02 มิถุนายน 2567, 16:04:37
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน


เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน [สมาชิกเก่าลืมรหัส โทร 081-7611760]
A A A A  ระเบียบปฎิบัติ
   
Languages    
  หน้า: 1 [2]  ทั้งหมด   ลงล่าง
ผู้เขียน หัวข้อ: ทางเจ็ดสาย  (อ่าน 31594 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
สมชาย17
Hero Cmadong Member
***


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,300

« ตอบ #25 เมื่อ: 17 กุมภาพันธ์ 2550, 19:43:14 »

พี่แอ๊ะ ครับ
เข้ามาเถอะครับ บทความดีๆมีเยอะ  นอกจาก เรื่องทางเจ็ดสาย แล้วยังมี
มาฆะกับวาเลนไทน์  บะหมี่หนึ่งชาม ฝรั่งขี้นก เป็นต้น เข้ามาเถอะครับ
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #26 เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2550, 15:31:28 »

ว่าด้วยการกรวดน้ำ

     หลาย ๆ คนคงเคยสงสัยว่า ทำไมต้องกรวดน้ำ กรวดน้ำเพื่ออะไร ไม่กรวดน้ำไม่ได้หรือ เป็นต้น

     การกรวดน้ำ มีมาตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่อาจทราบได้ เอาเป็นว่า มีมานมนานก่อนพุทธกาลน่ะนะ ในสมัยก่อนนู้นเวลาเขาจะให้สิ่งของกันและกันโดยเฉพาะสิ่งของใหญ่ ๆ ยกขึ้นมอบให้ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยสิ่งแทน หรือสัญลักษณ์แทนการให้สิ่งของนั้น ๆ และสิ่งแทนนั้นต้องเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายด้วย

     น้ำ คนโบราณมักพกพาติดตัว ไว้เป็นน้ำดื่ม และน้ำก็หาได้ง่ายด้วย ดังนั้น คนโบราณจึงสมมติให้น้ำ เป็นสิ่งแทน หรือเป็นตัวแทนเมื่อจะให้สิ่งของใหญ่ ๆ ที่ยกไม่ไหว เรียกน้ำนี้ว่า “น้ำทักขิโณทก หรือ ทักษิโณทก

     เช่น ตอนพระเวสสันดรพระราชทานช้างแก่พวกพราหมณ์ พระองค์ก็ไม่สามารถจะยกช้างขึ้นมอบได้ ก็เทน้ำลงในมือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่า เราได้มอบช้างนี้ให้พวกท่านแล้ว

     แม้ในการถวายที่ดิน การถวายอารามสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ก็ทำนองเดียวกัน คือยกมอบให้ไม่ได้ ก็ใช้การเทน้ำลงมือผู้รับเช่นกัน

     หากเป็นปัจจุบัน อาจใช้สิ่งอื่นแทน เช่น การมอบรถ อาจใช้ลูกกุญแจรถ หรือป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น การมอบบ้าน อาจใช้กระดาษโฉนดที่ดิน แทน เป็นต้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัยน่ะนะ

     เอาเป็นว่า สมัยโบราณ เขาใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ ก็แล้วกันนะ

    ดังนั้น การกรวดน้ำ เป็นการทำเพื่อเป็นสัญลักษณ์การมอบสิ่งของให้แก่ผู้รับ เป็นเรื่องของพิธีการ หรือการกระทำเพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจนว่า “ข้าพเจ้า ให้ท่านแล้วนะ” อันเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ด้วยตา

     ทำไมคนโบราณ ไม่ใช้เพียงคำพูด เช่นว่า “ข้าพเจ้าขอมอบที่ดินผืนนี้ให้ท่าน”  เท่านั้นล่ะ ? เพราะก็เป็นการให้เหมือนกัน แค่พูดก็น่าจะพอ ?

     จริง ๆ แล้วการให้ การรับ มันก็จบอยู่แค่ ผู้ให้มีใจให้ แล้วมอบให้ และผู้รับได้รับเอาแล้ว แค่นั้นแหละ ถ้าถือตามธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องมีการเทน้ำเป็นสัญลักษณ์อีก

     แต่เพื่อว่า การให้และการรับจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้มีการเทน้ำลงมือผู้รับด้วย ทำให้การทำกรรมคือการให้นั้น ประกอบด้วยหลักฐานทางกาย วาจา ใจ คือ ใจที่คิดให้ ๑ เสียงที่พูดออกไป ๑ น้ำที่เท ๑ ทั้งยังทำให้ผู้รับและผู้อื่นที่เป็นพยาน ได้ยินเสียงด้วย ได้เห็นกิริยาอาการมอบให้คือเทน้ำด้วย การให้และการรับจึงแน่นแฟ้นขึ้น มั่นคงขึ้น

     แม้ในปัจจุบัน ยังต้องมีหลักฐานเช่นกุญแจรถ (กระดาษ) โฉนดที่ดิน เป็นต้นเลย ก็เพื่อให้แน่นแฟ้นขึ้นนั่นแหละ

    วกเข้ามาเรื่องที่ว่า พอทำบุญแล้ว ทำไมต้องกรวดน้ำ

     การกรวดน้ำ ก็เพื่อเป็นการทำให้แน่นแฟ้นขึ้นเหมือนกันนั่นแหละ

    เรากรวดน้ำ เพื่ออะไร ? ก็เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ผีเปรตทั่วไป หรือผีเปรตที่เป็นญาติเรา ผีเจ้ากรรมนายเวร  รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เราต้องการจะแบ่งปันส่วนบุญให้ เป็นต้น นั่นแหละ

     และจริง ๆ แล้ว หากผู้รับ หรือผู้ที่เราอุทิศส่วนบุญให้ อยู่ในสถานะที่จะพึงได้รับแล้วล่ะก้อ แม้จะไม่กรวดน้ำ เขาก็ได้รับอยู่ดี แต่หากเขาไม่อยู่ในสถานะที่จะพึงได้รับ แม้เราจะกรวดน้ำ เขาก็ไม่ได้รับอยู่ดี

     หากเห็นว่าใจเราผู้อุทิศให้มีความแน่นแฟ้นดีอยู่แล้ว จะไม่กรวดน้ำ ก็ให้ผลทางใจเหมือนกัน
    เพราะการให้ส่วนบุญ สำเร็จได้ ด้วยใจมอบให้ ด้วยใจน้อมนึกมอบให้ ดังนั้น เมื่อใจเราน้อมนึกมอบให้แล้ว การให้ก็เป็นอันสำเร็จ การให้นั้นก็เป็นอันให้แล้วโดยสมบูรณ์ ความตระหนี่ได้ออกจากใจเราแล้ว

     แต่หากต้องการสร้างความแน่นแฟ้นมั่นคงแห่งการให้ ก็พึงกรวดน้ำด้วย พึงเปล่งวาจาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลด้วย

     เพราะใจมอบให้  เป็นใจที่สลัดความตระหนี่ทิ้ง  วาจาที่เปล่งออกมาให้ตนและผู้อื่นได้ยิน เป็นสัจจะที่สำทับลงไปอีก น้ำที่เทลงดินให้ตนและผู้อื่นเห็น เป็นกิริยาทางกายที่สำทับลงไปอีก (ให้น้ำแก่ดินคือให้ทานแก่พระธรณี)

     น้ำที่จะเทลงไปนั้น จะเทที่ไหนก็ได้ ที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

   ในการกรวดน้ำ ใจอุทิศแบ่งปันส่วนบุญส่วนกุศล เป็นประโยชน์แก่ตนในการชำระความตระหนี่ เป็นประโยชน์แก่ผีผู้ได้รับส่วนบุญ  เป็นการให้ทานน้ำแก่พวกสัตว์เล็ก ๆ มีมด และไส้เดือน เป็นต้น ทั้งยังทำให้ดินชุ่มชื้น เป็นประโยชน์แก่พืชต่าง ๆ อีกด้วย
บันทึกการเข้า
Junphen Juntana
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 403

เว็บไซต์
« ตอบ #27 เมื่อ: 10 เมษายน 2550, 14:46:09 »

อ่านไปอ่านมา ถึงนึกขึ้นได้ว่า "อาบัติ 2535" คือ พี่บัติอักษรของเรานี่เอง บุรุษผู้บอกน้องๆ ว่า "พี่เป็นหนุ่มกรุงเทพฯจ้ะ" ซำเหมอๆ...บุรุษผู้ใส่ uniform พระมาสอบ, และบุรุษผู้มีนิวาสถานอยู่ซอย สรณคมน์ ถ.สรงประภา ดอนเมือง...

โอ้ พี่ท่านๆ ข้าดีใจยิ่งนัก:D
บันทึกการเข้า

เพ็ญ อักษร: รหัส 36 & ซีมะโด่ง 76

เว็บไซต์: http://www.tpa.or.th/writer/author_des.php?passTo=98900ed085c9084a2b01bdbd15fa8470&authorID=429

http://www.facebook.com/penfriend

ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ
saratee14
บุคคลทั่วไป
« ตอบ #28 เมื่อ: 14 เมษายน 2550, 23:37:18 »



i just come by this house, it is very nice, educated and peaceful.



บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #29 เมื่อ: 17 เมษายน 2550, 08:43:30 »

อ้างจาก: "Junphen Juntana"
อ่านไปอ่านมา ถึงนึกขึ้นได้ว่า "อาบัติ 2535" คือ พี่บัติอักษรของเรานี่เอง บุรุษผู้บอกน้องๆ ว่า "พี่เป็นหนุ่มกรุงเทพฯจ้ะ" ซำเหมอๆ...บุรุษผู้ใส่ uniform พระมาสอบ, และบุรุษผู้มีนิวาสถานอยู่ซอย สรณคมน์ ถ.สรงประภา ดอนเมือง...

โอ้ พี่ท่านๆ ข้าดีใจยิ่งนัก:D


ก่อนนี้ ก็เคยเจอน้องเพ็ญแถวๆ สรณคมน์อยู่นี่นา... แต่พักหลัง ย้ายนิวาสสถานไปไหนแล้วล่ะ.. ย้ายตามใครน้อ???
บันทึกการเข้า
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #30 เมื่อ: 17 เมษายน 2550, 09:04:11 »

การทำบุญอุทิศส่วนกุศล

    หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ เมื่อเราทำบุญ หรือถวายสังฆทาน แล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ตายไปแล้วนั้น ผู้นั้น ๆ จะได้รับหรือไม่???

    คำตอบก็คือ มีทั้งได้รับและไม่ได้รับ ขออธิบายย่อ ๆ ว่า ผู้ที่จะได้รับส่วนบุญนั้น ต้องไปเกิดเป็นเปรตที่มีส่วนบุญเป็นอาหาร (หรือศัพท์วิชาการเรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต) เท่านั้น หากเขาไปเกิดเป็นอย่างอื่น จะไม่ได้รับ เพราะว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมีอาหารเป็นของเฉพาะตน มนุษย์ย่อมกินอาหารแบบหนึ่ง สัตว์ดิรัจฉานกินอีกแบบหนึ่ง เทวดา กินอีกแบบหนึ่ง เปรตกินอีกแบบหนึ่ง สัตว์นรกกินอีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย เอาง่าย ๆ ดูแค่คนด้วยกันเองเถิด บางคนกินงู บางคนไม่กินงู หากเอางูไปให้ผู้ที่ไม่กินงูกิน เขาย่อมไม่กิน (ที่ไม่กินเพราะขี้เดียด) คือ อาหารของใครก็ของมันน่ะนะ

     ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ นะ สมมติว่ายายเม้าตายไปเกิดเป็นเปรตชนิดที่กินสิ่งของที่คนอุทิศให้ (ปรทัตตูปชีวีเปรต)

     หากญาติทำบุญกับพระธรรมดา(พระที่ไม่มีตาทิพย์..ไม่ใช่ผู้วิเศษว่างั้นเถอะ) โดยถวายข้าวเหนียวไก่ย่าง แล้วเปล่งวาจาอุทิศส่วนกุศลให้ยายเม้า พร้อมทั้งกรวดน้ำด้วย

     ในกรณีเช่นนี้ พระธรรมดานั้น ย่อมไม่สามารถนำส่วนบุญหรือข้าวเหนียวไก่ย่างอันเป็นมิติผี ไปให้ยายเม้าได้ เพราะพระเองก็มองไม่เห็นอาหารที่เป็นมิตินั้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายายเม้าไปเกิดที่ไหน และมองไม่เห็นผียายเม้าเลย แต่กระนั้นก็ตาม ผียายเม้าก็ยังจะได้รับได้กินข้าวเหนียวไก่ย่างนั้น เนื่องเพราะญาติยายเม้า ได้เจาะจงชื่อยายเม้าแล้ว แม้พระธรรมดาจะทำหน้าที่ไม่ได้ ก็จะมีผู้วิเศษท่านอื่น เช่น ภูมเทวดา พระแม่ธรณี เป็นต้น ทำหน้าที่ประกาศข่าว ส่งข่าวหาผียายเม้า ให้ผียายเม้ามากินข้าวเหนียวไก่ย่างนั้นจนได้ (ของที่อุทิศให้โดยเปล่งวาจาสำทับชื่อลงไป หากเจ้าของชื่อเกิดเป็นเปรตจริงๆ เปรตตนอื่น จะไม่สามารถแตะต้องของนั้นได้ จึงไม่มีเปรตหน้าไหนจะแย่งชิงไปกินก่อนได้)

    การทำหน้าที่นี้นั้น เป็นการสร้างบุญ ได้บุญ ผู้วิเศษเช่น ภูมเทวดา และพระธรณี เป็นต้น จึงกระทำด้วยความยินดี เต็มใจ (ที่สำคัญ เราต้องกรวดน้ำนะ)

     หากญาติทำบุญถวายข้าวเหนียวไก่ย่าง แก่พระผู้ได้ฌานที่มีอิทธิฤทธิ์ (มีตาทิพย์ หูทิพย์...) แล้วเปล่งวาจาอุทิศส่วนบุญให้ยายเม้า  พระผู้มีอิทธิฤทธิ์นั้น ก็จะนำข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น ไปให้แก่ยายเม้าได้โดยตรง เพราะมีตาทิพย์รู้ว่ายายเม้าอยู่ที่ไหน แต่ก็ให้ได้เพียงข้าวเหนียวไก่ย่างแบบเดียวกับที่ญาติอุทิศให้เท่านั้น แม้ยายเม้าจะอยากได้เสื้อผ้า หิวน้ำ เป็นต้น ท่านก็ให้ไม่ได้ (และท่านก็บอกญาติยายเม้าไม่ได้ด้วยว่า ยายเม้าอยากได้เสื้อผ้า ยายเม้าหิวน้ำ เพราะจะเป็นการอวดอ้างตนเองไป หรือคนอาจมองว่าท่านโลภมากอยากให้คนอื่นถวายของที่ตนอยากได้อยากฉัน)

     หากญาติยายเม้าทำบุญถวายข้าวเหนียวไก่ย่าง แก่พระอรหันต์ ผู้มีฤทธิ์โดยสมบูรณ์ แล้วอธิษฐาน หรือเปล่งวาจาอุทิศเจาะจงยายเม้า พระอรหันต์นั้น ก็จะนำข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น ไปให้แก่ผียายเม้า แต่จะดีวิเศษไปกว่าพระผู้ได้ฌานโลกีย์ ก็ตรงที่ หากผียายเม้าต้องการเสื้อผ้า หรือต้องการน้ำ ท่านก็สามารถจะอธิษฐานเนรมิต ข้าวเหนียวไก่ย่าง ให้เป็นเสื้อผ้า และน้ำได้ตามที่ยายเม้าต้องการ  ด้วยบุญฤทธิ์ของท่าน นี่เป็นความสามารถพิเศษของพระอรหันต์  (พระอรหันต์มีทั้งอิทธิฤทธิ์และบุญฤทธิ์)

     การอุทิศส่วนกุศล ต้องมีการเอ่ยชื่อ เจาะจงชื่อผู้รับด้วย ผู้ทำหน้าที่จึงจะส่งได้ถูก นอกจากนั้น การเอ่ยชื่อเจาะจงลงไปนั้น ก็เป็นการกำหนดตัวผู้จะรับด้วย นั่นคือ เปรตตนอื่นที่ไม่ใช่ผู้นั้นจะมาเอาไปไม่ได้ มาหยิบฉวยเอาไม่ได้ เนื่องจากของนั้นมีเจ้าของแล้ว สิ่งของใดก็ตามที่มีเจ้าของ และเจ้าของยังไม่ได้มอบให้ เปรตจะไม่สามารถใช้สอยหรือบริโภคได้เลย มันเป็นกรรมของเปรตน่ะนะ

     แต่หากเราแบ่งปันส่วนบุญ น้อมใจมอบให้แบบไม่เจาะจงชื่อผู้ใด ผีทั้งหลายที่อยู่บริเวณนั้น ๆ ก็จะได้กิน ได้ใช้ของเหล่านั้น (ตามแต่จะแย่งมาได้)

     อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ที่เราตั้งใจจะอุทิศส่วนกุศลให้นั้น จะได้รับส่วนบุญหรือไม่ก็ตาม เราซึ่งเป็นผู้ทำบุญ ย่อมได้บุญแน่นอน เพราะบุญที่เกิดกับใจ เป็นภาวะเบิกบาน อิ่มเต็ม หากเราสังเกตจะเห็นได้ ก่อนเราจะถวายทาน ใจเราเบิกบาน ก็เกิดเป็นบุญ ขณะถวายทาน ใจเราเบิกบาน นั่นคือเกิดบุญ หลังถวายทาน เมื่อระลึกนึกถึงการทำบุญนั้น ใจเราเบิกบาน นั่นก็เกิดบุญ ทุกขณะที่เราเบิกบานใจ นั่นแหละ คือบุญเกิด และเราก็เสวยบุญไปด้วย นี่แหละ คือทำบุญแล้วได้บุญทันตา

    ที่สำคัญ ทำบุญแล้วอย่าเสียใจภายหลัง อย่าเสียดายภายหลัง ให้ภูมิใจกับการที่ได้เสียสละออกไป ให้สบายใจกับการทำบุญทุกครั้ง

เมื่อใจสบาย นั่นคือใจเสวยบุญ    ยิ่งเบิกบานใจ บุญยิ่งเกิด  
 
การรักษาใจให้เบิกบาน  คือการสร้างใจบุญ  ความสุขใจ ก็อยู่ที่ตรงนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย



     แต่หากยายเม้าตายไป เกิดใหม่เป็นสัตว์นรกที่มีกรรมเป็นอาหาร เป็นเปรตชนิดอื่นที่มีกรรมและความหิวโหยเป็นอาหาร เป็นดิรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา  หรือเป็นพรหม

     แม้ญาติจะทำบุญข้าวเหนียวไก่ย่างกับพระอรหันต์ก็ตาม ยายเม้าก็จะไม่ได้รับ ไม่ได้บริโภคข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น เพราะอาหารของใครก็ของมัน เป็นมนุษย์จะไปกินของผีก็ไม่ได้

     ข้าวเหนียวไก่ย่างมิติผีนั้น ก็จะตกเป็นของผีตนอื่น ๆ ที่เคยเป็นญาติของเราในอดีต สรุปว่า ข้าวเหนียวไก่ย่างไม่กองวางอยู่เฉย ๆ แน่นอน เป็นประโยชน์แก่ผีแน่นอน

     แต่ยายเม้า จะได้รับบุญทางใจ เป็นความสุขทางใจอันเกิดจากกระแสจิตให้ หรือกระแสจิตเมตตาของหมู่ญาติที่แผ่มาถึง ทำให้ช่วงนั้น เวลานั้น เกิดความรู้สึกสบายใจ ซึ่งสิ่งที่รับได้นั้น เป็นเพียงนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมที่จะพึงบริโภคได้ (แต่หากทรมานมาก ทุกข์มาก เช่นเป็นเปรตบางจำพวก หรือตกนรก เป็นต้น ใจอาจจะสัมผัสรับเอาความสุขไม่ได้ เหมือนเติมน้ำตาลหนึ่งหยิบลงในเกลือหนึ่งจานย่อมไม่รู้ถึงความหวานแห่งน้ำตาล)  ซึ่งหาก เราทำบุญกับผู้มีฤทธิ์ ท่านก็จะนำข่าวบุญ ไปบอกแก่ยายเม้าที่อยู่นรก เปรต เทวดา ให้ยายเม้าอนุโมทนาบุญกุศล ยายเม้าก็จะได้บุญจากการอนุโมทนานั้น

    พึงเข้าใจว่า แม้ยายเม้าจะไปเกิดใหม่ที่ไหนก็ตาม เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ก็จะมีทั้งได้รับสิ่งของนั้น มีทั้งรับได้เฉพาะบุญทางใจ แล้วแต่กรณีตามที่อธิบายไปแล้ว แต่การที่จะให้ยายเม้าไปผุดไปเกิดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนบุญที่เราอุทิศให้หรอกนะ มันขึ้นอยู่กับกรรมของยายเม้าเอง ขึ้นอยู่กับใจของยายเม้าเองว่าจะยอมปลดปล่อยใจเปรต ใจผี ออกไปหรือไม่ เพราะโดยมากมันปล่อยยาก ลืมยาก ใครล่ะจะอยากตาย การละอัตภาพผีไปเป็นอย่างอื่น มันก็คือการตาย เราผู้เป็นมนุษย์เข้าใจชัดว่าเป็นผีมันทุกข์ อยากให้เขาละความเป็นผีมาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ผีทำไม่ได้หรอก เขายึดติดใจผีอยู่ แม้จะทุกข์เขาก็ยอมทุกข์ ยอมเป็นผีต่อไปจนกว่าจะหมดกรรม หรือสิ้นอายุขัยของตนนั่นแหละ ใครล่ะจะอยากตาย ผีก็ไม่อยากตายนะ

     มนุษย์เราเองเหมือนกัน หากเทวดามองลงมา ก็คงอยากให้เราละความเป็นมนุษย์แล้วไปเป็นเทวดา เหมือนกันนั่นแหละ แม้จะอธิบายว่าเป็นมนุษย์มันทุกข์ เป็นเทวดาสบาย เราฟังแล้ว เรากล้าตายหรือ เราก็ยังต้องทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัยนั่นแหละ พวกผีก็เหมือนกัน ดังนั้น เราก็ทำได้แค่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ให้พวกเขาได้บริโภคเป็นครั้งคราว อนุโมทนาเป็นครั้งคราว (แต่ถ้าทำได้ทุกวัน เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ดีมาก)

     การทำบุญให้ผู้ที่ยังไม่ตาย โดยมากมักเกิดจากสาเหตุที่ผู้นั้น ๆ ซึ่งเป็นผู้ที่เรารัก เมตตา สงสาร ไม่ค่อยใส่ใจในการบุญการกุศล หรือไม่มีโอกาสทำบุญ เราเลยอยากให้ผู้นั้นได้บุญ จึงทำบุญอุทิศส่วนบุญนั้นให้

     ซึ่งการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ยังไม่ตาย (ไม่ใช่แช่งให้ตายนะ) นั้น เขาจะได้รับส่วนบุญในส่วนที่เป็นความสุขทางใจ และเกิดบุญเพิ่ม เมื่อ ได้ยิน ได้ฟัง ได้รับรู้ถึงการทำบุญนั้น แล้วมีใจพลอยยินดี มีใจเห็นด้วยกับการทำบุญนั้น ไม่รังเกียจการทำบุญนั้น ซึ่งรวมเรียกว่า มีใจอนุโมทนา นั่นเอง สำคัญเมื่อรับทราบแล้ว เขาต้องเห็นว่า ดีแล้ว ดีคัก ดีแท้ ๆ แค่รู้สึกอย่างนี้แหละคือการได้บุญแล้ว

      นั่นคือ ไม่สามารถจะได้รับส่วนบุญที่เป็นข้าวของแบบเดียวกับที่คนทำบุญอุทิศให้  แต่ได้รับในลักษณะ สุขใจ และรับรู้แล้วอนุโมทนา

        วิธีอีกอย่างหนึ่งในการทำบุญเผื่อผู้ที่เรารัก เมตตา สงสาร ก็คือ เราทำบุญไปก่อน แล้วมาเล่าให้ผู้นั้นๆ ฟัง เช่นว่า “เมื่อวานเราทำบุญไป ๑๐๐ บาท เรายกบุญให้เธอหมดเลย ..เรายกบุญให้เธอครึ่งหนึ่ง”  “เมื่อวาน พี่ไปถวายสังฆทานมา ได้ทำบุญเผื่อน้องด้วย ...”  นั่นคือ ใช้ทรัพย์ ใช้เวลาของเราทำบุญเพื่อผู้อื่น จะว่าเป็นการยัดเยียดบุญก็ไม่ผิด เมื่อผู้นั้นได้รู้ ได้ฟัง แล้วยินดีด้วย ยอมรับเอาบุญนั้น ผู้นั้นก็ได้บุญแล้ว

     แต่ถ้าอยากให้เขาได้รับส่วนที่เป็นข้าวของ ก็ไม่ยากเลย แค่เอาของนั้น ๆ ไปมอบให้เขา เขาก็ได้รับแล้ว

    การมอบข้าวของแก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ให้ก็ให้ได้ด้วยมือตน ทั้งรู้และเห็นว่าผู้รับรับเอาแล้ว ผู้ให้ก็เกิดบุญ ผู้รับดีใจก็เกิดบุญ การเกื้อกูลกันและกันในชาตินี้นี่แหละ เห็นผลทันตา เห็นบุญทันตา

     อย่ามัวรีรอให้ท่านตายก่อน แล้วค่อยทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เลย

     เราทั้งหลายเมื่อเข้าใจชัดว่า ตายไปแล้วหากเกิดเป็นเปรต ก็ยากที่จะมีคนทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ยากจะได้รับส่วนบุญที่ญาติจะมาอุทิศให้  จึงไม่ควรคิดว่า ไม่เป็นไร เรายังไม่จำเป็นต้องทำบุญ เพราะหากเราตายแล้ว ลูก ๆ คงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้..  พ่อแม่คงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้..  อย่าคิดเช่นนั้นแล้วรีรอการทำบุญ นะ  

    มีโอกาสเมื่อใด ควรทำทันที  อย่าหวังพึ่งบุญของคนอื่น ควรสร้างบุญเอง ด้วยตัวเราเอง
บันทึกการเข้า
Junphen Juntana
Full Member
**


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 403

เว็บไซต์
« ตอบ #31 เมื่อ: 18 เมษายน 2550, 11:56:15 »

พี่บัติ หนุ่มกรุงเทพฯ เจ้าขา

แม้จะตัวดำ แต่ชีวิตเพ็ญกลับคล้ายผีตองเหลือง ย้ายที่อยู่ไปบ่อยๆ เรื่อยๆ

เพ็ญชอบทำอาหารมากๆ ตลาดฝั่งโขงที่ดอนเมืองของไม่ระห่ำฉ่ำใจ ก็เลยต้องมาอยู่สะพานใหม่ แล้วไปช็อปที่ตลาดยิ่งเจริญ

ช็อปฉ่ำปอด กินฉ่ำใจเลยค่ะพี่ Cheesy
บันทึกการเข้า

เพ็ญ อักษร: รหัส 36 & ซีมะโด่ง 76

เว็บไซต์: http://www.tpa.or.th/writer/author_des.php?passTo=98900ed085c9084a2b01bdbd15fa8470&authorID=429

http://www.facebook.com/penfriend

ทำใจให้ดี ทำดีให้ใจ
อาบัติ2535
มือใหม่หัดเมาท์
*


ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 140

เว็บไซต์
« ตอบ #32 เมื่อ: 25 เมษายน 2550, 09:39:08 »

ว่าด้วยเรื่องตัณหา

    คำว่า “ตัณหา” แปลง่าย ๆ ว่า ความอยาก หรือแปลแรง ๆ ว่า ความทะยานอยาก เราท่านทั้งหลายที่ต้องทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เนื่องเพราะเจ้าตัว “ตัณหา” นี่แหละ ที่เราท่านทั้งหลายยังต้องเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ ก็เพราะ “ตัณหา” นี่แหละ   แต่ตัณหา มิใช่จะมีผลเสียอย่างเดียว ตัณหา ก็เป็นตัวนำพาให้คนเราได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นเทวดา ได้เกิดเป็นพรหม และได้ถึงพระนิพพาน ตัณหา จึงมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับผู้นำมันมาใช้

     ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตัณหาเกิดโทษ หรือนำเราลงสู่ที่ต่ำ จึงต้องเรียนรู้ตัณหา รู้จักตัณหา สักหน่อย  ดังที่บอกแล้วว่า ตัณหา คือความอยาก การอยากได้ของของคนอื่นก็จัดเป็นตัณหา หากอยากได้แล้ว พยายามให้ได้ของนั้นมาโดยทุจริต ก็จัดเป็นบาป ซึ่งความอยากในทางต่ำ ในทางไม่ดี เป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง

     ความอยากที่ให้เกิดกุศล เช่น อยากเกิดเป็นมนุษย์  แล้วพยายามเรียนรู้วิธีการเพื่อความเกิดเป็นมนุษย์ และปฏิบัติตามวิธีการเหล่านั้น อยากเกิดเป็นเทวดา อยากเป็นคนดี อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อยากบรรลุนิพพาน เป็นต้น ซึ่งความอยากเหล่านี้ เป็นความอยากที่นำพาเราไปสู่การประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นทางกุศล

     แต่ความอยาก ก็เป็นมูลเหตุให้เราเวียนว่ายตายเกิด แม้จะเกิดในภพภูมิดี ๆ ก็ตาม ความอยากเป็นยางเหนียวยึดเราไว้ไม่ให้ออกจากภพ บางชาติ เราอาจเกิดในภพดี ๆ การที่มีตัณหาอยู่ หากไม่ได้รับคำชี้แนะที่ถูกต้อง ตัณหานั้น อาจถูกย้อมด้วยกิเลสคือ โลภะ โทสะ โมหะ ซ้ำเข้าไปอีก ทำให้กลายเป็นความอยากในทางต่ำ นำพาเราทำสิ่งที่ไม่ดี จนต้องไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลง กว่าจะเงยหัว เงยคอได้ ก็ต้องอีกนาน แสนนาน เพราะการเวียนว่ายตายเกิด ไม่แน่นอนนี่เอง พระพุทธองค์ จึงทรงชี้แนะให้เราเกิดความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด และให้ละตัณหาให้ได้ในที่สุด โดยวิถีทางคือวิปัสสนา นั่นเอง


ตัณหา ทำให้ทุกข์ได้อย่างไร

     คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า ตัณหา ทำให้เกิดทุกข์ได้อย่างไร คนเราเป็นทุกข์เพราะเมื่อความอยากเกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้สมอยาก

ตัณหา คือความอยาก แจกแจงย่อ ๆ ได้ ๓ ประการ คือ
    ๑.เมื่อเราไม่มี หรือขาดสิ่งบางอย่างที่จะพึงอำนวยความสุขให้ตนได้โดยที่สิ่งนั้นจะเป็นของจำเป็นจริงๆ หรือไม่จำเป็นก็ตาม  ความอยากได้ อยากมีสิ่งเหล่านั้น จัดเป็นตัณหาหรือความอยากอย่างหนึ่ง คือ อยากมี อยากได้ อยากเป็น
      เช่น เราไม่มีมือถือ คิดว่าหากมีมือถือจะ.......เอาเป็นว่ามีมือถือแล้วจะมีความสุขน่ะนะ... เกิดความอยากได้ แต่ยังไม่มีตังค์ซื้อ เกิดความอยากซ้อนขึ้นมา ว่าอยากมีตังค์ ในช่วงที่ยังไม่มีตังค์ ไม่มีมือถือ หากเราระงับความอยากนั้นไม่ได้ ก็จะเกิดทุกข์ใจตามมา ทุกข์เพราะไม่ได้สมอยาก นั่นเอง  เป็นต้น

    ๒.เมื่อเรากำลังมีความสุข มีหรือได้สิ่งที่น่าใคร่น่าพอใจ มีหรือได้สิ่งที่ตนพึงพอใจ ความอยากที่จะให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่กับตนไปนาน ๆ หรือตลอดไป จัดเป็นตัณหาหรือความอยากอย่างหนึ่ง คือ อยากให้สิ่งที่ดีดีคงอยู่
       เช่น เราได้มือถือที่เราอยากได้แล้ว มีความสุขจากการมีนั้นแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง มือถือนั้นหายไปอาจจะโดนขโมยหรือลืมเองก็ตาม เอาเป็นว่าเราไม่อยากให้มันหาย เราอยากให้มันอยู่กับเราไปนานๆ (จนกว่าจะเบื่อ) เมื่อมันหายไป เราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะไม่ได้สมอยาก นั่นเอง เป็นต้น

    ๓.เมื่อพบ มี หรือได้สิ่งที่ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็อยากให้สิ่งนั้นหายไป อยากให้ไม่ต้องพบ ไม่ต้องมีสิ่งนั้น บุคคลนั้น เป็นต้น  นี้จัดเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง คือ อยากให้ไม่มี อยากให้หายไป
       เช่น เมื่อพบคนตื้อ แต่เราไม่ชอบเขา อยากให้เขาไม่มาจีบเราอีก แต่เขาก็ยังตื้ออยู่ เราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะอยากให้ไม่พบเขา ไม่ต้องเจอการตื้อของเขา แต่มันไม่เป็นไปตามความอยาก ความต้องการของเรา
    [/list]

         สรุปแล้ว ตัณหาคือความอยาก อยากได้แล้วไม่ได้ อยากมีแล้วไม่มี อยากเป็นแล้วไม่ได้เป็น อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วไม่เป็นไปตามนั้น  นี้นี่แล เป็นมูลแห่งทุกข์ ดังพรรณนามาฉะนี้

         แต่ว่า ความจริงแล้ว ตัณหา มันก็มีอยู่ของมัน เกิดขึ้นของมัน ดับไปของมันเองอยู่แล้ว หากเราไม่เข้าไปยึดถือ ไม่เข้าไปหอบไว้ ไม่เก็บมันไว้ มันก็แค่ผ่านมา ผ่านไป เท่านั้น ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น นั่นคือ เมื่อตัณหาเกิดขึ้นแล้วต่อมา มีอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่าความยึดถือ หรือภาษาธรรมเรียกว่า “อุปาทาน”   อุปาทาน นี่แหละ สำคัญนัก เป็นตัวทำให้เราปล่อยวางไม่ลง ลืมไม่ลง [/size]
    บันทึกการเข้า
    อาบัติ2535
    มือใหม่หัดเมาท์
    *


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 140

    เว็บไซต์
    « ตอบ #33 เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2550, 12:55:15 »

    แค่ยอมรับได้ก็ไม่ทุกข์ใจแล้ว

        คนเราทุกคนเกิดมาย่อมมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนรู้ว่าความทุกข์เป็นยังไง จึงไม่มีใครอยากมีทุกข์ จริงมั๊ย กระนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ดอกสำหรับคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ น่ะ

        ทุกข์ เช่น หนาวก็ทุกข์ ร้อนก็ทุกข์ ปวดท้องก็ทุกข์ เจ็บขาก็ทุกข์ เป็นต้น เป็นทุกข์อันเนื่องด้วยกาย

         ทุกข์ เช่น ไม่ได้เห็นหน้าแฟนแล้วทุกข์ ญาติมีอันเป็นไปแล้วทุกข์ ของหายเสียดายแล้วทุกข์ ถูกด่าแล้วทุกข์ เป็นต้น เหล่านี้เป็นทุกข์อันเนื่องด้วยใจ


         ดังอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า จริง ๆ แล้วมันเกิดจากตัณหานั่นน่ะ ถูกเผงทีเดียว

         พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรทำความรู้จัก สมุทัย หรือเหตุแห่งทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรละ ดังนั้นเมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับทุกข์ เราต้องไม่หนีทุกข์ ความทุกข์ที่มาหาน่ะมันเป็นธรรมะนะ มันไม่ได้มาร้ายนะ เราคิดร้ายกับมันเองต่างหาก มันมาดี แต่มันขี้เหร่ จึงไม่มีใครชอบ ทุกคนพอเจอมันก็อยากจะหนีมันให้สุดขอบฟ้าทีเดียว แต่ไอ้ทุกข์นี่มันก็หน้าด้านเป็นจอมตื้อจริง ๆ เนอะ ยิ่งหนีมัน มันก็ยิ่งมาหา... การพยายามหนีมันน่ะ เป็นการทำไม่ถูกนะ

         แล้วที่ถูกควรทำอย่างไร? ที่ถูกน่ะหรือ .. ก็ทุกข์เขามีของเขาประจำกับใจนี้มานานแล้ว จะไล่ไปง่าย ๆ ได้อย่างไร ต้องทำความรู้จักมัน ทักทายมัน คุยกับมัน จนกระทั่งใจเรายอมรับมัน เมื่อยอมรับมันได้มันไม่ทุกข์นะ แต่การยอมรับมันก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ

         จริง ๆ นะ หากยอมรับมันได้ มันไม่ทุกข์จริง ๆ สมมตินะ สมมติตาสานั่งรถเมล์แดงจากที่พักไปทำงาน ปกติใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง รถมันติดน่ะนะ แค่ใกล้ ๆ เอง ตาสาเจอสภาพแบบนี้ทุกวัน ยอมรับมันซะแล้ว ยอมรับมันได้ว่า ธรรมดามันก็เป็นแบบนี้ของมัน รถมันติดแบบนี้เป็นธรรมดา เลยไม่ทุกข์  แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักมักจี่กับสภาวะแบบนี้มานั่งรถเมล์ไปกับตาสาสิ คนนั้นจะทุกข์ ทุกข์เพราะยอมรับสภาพนั้นไม่ได้   อีกตัวอย่างหนึ่งนะ คนเราพอเจอความหนาวระดับ 5 องศา จะรู้สึกหนาวมากยากทานทน จนเกิดทุกข์ขึ้น แต่กับบางคน หนาวเหมือนกันแต่กลับไม่ทุกข์ ที่ไม่ทุกข์เพราะใจมันยอมรับได้ ใจอยากไปยลโฉมความงามแห่งภูกระดึง อยากสัมผัสความหนาว เมื่อเจอความหนาวเข้า รู้สึกหนาวน่ะรู้สึกอยู่ แต่ใจไม่ทุกข์ ใจมันสนุกแทน ใจมันยอมรับได้ มันก็ไม่ทุกข์ ดูฝรั่งสิ นอนอาบแดดมีความสุขเฉย... การยอมรับได้นี่แหละ คือตัวแยกมาตรฐานแห่งความสุข ความทุกข์ที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคนล่ะ

         บางคน แค่ ช่างตัดผม ตัดพลาดนิดหน่อย ตัดไม่ได้ดั่งใจ ก็ทุกข์ โมโห ในขณะที่บางคน ยอมรับได้ ช่างมัน ทรงไหนก็ได้ แล้วไม่ทุกข์ บางคนเข้าคิวรอนิดเดียวก็ทนไม่ได้ เป็นทุกข์ แต่บางคนยอมรอได้แม้เป็นคนสุดท้าย แล้วมาตรฐานความทุกข์ ความสุขของคนอยู่ตรงไหน หากจะว่ามาตรฐานกันจริง ๆ สามัญชนคนมีกิเลส ไม่มีมาตรฐานอันเดียวกัน ที่เสมอเหมือนกันหรอก มันอยู่ที่กิเลส อยู่ที่ทิฏฐิ อยู่ที่การยอมรับของแต่ละบุคคล

         เมื่อเผชิญกับทุกข์แล้ว หากเป็นคนทั่ว ๆ ไป จะแก้ทุกข์ หรือดับทุกข์ด้วยการไปดื่มเหล้าบ้าง เสพยากล่อมประสาทบ้าง ลักขโมยบ้าง ปล้นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายตัวเองบ้าง เป็นต้น กระทั่งฆ่าตัวตายไปเลยเพื่อหนีทุกข์ก็มี การแก้ทุกข์หรือดับทุกข์ด้วยวิธีเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ใช่การดับทุกข์จริง ๆ หรอก แต่เป็นการพักทุกข์บ้าง ทับถมทุกข์เดิมบ้าง หนีทุกข์บ้าง ซึ่งเดี๋ยวมันก็มาอีกเมื่อสร่างเมา ทุกข์ใหม่มาเมื่อถูกจับ ทุกข์ใหม่มาเมื่อบาดเจ็บ หรือตายไปเสวยทุกข์ต่อในภพต่อไป เป็นต้น เช่น ถูกแฟนทิ้ง ยอมรับไม่ได้กับเหตุการณ์นี้ ทุกข์ใจ ไปกินเหล้า มันก็คลายทุกข์ลงได้เฉพาะช่วงที่เมาจนไม่รู้สึกตัวเท่านั้น พอรู้สึกตัวขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ ทุกข์ใจมันก็มาอีก อาจจะมีทุกข์อื่นเกิดตามมาเช่น เงินหมดเพราะกินเหล้า ถูกหัวหน้าด่าเพราะเมามาทำงาน เป็นต้น พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งดิ้นยิ่งรัดแน่น ยิ่งดิ้นยิ่งทุกข์

         แต่สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เมื่อทุกข์ใจเกิดขึ้น จะเผชิญทุกข์ใจอย่างสง่าผ่าเผย ไม่ดิ้น ไม่หนี ไม่พยายามสลัดทิ้ง แต่ทำความรู้จักมัน เข้าใจมัน รู้ชัดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้น เมื่อรู้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ก็ยอมรับมันได้ พอยอมรับได้เท่านั้นแหละ มันหายไปเอง ที่หายไปเองน่ะคือความรู้สึกทุกข์ใจนะ เช่น หากเราอยู่กลางแดดร้อน ใจยอมรับความร้อนนั้นได้ ใจไม่ทุกข์ แต่ความรู้สึกร้อน(ซึ่งเป็นเวทนา)นั้น ยังมีอยู่ คือร้อนน่ะร้อน แต่ไม่ทุกข์ ถูกแฟนทิ้งยอมรับสภาพได้ ยอมรับในการตัดสินใจของแฟน ยอมรับในความสุขของแฟน ยอมรับในกฎแห่งกรรมที่ว่า “หากเป็นของของเราย่อมเป็นของเราอยู่ดี หากไม่ใช่ของของเรา เมื่อถึงเวลา ของนั้นก็ต้องจากเราไป” ขอให้ยอมรับได้เท่านั้นแหละ ก็ไม่ทุกข์ใจแล้ว

         ตัณหาหรือความอยากที่เป็นต้นตอแห่งทุกข์ เราทั้งหลายยังละไม่ได้ ก็ควรหันมารับมือกับทุกข์ด้วยวิธีการที่ถูกต้องแทน สิ่งไหนที่เป็นทุกข์ใจก็ขยายขอบเขตที่ยอมรับได้ออกไปให้กว้าง ให้ครอบคลุมถึงระดับทุกข์นั้น ๆ เพราะรู้อยู่แล้วนี่ว่า ยอมรับได้ก็ไม่ทุกข์ใจ

         กับผู้คนที่เราคบหา เราก็ไม่ควรพยายามไปเปลี่ยนแปลงเขา ให้เป็นอย่างที่เราต้องการ เราเพียงแค่ศึกษาเขา เข้าใจเขา และยอมรับเขา ในสิ่งที่เขาเป็น ก็พอ เพียงแค่เราปรับขยายขอบเขตแห่งทิฏฐิหรือความเห็นของเราให้กว้างครอบคลุมทิฏฐิของผู้อื่น ก็พอ นี่แหละคือวิธีการรับมือกับทุกข์ล่ะ

    ความเศร้าโศก ความเจ็บช้ำใจ เป็นต้น ทั้งมวล เกิดจากใจเราเอง
    ผู้อื่นสร้างให้เราได้แค่ปัญหา แต่สร้างทุกข์ใจให้เราไม่ได้
    เราเท่านั้นที่สร้างทุกข์ใจให้เราเองได้ เพราะทุกข์ใจมันเกิดจากใจเราเอง หายไปจากใจเราเอง
    ยอมรับมันได้ ก็ไม่ทุกข์ใจแล้ว
    บันทึกการเข้า
    veekung
    Cmadong พันธุ์แท้
    ****


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 3,361

    « ตอบ #34 เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2550, 15:57:07 »

    ยังอ่านไม่จบอ่ะครับพี่มาลงชื่อไว้ก่อน ทางที่ผมอธิษฐานไว้ไม่ว่าตอนกราบพระ และตอนทำบุญคือขอให้ได้เข้าสู่กระแสพระนิพพานในชาตินี้ ถึงแม้จะไม่ได้ในชาตินี้ก็ขอให้ได้ในชาติหน้าครับ (แต่ว่าไม่ค่อยได้ปฏิบัติเท่าไหร่ตอนนี้ไหลตามกิเลสตัวเองไปเรื่อย ๆ ครับ เฮ้อเมื่อไหร่จะถึงฝั่ง) Cheesy
    บันทึกการเข้า

    quot;อยากทำได้ให้ถามหญิงต่ำหูก อยากทำถูกให้ถามเด็กเลี้ยงควาย คนหลายคนกินน้ำบ่อเดียว เดินทางเดียวไม่ซ้ำรอยกัน" หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
    <img src="[url]http://images.veejang.multiply.com/badge/U2FsdGVkX1.NpQZsTXem61w2P0GWCkA-bbo-041zLltmdDT.VkgnNuJu42GDLoxDzp2qkya
    อาบัติ2535
    มือใหม่หัดเมาท์
    *


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 140

    เว็บไซต์
    « ตอบ #35 เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2550, 13:41:32 »

    ว่าด้วยทิฏฐิ

        คำว่า “ทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็น หมายถึง ความคิดเห็น ทัศนคติ หรือค่านิยม ทิฏฐิ เป็นความคิดเห็นที่เกิดจาก การตีค่า ประเมินค่า การตัดสินค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้ประสพ ได้เห็น ได้ยิน ได้ลิ้มรส ได้กลิ่น ได้ถูกต้องสัมผัส ฯลฯ ว่า ดี ไม่ดี สวย ไม่สวย ถูก ผิด เป็นต้น ความคิดเห็นของเราทุกอย่าง ผ่านการตีค่า ประเมินค่า แล้วทั้งนั้น

         ทิฏฐิ หรือความเห็นนั้น ตราบใดที่เรายังมีสังขารขันธ์หรือความคิดนึกอยู่ มันก็ยังจะเกิดขึ้นอยู่ได้ตราบนั้น

         ทิฏฐิ ที่เกิดขึ้นนั้น หากไม่มีอุปาทานมาหอบยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ ไม่ก่อทุกข์ใด ๆ

         คนที่มีทิฏฐิ แล้วยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐินั้น ๆ  (ทิฏฐุปาทาน) จะทุกข์ใจ ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
         คนที่มีทิฏฐิ แต่ปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นในทิฏฐินั้น ๆ ได้ จะไม่ทุกข์ใจ ไม่ขัดเคืองใจ
    ความยึดถือในความคิดเห็นนี่แหละ เป็นตัวปัญหา (แต่เพื่อเข้าใจง่าย ขอใช้แค่คำว่าความเห็นก็แล้วกันนะ)

        คนเราทะเลาะกันเพราะอะไร?  เพราะความเห็นขัดแย้งกัน
         คนเราขัดแย้งกันเพราะอะไร?  เพราะความเห็นไม่ตรงกัน


         เมื่อมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน และแสดงความเห็นนั้น ๆ ออกไปทางกิริยาอาการท่าทางก็ดี ทางการพูดจาก็ดี แค่นี้ยังไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะ จะเกิดการทะเลาะกัน ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งคิดเห็นเหมือนตน เชื่อเหมือนตน อยากให้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นดังความคิดเห็นของตนนั่นแล

    ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก่อเกิดมาตรฐานที่ต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดเคืองใจ ความทุกข์ใจ
    ยกตัวอย่างเช่น

         เรานั่งดูละครทีวีอยู่ เห็นกิริยาอาการรวมถึงคำพูดของตัวอิจฉาหรือตัวร้าย แล้ว รู้สึกอย่างไร? รู้สึกไม่พอใจใช่หรือไม่ มาดูว่าความไม่พอใจนั้นเกิดจากอะไร? ความไม่พอใจนั้น เกิดจากเรามีความเห็นว่าการทำกิริยาอาการหรือวาจาแบบนั้น มันไม่ถูกต้อง มันไม่ดี ไม่สมควรทำ และเราก็ยึดถือความเห็นเช่นนี้ของเรา มีบรรทัดฐาน มาตรฐานในใจเรา แล้วไปประเมินค่ากิริยาอาการหรือวาจาของตัวร้ายในละคร ว่าไม่ถูกต้อง เมื่อประเมินว่าไม่ถูกต้อง นั่นคือมันไม่ตรงความคิดเห็นของเรา เราจึงไม่ชอบใจ ไม่พอใจ เมื่อไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ก็เกิดทุกข์ใจคือความขัดเคืองในใจตามมา ทำให้เราหงุดหงิด ยิ่งยึดถือความเห็นตนมากเท่าไหร่ แรงเท่าไหร่ ความหงุดหงิดก็เกิดแรงเท่านั้น ในขณะที่บางคนดูเหมือนกัน แต่กลับไม่หงุดหงิด เพราะดูเฉย ๆ ยังไม่ได้ประเมินค่ากิริยาอาการนั้น ๆ ไม่ได้ใส่ใจกิริยาอาการนั้น ๆ  หรือไม่ก็ประเมินค่าแล้ว(มีทิฏฐิแล้ว) แต่ไม่ได้ยึดถือยึดมั่นในการประเมินค่านั้น (ไม่ยึดทิฏฐิ) เห็นว่าเป็นเพียงแค่ละคร เป็นเพียงแค่ตัวละคร เราเป็นแค่ผู้ดูละคร (ไม่อิน ว่างั้นเถอะ)

         เราพบคนมาสาย พบคนขับรถผิดกฎจราจร พบคนทำเรื่องไม่ดี ได้ยินได้ฟังเสียงที่ไม่เพราะ ฯลฯ ก็ลักษณะเดียวกัน  เรามีการตัดสินการกระทำเหล่านั้นว่าไม่ถูกต้อง(ตามมาตรฐานในใจเรา) ความขัดเคืองใจจึงเกิดขึ้น (จริงมั๊ย?.. ลองสังเกตดูนะ)


    การแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกันทางกิริยาอาการท่าทางหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความหมางใจ
    เช่น

         นาย ก.ไก่ ได้ยินเพื่อนเล่า(แสดงความเห็น)ว่า เขาไปดูดวงมา หมอดูบอกว่ากำลังมีเคราะห์ต้องไปสะเดาะเคราะห์ด้วยการ....นาย ก.ไก่มองว่าเพื่อนเป็นคนงมงาย และแสดงความเห็นว่า หมอดูคู่กับหมอเดา เขาไม่เชื่อหมอดูหรอก ...แล้วทั้งสองคนก็แอบหมางใจกันอยู่ลึก ๆ (เพราะความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน)


    การที่ต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นของตนเพื่อให้อีกฝ่ายมีความเห็นเหมือนตน เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน   เช่น

         พ่อแม่เห็นว่า ลูกไม่ควรใส่สายเดี่ยว การใส่สายเดี่ยวน่าอายและล่อแหลม แต่ลูกเห็นว่า การใส่สายเดี่ยว ทันสมัย ดูดี ทำให้ชวนมอง พ่อแม่ห้ามปรามลูก(การห้ามปรามเป็นอย่างหนึ่งของการแสดงทิฏฐิ) ไม่ให้ทำแบบนั้น ส่วนลูกเห็นว่าการกระทำของตนถูกต้องแล้ว พ่อแม่ล้าสมัย สองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน และยืนยันในความเห็นของตน ยึดมั่นในความเห็นของตน ตนถูก คนอื่นผิด ทำให้ทะเลาะกัน

         คนเราเมื่อต้องอยู่ร่วมกัน เมื่อต้องคบหากัน จำเป็นต้องมีการปรับทิฏฐิให้ตรงกัน สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดสำคัญใหญ่ ๆ เพราะความจริงมีอยู่ว่า ในเรื่องใดก็ตามคนมีความเห็นเหมือนกัน มีความเห็นเป็นอันเดียวกัน ความทะเลาะจะไม่เกิดขึ้นในเพราะเรื่องนั้น

         ความเห็นต่าง ๆ ที่เราเชื่อ ที่เรายึดมั่นถือมั่นนั้น มาจากการเรียนรู้ของเราเอง ทั้งการเรียนรู้จากตำรา จากโรงเรียน หรือจากที่อื่น ๆ ก็ตาม นั่นหมายถึงว่า มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ทั้งหมดของเรานั่นเอง

         คนที่ผ่านประสบการณ์ที่คล้ายกัน มักจะประเมินค่า หรือตัดสินออกมาคล้ายกัน นั่นคือความเห็นคล้ายกัน

        ข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ บันทึกไว้อยู่ในสัญญาความทรงจำของเราทั้งหมดนั่นแหละ คือฐานข้อมูลแห่งการตัดสิน ประเมินค่าล่ะ

    - ความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก่อเกิดมาตรฐานที่ต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดความขัดเคืองใจ ความทุกข์ใจ
    - การแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกันทางกิริยาอาการท่าทางหรือทางวาจา เป็นเหตุให้เกิดความหมางใจ
    - การที่ต่างฝ่ายต่างแสดงความเห็นของตนเพื่อให้อีกฝ่ายมีความเห็นเหมือนตน เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน
    บันทึกการเข้า
    อาบัติ2535
    มือใหม่หัดเมาท์
    *


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 140

    เว็บไซต์
    « ตอบ #36 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2550, 11:18:58 »

    ว่าด้วยอุปาทาน

    อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่น ถือมั่น เช่น ร่างกายนี้ ไม่ใช่ของเรา ก็ยึดถือว่าเป็นของเรา, ภาพที่มองเห็น ความจริงเป็นเพียงแสงสี สัมผัสกับประสาทตาแล้วเกิดความรับรู้ขึ้น เท่านั้น ก็หลงไปยึดถือ หอบอุ้มภาพนั้นเอาไว้ ทำให้ใจเราเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย เพราะตัวอุปาทานหอบยึดเอาไว้ เหมือนคนบ้าบอ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเศษขยะ เดินไปตามทาง เห็นผ้าขี้ริ้วก็เก็บมาถือไว้ เห็นร้องเท้าขาดหนึ่งข้าง ก็เก็บเอาไว้ เห็นเปลือกกล้วยก็เก็บเอาไว้ เก็บทุกอย่างที่ขวางหน้า มาถือ แบก หอบ พะรุงพะรังเต็มไปหมด จะทิ้งก็เสียดาย ตัวอุปาทานก็เหมือนกับคนบ้าบอนั่นแหละ อารมณ์ที่มากระทบทุกอย่างเก็บเรียบ

         หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินนิทานเรื่องนี้มาแล้วนะ คนที่รู้แล้วก็ลองฟังอีกรอบก็แล้วกันนะ

    เรื่องดักลิง

         ชาวบ้านอยากดักจับลิง ก็เอาถั่วไปใส่ไว้ในลูกมะพร้าวเจาะรูพอที่มือลิงจะเข้าไปได้ และผูกลูกมะพร้าวนั้นไว้ด้วย เมื่อลิงมากำเอาถั่วในลูกมะพร้าว มือที่กำไว้ใหญ่ขึ้น ลิงก็เอามือออกไม่ได้ แต่ด้วยความอยากได้ถั่วก็กำไม่ปล่อย พอคนจะมาจับเอาลิง ลิงอยากวิ่งหนีแทบตาย แต่วิ่งหนีไม่ได้ เพราะเอามือออกจากลูกมะพร้าวไม่ได้ หารู้ไม่ว่า แค่ปล่อยมือที่กำถั่วออกแค่นั้นแหละ ก็ไปได้แล้ว แค่ปล่อยวางถั่วที่กำอยู่เท่านั้นแหละ ก็หลุดได้แล้ว


         คนเราก็เหมือนกัน แค่ปล่อยวางสิ่งที่ยึดไว้อยู่แค่นั้นแหละ ก็สามารถสลัดทุกข์นั้น ๆ ได้แล้ว การปล่อยวาง ไม่ใช่การลืม การพยายามที่จะปล่อยวาง ไม่ใช่การพยายามที่จะลืม การปล่อยวาง คือการละทิ้งสิ่งที่เราเกาะกุมไว้อยู่ คือการปล่อยสิ่งที่เราเกาะกุมไว้อยู่ หากเราใช้มือเกาะกุมไว้ ก็ปล่อยมือออก แบมือออก หากเราใช้ปากเกาะกุมไว้(กัดหรืออม) ก็คายออก หากเราใช้ใจเกาะกุมไว้ ก็วางออก (วางใจ)

        การพูดว่าปล่อยวาง นั้นพูดง่าย แต่การทำการปล่อยวางนั้น ทำยาก เพราะอะไร เพราะเรารู้ไม่เท่าทันกิเลส มองไม่เห็นแม้แต่ตัวอุปาทานที่เกิดกับใจ เหมือนกับลิงกำถั่วนั่นแหละ คนที่รู้ก็บอกว่าง่ายนิดเดียว ปล่อยมือก็หลุดแล้ว ลิงที่ไม่รู้แม้ตั้งใจพยายามเต็มที่ที่จะสลัดหลุด ก็ทำไม่ได้

         มีลังกระดาษเปล่าอยู่ลังนึง จะทิ้งก็เสียดาย จึงเก็บไว้ใช้เผื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต เป็นปี สองปี ลังนั้นก็ยังไม่ถูกใช้ ก็ยังรกห้องอยู่ แม้เห็นว่ารก ก็ยังไม่กล้าทิ้ง เพราะอะไร? เพราะเสียดาย เผื่อได้ใช้ในอนาคต ว่างั้น มันจึงยังรกห้องอยู่อย่างนั้น ของอื่น ๆ ก็เหมือนกัน

         อุปาทานที่เกาะเกี่ยว เกาะกุมใจเราอยู่ ก็เช่นกัน เราไม่กล้าทิ้งมัน แม้จะรู้ว่ามันมี แม้จะรู้ว่าเราทุกข์เพราะมัน เราก็ไม่กล้าทิ้งมัน หรือทิ้งมันไม่ลง บางคนบอกว่า กล้าทิ้งน่ะกล้าทิ้ง แต่ทิ้งไม่ออก ทิ้งแล้วมันไม่ยอมไป ที่ทิ้งไม่ออกเพราะว่าเราไม่ได้ทิ้งมันจริง ๆ เราแค่แกล้งทำเป็นไม่เห็น ทำเป็นไม่มองแค่นั้นเอง

         หลายคนรู้ว่าตัวเอง เป็นคนเช่นไร เช่นเป็นคนขี้น้อยใจ ขี้งอน ขี้เกียจ หัวดื้อ มือไม้แข็ง ฯลฯ และก็รู้อีกว่า นิสัยเป็นต้นเหล่านี้มันไม่ดี แต่ก็ยังไม่ยอมทิ้งมันไป ทิ้งมันออกไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะอุปาทานมันแรง มันเหนียวหนา และมันอ้างว่า ก็ฉันเป็นของฉันอย่างนี้ ก็ฉันเป็นคนแบบนี้ ฯลฯ

        ที่พูดมานี้ ไม่ได้บอกหรือแนะนำให้เปลี่ยนนิสัย แต่เป็นการอธิบายถึงกิเลสต่าง ๆ ที่เคลือบแฝงอยู่ภายในใจเรา และอยากให้เข้าใจว่า เมื่อเรายังอยู่ในอำนาจกิเลส มันก็ต้องเป็นแบบนี้ เพราะกิเลสมันเป็นนายเราอยู่ เพียงอยากให้เราเรียนรู้และเข้าใจกิเลส เข้าใจการทำงานของกิเลส

        ดังนั้น เมื่อเราเห็นนิสัยหรือการแสดงออกของคนอื่น จะเป็นเพื่อนหรือใครก็ตาม อย่าได้ขุ่นเคืองใจ อย่าได้ขัดเคืองใจ อย่าได้เกลียดเพื่อนจนเลิกคบหากัน ถ้าจะเกลียดก็ให้เกลียดกิเลส ให้รังเกียจกิเลสเถิด เพราะถ้าเราเกลียดกิเลสของคนอื่น มันจะเห็นกิเลสของเราไปด้วย มันจะเข้าใจกิเลสในใจเราด้วย เมื่อเราเข้าใจว่ากิเลสเป็นตัวบงการแล้ว เราจะไม่โทษใคร ไม่ตำหนิใคร ไม่มีใครมีความผิด ความผิดเป็นของกิเลส (จริง ๆ แล้วมีกรรมและวิบากหรือผลของกรรมด้วย ซึ่งเรียกว่าวัฏฏจักรคือการหมุนวนแห่งกิเลส กรรม วิบาก) หากจะทำโทษต้องทำโทษกิเลส หากจะทำลายให้ทำลายกิเลส หากจะเลิกคบให้เลิกคบกิเลส

         เมื่อเราเข้าใจชัด รู้ชัดว่า อ้อ .. มันก็แค่การทำงานของวัฏฏจักรคือกิเลส กรรม และวิบาก ทุกอย่างมันมีเหตุ มีปัจจัยในตัวมันเอง การโมโหคนอื่น จะไม่เกิดขึ้น การโมโหตัวเองจะไม่เกิดขึ้น (เพราะการโมโห มันก็คือบทบาทหนึ่งของกิเลส)

        พึงตระหนักในใจให้ชัดว่า อุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นตัวอมทุกข์เอาไว้ หากปล่อยวางได้ก็พึงปล่อยวาง โดยการมองให้แตกว่า เป็นเรื่องของกิเลส กรรม วิบาก ไม่ใช่ความผิดของใครคนไหน ช่างมัน ช่างมัน ช่างมัน ช่างมันเถอะ..
    บันทึกการเข้า
    สมชาย17
    Hero Cmadong Member
    ***


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 1,300

    « ตอบ #37 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2550, 12:47:55 »

    ขอบคุณ น้องอาบัติ
    ยิ่งอ่าน ยิ่งกระจ่าง ยิ่งอ่าน ยิ่งลึกซึ้ง Cheesy
    บันทึกการเข้า
    krongon2513
    Hero Cmadong Member
    ***


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 1,490

    « ตอบ #38 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2550, 15:59:30 »

    ค่อยๆอ่าน แล้วคิดตาม ใจสะอาด สว่าง สงบ
    ขออนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย
    "การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง"
    บันทึกการเข้า
    อาบัติ2535
    มือใหม่หัดเมาท์
    *


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 140

    เว็บไซต์
    « ตอบ #39 เมื่อ: 12 มิถุนายน 2550, 12:42:02 »

    วัฏฏจักร

        ในบทความที่แล้ว มีกล่าวพาดพิงถึงเรื่องวัฏฏจักรแห่ง กิเลส กรรม และวิบากไปนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความเข้าใจจึงขอนำมากล่าวอีกครั้ง

         คำ ๓ คำนี้คือ “กิเลส กรรม วิบาก” เป็นคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ

         กิเลส จริง ๆ แล้วมันก็คือกิเลส เหมือนกับคำกล่าวว่า กิ่งก่า ก็คือกิ้งก่า แย้ก็คือแย้ หากเห็นตัวตนกิ้งก่าหรือแย้แล้ว ก็ไม่ต้องการคำอธิบายใด ๆ อีก

        กิเลส หากจะแปลตามคำศัพท์แล้ว ก็แปลว่า สิ่งแปดเปื้อน สิ่งเคลือบทา มันก็เป็นเหมือนสีย้อมผ้าหรือสีทานั่นแหละ มันก็เป็นเหมือนฝุ่นหรือสิ่งสกปรกนั่นแหละ มันก็เป็นเหมือนขี้ไคลที่ติดตามเนื้อตัวเรานั่นแหละ แต่กิเลสมันเป็นสิ่งย้อมใจ มันเป็นสิ่งเคลือบทาใจ มันเป็นสิ่งผสมปนอยู่ในใจเรา อาจแบ่งตามหลักตรรกะได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ กิเลสฝ่ายขาวหรือฝ่ายดี๑ กิเลสฝ่ายดำหรือฝ่ายชั่ว๑ กิเลสฝ่ายไม่ขาวไม่ดำหรือเป็นกลาง๑

             กิเลส เป็นตัวชักใย ชักพาให้เราตัดสินใจทำอะไรทุกอย่าง มันมีทั้งดีทั้งชั่ว การกระทำของคนจึงมีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับว่าในขณะนั้น ๆ  กิเลสฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว มีอำนาจมากกว่า

        กรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คำว่าเจตนาในที่นี้มีความหมายลึกกว่าที่เรา ๆ เข้าใจ นั่นคือการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ทำโดยขันธ์๕(หรือ๔) ที่ทำโดยอาศัยกิเลส คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จัดเป็นกรรม {การกระทำที่อยู่เหนือขันธ์๕(หรือ๔) ที่ทำโดยไม่อาศัยกิเลส คือการกระทำที่ไม่ประกอบด้วยเจตนา ไม่จัดเป็นกรรม}

         ดังนั้น บางคนบอกว่า ผมไม่ได้เจตนา ผมไม่ได้ตั้งใจ ไม่จัดเป็นกรรม จึงไม่บาป นี่เป็นการเข้าใจที่ไม่ครอบคลุม ซึ่งความจริงแล้ว แม้เราทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ(ตามความคิดหรือความรู้สึกของเรา) แต่จริง ๆ แล้ว มันมีความตั้งใจหรือเจตนาแฝงอยู่ลึก ๆ ซึ่งเรามองไม่ทัน มองไม่เห็น

         บางคน สาดน้ำร้อนจากบนบ้านลงมาข้างล่าง บังเอิญ หมาตัวนึงวิ่งผ่านมาพอดี โดนน้ำร้อนนั้นเข้าจังเบอร์ ร้องเอ๋ง ๆ ๆไปเลย ถามว่า คนที่สาดน้ำร้อนนั้น บาปไหม ตอบว่า ในขณะที่เขาสาดน้ำนั้นใจเขาไม่บาปหรอก และเมื่อเห็นหมาโดนน้ำร้อน ก็รู้สึกผิดที่ตนไม่ระวัง ใจเขาในตอนนี้ ก็ไม่บาปหรอก คือใจเขาไม่ใช่ใจชั่วว่างั้นเถอะ แต่ว่าการกระทำนี้ ก็ยังจัดเป็นกรรม แม้เขาจะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจสาดน้ำร้อนใส่หมาก็ตาม (เพราะในเบื้องลึกแห่งใจมีผลแห่งกรรมเก่าก่อน มีกิเลสคอยชักใยให้ตัดสินใจทำอย่างนั้นอย่างนี้อยู่จึงเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา) ในเมื่อเป็นกรรม ผลของกรรมก็เกิดตามมาเป็นวัฏฏจักร เช่นผลกรรมทันตาคือ รู้สึกทุกข์ใจเมื่อเห็นหมาเจ็บปวด ผลกรรมในอนาคต เช่น เขาอาจโดนน้ำร้อนลวก โดยบังเอิญ เช่นกัน กรรมที่ทำโดยบังเอิญ ที่ทำโดยไม่ทันรู้ตัว ที่ทำโดยอุบัติเหตุ มักให้ผลกรรมแบบบังเอิญหรืออุบัติเหตุเช่นกัน

        วิบาก เป็นผลของกรรม เมื่อทำกรรมแล้ว เกิดกรรมแล้ว วิบากย่อมเกิดตามมา เพราะวิบากเปรียบเสมือนเงาของกรรม เพียงแต่ว่าเงากรรมนั้น ๆ จะปรากฏเมื่อไหร่ เท่านั้นเอง เมื่อโดนแสงคือเหตุ ปัจจัยที่เหมาะสมฉายมา เงาคือวิบากก็จะปรากฏทันที อย่าคิดว่าจะวิ่งหนีเงาได้พ้นตลอดไป เมื่อแอบอยู่ในที่มืดอาจไม่ปรากฏเงาก็จริง แต่เมื่อมีแสงฉายมาก็ย่อมปรากฏเงาอยู่ดี อย่าคิดว่าจะวิ่งหนีวิบากได้พ้นตลอดไป เมื่อหลบอยู่ในที่กำบัง เงากรรมคือวิบากอาจไม่ปรากฏก็จริง แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยฉายมาถึงวิบากก็จะปรากฏอยู่ดี การที่จะไม่มีเงาได้คือทำกายให้โปร่งแสง การที่จะไม่มีเงาคือวิบากได้ ต้องทำใจให้โปร่งแสง โปร่งใสจากกิเลส

         จะสมมติสถานการณ์เกี่ยวกับวัฏฏจักรหรือวงจรแห่งกิเลส กรรม วิบาก ให้ฟังก็แล้วกันนะ นายหก อยากได้มือถือรุ่นใหม่ (เกิดกิเลส ซึ่งกิเลสตัวนี้ มาจากผลของกรรมก่อนหน้าคือการดูโฆษณาฯลฯ) กิเลสตัวนี้ชักนำให้ทำกรรมคือไปซื้อมือถือ วิบากหรือผลของกรรมคือการซื้อมือถือ คือได้มือถือ วิบากคือได้มือถือ ก่อให้เกิดกิเลสใหม่คืออยากโทรไปหาเพื่อน  ฯลฯ เอาเข้าจริง ๆ  ไล่กันไม่จบหรอกนะ มันเกิดต่อกันไปเรื่อย ๆ เป็นเหตุเป็นผลกันไปเรื่อย ๆ .....

         นายเจ็ดฝันไม่ดี เพื่อนแนะนำให้ไปถวายสังฆทาน จึงอยากทำสังฆทาน ไปซื้อถังสังฆทาน แล้วนำไปถวายพระที่วัด แล้วสบายใจขึ้น เหตุการณ์นี้ ก็ไม่พ้นไปจากวงจรแห่งกิเลส กรรม และวิบากเลย มันมีเหตุ มีผลในตัวมันอยู่แล้ว ผลอย่างหนึ่ง มาจากเหตุอย่างหนึ่ง และกลายเป็นเหตุแห่งผลต่อไป ฯลฯ  ....ลองสังเกตและไล่ดูเอาเองก็แล้วกันนะ

        สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่หมดกิเลส ก็จะเป็นไปตามวัฏฏจักรคือการเวียนวนแห่ง กิเลส กรรม และวิบากนี้ตลอดไป เพราะกิเลส เป็นตัวนำพาสร้างกรรม กรรม เป็นตัวนำพาให้เกิดวิบากคือผลกรรม และวิบาก ก็เป็นตัวนำพาให้เกิดกิเลสตัวใหม่ แล้วสร้างกรรมใหม่ เกิดวิบากใหม่ เกิดกิเลสใหม่ วนอยู่อย่างนี้ไม่มีจุดจบสิ้น จนกว่าจะทำลายรากเง้าคือกิเลสได้ จึงจะเป็นการตัดวงจรแห่งวัฏฏจักรออกไป

    กิเลสไม่เกิด กรรมก็ไม่เกิด... กรรมไม่เกิด วิบากก็ไม่เกิด... วิบากไม่เกิด กิเลสก็ไม่มี...  กิเลสไม่มี กรรมก็ไม่มี...  กรรมไม่มี วิบากก็ไม่มี... วิบากไม่มี กิเลสก็ไม่มี เป็นอันตัดวงจรให้สิ้นไปได้
    บันทึกการเข้า
    อาบัติ2535
    มือใหม่หัดเมาท์
    *


    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 140

    เว็บไซต์
    « ตอบ #40 เมื่อ: 29 มิถุนายน 2550, 08:54:26 »

    ว่าด้วยเหตุปัจจัย

         “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” วลีนี้ หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินนะ ฟัง ๆ ไปดูเหมือนสำนวนหนังจีนกำลังภายในน่ะนะ แต่ขอบอกว่าวลีนี้ ไม่ใช่เพียงแค่คำเปรียบเทียบเปรียบเปรยนะ เป็นวลีที่ไพเราะสำนวนหนึ่งที่สื่อถึงเรื่องเหตุปัจจัย หรือความเกี่ยวเนื่องกันแห่งเหตุปัจจัยซึ่งมีอิทธิพลต่อเนื่องกันเป็นทอด ๆ เป็นเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่

        เหตุ ก็คือเหตุ เป็นตัวมูลต้น หรือมูลฐานแห่งการเกิดปรากฏการณ์ใด ๆ

         ปัจจัย ก็คือปัจจัย (ไม่ใช่เงินหรือปัจจัย๔นะ) เป็นตัวประกอบ หรือตัวสนับสนุนการเกิดปรากฏการณ์ใด ๆ


         เหตุหนึ่งเหตุ ย่อมเป็นได้ทั้งตัวเหตุเอง และเป็นได้ทั้งปัจจัย
         ปัจจัยหนึ่งปัจจัย ย่อมเป็นได้ทั้งตัวปัจจัยเอง และเป็นได้ทั้งเหตุ

        เหตุ แบ่งตามกาลเวลา โดยตรรกะ ได้เป็น ๓ คือ
        ๑.  อดีตเหตุ           หมายถึง เหตุที่เกิดแล้ว ที่ผ่านไปแล้ว ที่จบหน้าที่แห่งเหตุแล้ว
         ๒. ปัจจุบันเหตุ     หมายถึง เหตุที่กำลังเกิดอยู่ ที่กำลังดำเนินอยู่ ที่กำลังทำหน้าที่แห่งเหตุอยู่
         ๓. อนาคตเหตุ      หมายถึง เหตุที่จะเกิด ที่ยังมาไม่ถึง ที่จะมาทำหน้าที่แห่งเหตุในอนาคต


         ว่าโดยหลักแห่งเหตุผลแล้ว เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล เมื่อเหตุเกิด ผลย่อมเกิด อธิบายว่า อุบัติการณ์ปัจจุบัน คือผลของอุบัติการณ์อดีต(อดีตเหตุ) และเป็นเหตุของอุบัติการณ์อนาคต

         นั่นคือ เหตุ อย่างหนึ่ง มีปกติเกิดแต่ผลของเหตุก่อนหน้านี้  และเหตุอันนั้น ก็มีปกติส่งผล ต่อเหตุต่อไป

    ปัจจุบันเหตุ มาจาก อดีตผล และ ส่งผลให้เกิด อนาคตเหตุ อนาคตผล..... ต่อไป .. ไม่จบสิ้น
    ปัจจุบันผล มาจาก อดีตเหตุ และส่งให้เกิด อนาคตเหตุ อนาคตผล....... ต่อไป .. ไม่จบสิ้น


        นี่แล  คือการดำเนินไปแห่งเหตุและผล คือการดำเนินไปแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ตามหลักเหตุและผล

              อย่างนิทานเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้คนทะเลาะกันทั้งหมู่บ้าน หรือแค่อีเมล์ฉบับเดียว(จากนั้น ส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ ) อาจทำให้สินค้าของบริษัทที่ถูกโจมตี ขายไม่ได้และบริษัทเจ๊งไปในที่สุด เมื่อบริษัทเจ๊ง..พนักงานบริษัทตกงาน..คนในครอบครัวพนักงานขาดรายได้..บางคนในนั้นหาอาชีพใหม่ที่ทุจริต...ฯลฯ...กระทบทั้งสังคม กระทบทั้งโลก ....แค่เราไปซื้อข้าวกิน ก็กระทบทั้งโลกแล้ว (ด้วยการไหลของเงินตรา) แค่เราตัดต้นไม้หนึ่งต้น ย่อมกระทบถึงสังคม ถึงดินฟ้าอากาศ (บางคนอาจคิดว่าแค่ตัดต้นไม้ต้นเดียวจะกระทบอะไรนักหนากันเชียว....หากมองในเชิงเดี่ยวแล้ว ต้นเดียวกระทบไม่มากก็จริง...ต้องมองโดยรวม..คนอื่นก็คิดแบบเดียวกันบ้าง เอาเป็นเยี่ยงอย่างบ้าง ก็ตัดเหมือนกัน ต่างคนต่างตัด ต่างคนต่างทำ เหตุปัจจัยที่คล้าย ๆ กัน ย่อมรวมพลังให้มีอานุภาพแรงขึ้น กระทบอะไรก็กระทบแรงขึ้น) แม้จะเป็นเพียงแค่เหตุ ปัจจัย เล็กน้อย ที่แทบจะมองไม่เห็นความสำคัญเลย แต่มันก็คือเหตุอันหนึ่งในโลก ก็คือปัจจัยอันหนึ่งในโลก เหตุที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป แต่ก่อนจะดับจะส่งให้เกิดผลขึ้น และเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ แม้แต่เด็ดดอกไม้ ยังสะเทือนถึงดวงดาว

         ลองพิจารณาดูเถิดว่า เครื่องยนต์กลไก ทำงานได้ด้วยองค์ประกอบมากมาย ขับเคลื่อนฟันเฟืองให้หมุนไป เมื่อฟันเฟืองใหญ่ หรือฟันเฟืองขับ หมุนไป ย่อมผลักดันให้เฟืองตัวอื่นหมุนไปด้วย ซึ่งเฟืองตัวอื่นนั้น ก็ผลักดันให้เฟืองตัวอื่นอีกหมุนไป ส่งแรงพลังต่อกันไปเรื่อย ๆ หากเฟืองตัวหนึ่งมีปัญหา แตกหัก เฟืองต่อไปที่รอหมุนอยู่ ก็ไม่อาจหมุนไปได้ (เพราะถูกเฟืองตัวต่อไปอื่นอีกเหนี่ยวรั้งไว้) การทำงานก็ไม่บรรลุผลถึงที่สุด แม้เฟืองขับแรกเริ่มจะยังคง หมุนอยู่ก็ตาม  

         ดังนั้น เราพึงตระหนักให้ถ่องแท้ว่า เรา มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หากขาดเราแล้ว งานเป้าหมายของกลุ่ม มิอาจบรรลุได้  หากเราไม่ทำแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งอื่นตามมาแน่นอน

        ในการกระทำใด ๆ ของเราทั้งหลาย หากพิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นว่า ผลที่เรารับมาจากอดีตเหตุนั้น เป็นสิ่งไม่ดี ก็ไม่ควรนำมาเป็นเหตุตั้งต้น ไม่ควรใช้เป็นปัจจุบันเหตุ เพราะนั่นจะส่งให้เกิดอนาคตผลที่ไม่ดีตามมานั่นเอง เมื่อทราบชัดเช่นนี้ พึงทำตัวเป็นดุจเฟืองหัก ที่จะไม่หมุนส่งให้เหตุ  ปัจจัยที่ไม่ดีเหล่านั้น เกิดอีกต่อไป นี่คือการระงับเหตุที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา หากเราระงับเหตุที่ตัวเราด้วยตัวเราไม่ได้ ก็ไม่พึงหวังให้ผู้อื่นมาระงับเหตุให้

        แต่หากพิจารณาด้วยปัญญาแล้วเห็นว่า ผลที่เรารับมาจากอดีตเหตุนั้น เป็นกุศล เป็นทางบุญ เป็นสิ่งที่ดี ก็พึงนำผลนั้นมาเป็นเหตุตั้งต้น มาใช้เป็นปัจจุบันเหตุ เพื่อให้เกิดอนาคตผลที่ดีตามมานั่นเอง เมื่อทราบชัดเช่นนี้ พึงทำตัวเป็นเฟืองดี ที่จะหมุนส่งให้เหตุ ปัจจัยที่ดีเหล่านั้น เกิดต่อไปอีก นี่คือการสร้างเหตุ ปัจจัย ที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา

         หากเราทำไม่ดีแม้เพียงคนเดียว แม้เพียงครั้งเดียว ผลพวงแบบลูกโซ่แห่งเหตุปัจจัย จักกระทบคนอื่นมากมาย เมื่อผู้อื่นมากมายผู้ได้รับผลกระทบนั้น สร้างเหตุใหม่ขึ้น ก็ย่อมกระจายผลออกไปกว้างขึ้น ในที่สุด กระทบทั้งสังคม กระทบทั้งโลก


         เมื่อเราทั้งหลายพิจารณาเห็นฉะนี้แล้ว ไม่พึงคิดว่า “เรา เป็นคนตัวนิดเดียว ไม่มีอำนาจอะไรมากมาย ไม่มีความสำคัญอะไรมากมาย ไม่มีความสำคัญกับใครมากมาย การกระทำดีของเราคนเดียว หาทำให้สังคมดีขึ้นไม่ การกระทำไม่ดีของเราคนเดียว หาทำให้สังคมเลวลงไม่...” ดังนี้ เป็นต้น เพราะนั่น เป็นความคิดของคนที่ยังไม่เข้าใจหลักเหตุผล หลักเหตุปัจจัย

        แม้เราจะเปรียบเหมือนมดตัวน้อย ก็ขอให้เพียรพยายามคิดดี พูดดี ทำดี เพื่อเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ดี เป็นหนึ่งในฟันเฟืองดี ที่จะผลักดัน ส่งผลกระทบ ให้เกิดอนาคตเหตุที่ดี อนาคตผลที่ดี เพื่อสังคมที่ดี

        มาร่วมกันระงับปัจจุบันเหตุที่ไม่ดี ปัจจุบันเหตุแห่งความไม่ดี ที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา กันเถิด..

         มาร่วมกันสร้างปัจจุบันเหตุที่ดี ปัจจุบันเหตุแห่งความดี ที่ตัวเรา ด้วยตัวเรา กันเถิด..



    ----------------- เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ----------------
    บันทึกการเข้า
    jamsai
    Full Member
    **


    ฤา.... น้ำเต้าใบน้อยจะถอยจม...
    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 416

    เว็บไซต์
    « ตอบ #41 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2550, 10:16:34 »

    คนโบราณ นิยมให้ผู้ชายไทย เมื่อครบ 20 ปี ต้องบวชเรียน
    ทั้งนี้เพื่อให้มีความเป็นมนุษย์ที่ใจ เพื่อที่ แม้เมื่อออกไปครองเรือน
    ต้องรู้จักผิดชอบ ชั่วดี จะได้ไม่พลัดหลงเข้าไปในภพภูมิที่ เป็น
    เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในชาติต่อๆ ไป
    และยังจะนำไป สั่งสอนลูกหลานของตนในตระกูลได้


    คุณ "อาบัติ 2535"  ไม่เสียทีที่เกิดเป็นชาย ได้พบพระพุทธศาสนา
    ได้บวชเรียน และออกมาครองเรือน เพราะคงเคย อธิษฐาน สัญญา
    กับเจ้ากรรมนายเวรประเภทกัลยาณมิตรไว้ แล้วช่วงบวชคงไม่ได้ขอ
    อโหสิกรรม ขอยกเลิกสัญญาผูกพัน จึงหนีใจปรารถนาเดิมไม่พ้น


    ดังนั้น จึงเป็นคฤหัสผู้ครองเรือน ประเภทครบถ้วนด้วยโลกียธรรม
    แล้วยังเห็นเส้นทางโลกุตรธรรม อยู่ ไม่ไกล  ...ขออนุโมทนา

     :)  :?  Sad  Shocked
    บันทึกการเข้า

    ฤา น้ำเต้าใบน้อย จะ..ถอยจม....
    jamsai
    Full Member
    **


    ฤา.... น้ำเต้าใบน้อยจะถอยจม...
    ออฟไลน์ ออฟไลน์

    กระทู้: 416

    เว็บไซต์
    « ตอบ #42 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2550, 10:29:21 »

    มีลูกศิษย์ หลายคนที่เรียนจบแล้ว ขอบวช  5 วัน 7 วัน  เหตุผลเพราะ
    1. กลัวเมื่อทำงานจะไม่มีเวลาบวช ..
    2. พ่อ แม่ ย่า ยาย ให้บวช อยากเห็นผ้าเหลือง....
    3. ก็อยากบวชให้ พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ ดีใจ


    ทุกคนที่มาลาไปบวช มักจะเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ได้แต่อนุโมทนา
    และขอว่า ขอให้ถือว่าการบวชเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่แค่ไปใส่เครื่องแบบพระ
    หากคิดจะบวชครั้งต่อไปขอให้มาคุยกันก่อนตัดสินใจดำเนินการได้ใหม


    เออ...แร้ว อาจารย์ทำไม อยากมายุ่งอะไรกับเรื่อง บวชของลูกศิษย์ วะนี่ ...
    ตอบก็คงยาว พิมพ์ไม่ไหว และอยากฟังความเห็น ของคุณ อาบัติ 2535 ดูก่อน
    จะกรุณาเล่าสู่กันฟังหน่อยใหมคะ
    บันทึกการเข้า

    ฤา น้ำเต้าใบน้อย จะ..ถอยจม....
      หน้า: 1 [2]  ทั้งหมด   ขึ้นบน
      
    กระโดดไป:  

         

    ทำไมหอพักนิสิตจุฬาจึงเป็นดินแดนมหัศจรรย์            " ไม่ได้เป็นแค่หอให้นอนพัก  แต่เป็นบ้านอบอุ่นรักให้อาศัย  ไม่เป็นแค่ที่ซุกหัวยามหลบภัย  แต่สร้างใจให้เข้มแข็งแกร่งการงาน"  <))))><