล
“อรุณรุ่งประกาศชัยเหนือเทือกเขาทะมึน ลำแสงสาดส่องไล้ทุ่งโล่ง ณ เบื้องล่าง แผ่วเพลงเอกภพเยือนเยี่ยมไม้ทุกใบผ่านสายลม”
“เธอจะไม่ได้เห็นภาพนี้ หากมิได้อยู่ตรงนั้น เวลานั้น”
……………….
การเดินทาง
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อยู่ในเขตอำเภอจอมทอง สันป่าตอง และแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จากกรุงเทพฯ สามารถเลือกใช้บริการรถทัวร์ รถไฟ และเครื่องบินมาที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือถ้าขับรถมาเอง เมื่อถึงเชียงใหม่แล้วแนะนำเส้นทางถนนสายเชียงใหม่-ฮอด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) ผ่านอำเภอ หางดงและอำเภอสันป่าตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามถนนสายจอมทอง- อินทนนท์ (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กม.
สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ทางเข้าอยู่กิโลเมตรที่ 42 ด้านซ้ายมือ ระยะทางเดินประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 3 ชั่วโมง