๑๐๐ ปี 'พ่อหมอ' ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้วโดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ย้อนรอยชีวิตร้อยปีของคุณหมอคนสำคัญ คนที่มีลูกเป็นหมื่นเป็นพันทั่วประเทศ
มีแต่คนเรียกว่า"พ่อเสม,คุณพ่อหมอเสม" แม้สลัดเสื้อกาวน์ไปแล้วร่วม50ปี
ผมคงเป็นคนที่มีพี่น้องเยอะที่สุดในโลก" ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว
พูดประโยคนี้ออกมาในตอนหนึ่งของงานแถลงข่าว
"๑ คนยืนหยัด ๑ ศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
สถาปนิกเจ้าของบริษัทชัชวาลย์ เดอเวเกอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล วัย 72
ทายาทคนที่ 2 จากทั้งหมด 5 คนของ ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว
บอกต่ออีกว่า ถ้านับจริงๆ เขาคงมีพี่น้องเรือนพัน เรือนหมื่นทั่วประเทศไทย
เพราะใครๆ ทั้งที่รู้จักและไม่เคยมักจี่ มักจะเรียกพ่อบังเกิดเกล้าของเขาว่า "พ่อเสม"
"แต่ผมเป็นลูกในไส้นะ" กรรมการมูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวติดตลก
ทำไมใครๆ ก็เรียกพ่อเสม ลูกนอกไส้อีกคนอย่าง นพ.วิชัย โชควิวัฒน
ประธานคณะกรรมการจัดงาน ๑ คนยืนหยัดฯ ช่วยไขข้อข้องใจว่า
"สมัยที่ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลหญิง ท่านผลักดันให้เกิดโรงเรียนพยาบาลหลายแห่งในต่างจังหวัด
เช่น โคราช อุบล พิษณุโลก ซึ่งการเรียนพยาบาล จะเอาเด็กผู้หญิงที่จบ ม.6สมัยนั้นหรือ ม.4 สมัยนี้
มาเป็นนักเรียนประจำ จึงต้องมีคนดูแล ท่านซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงต้องเป็นคนดูแลนักเรียน
และทำหน้าที่เสมือนพ่อของนักเรียนพยาบาลทุกคน ด้วยความผูกพัน นักเรียนทุกคนก็จะเรียกผอ.ว่าคุณพ่อ
เพราะท่านจะทำหน้าที่เป็นพ่อจริงๆ ดูแลลูกรุ่นหนึ่ง 30-50 คนเป็นอย่างดี นี่น่าจะเป็นจุดตั้งต้นของการเป็นคุณพ่อ
และท่านเองก็จะเรียกทุกคนที่ท่านเมตตาว่า ลูก"
มือปราบอหิวาต์
พรุ่งนี้ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว จะมีอายุครบ 100 ปี แต่คงไม่มีโอกาสมาร่วมในงาน ๑ คนยืนหยัดฯ
ที่บรรดาลูกๆ กว่า100 องค์กรร่วมกันจัดให้ เพราะตอนนี้ท่านนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี
ด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบมาตั้งแต่ตุลาคม ปีที่แล้ว
ข่าวล่าสุดจากชัชวาลย์ บุตรชายคนที่สองบอกว่า ร่างกายซีกซ้ายไม่มีความรู้สึก
แต่ยังมีสติรับรู้ทุกอย่าง หากการสื่อสารทำได้จากการอ่านปากเท่านั้น
"สองเดือนก่อนถ้าใครมาเยี่ยมท่านจะจับและบีบมือ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว"
สำหรับคนรุ่นหลังที่ไม่เคยแม้กระทั่งจะได้ยินชื่อ นพ.เสม มาก่อน คงไม่รู้ว่า "ปัจจุบัน" ของเราหลายๆ อย่าง
มีที่มาจากสมองและสองมือของนายแพทย์วัย 1 ศตวรรษท่านนี้
โดยเฉพาะเรื่องหยูกยาและเจ็บไข้ได้ป่วย
ย้อนกลับไปเมื่อ 70 กว่าปีก่อน "เด็กเทพ(ศิรินทร์)" ผู้ได้ทุนการศึกษาประเภทขยันหมั่นเรียนอย่างนายเสม พริ้งพวงแก้ว
สอบได้ที่คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
และทันทีที่เรียบจบ สนามแรกของคุณหมอใหม่หมาด คือ อ.อัมพวา ที่มีคดีอุกฉกรรจ์สูงกว่าอำเภอใดๆ ในสมุทรสงคราม
"กรมสาธารณสุขเขาให้ตั้งโรงพยาบาลเอกเทศ หมายถึงโรงพยาบาลที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด"
นพ.เสมเคยเล่าเอาไว้ จุดประสงค์สำคัญคือ ป้องกันอหิวาต์ที่กำลังระบาดในอัมพวาตอนนั้น
ซึ่งขณะนั้นไม่มียารักษาใดๆ เลยนอกจาก "น้ำเกลือ" ที่เข้าไปชดเชยน้ำให้แก่ผู้ป่วยอหิวาต์
โรงพยาบาลเอกเทศของแพทย์ฝึกหัดใหม่วัย 24 ตอนนั้น ก็คือ ศาลาวัดดีๆ นี่เอง
หมอหนุ่มเลยต้องเข้าตลาด ซื้อเสื่อ ซื้อหมอน มุ้ง เตียงสำหรับคนไข้ ตรงกลางเตียงต้องเจาะรูไว้
สำหรับคนไข้อหิวาต์ที่ถ่ายพรวดลงมาจะได้ไม่เลอะศาลาวัด ส่วนข้างล่างก็เอาถังปี๊บน้ำมันก๊าดรองไว้
"วันแรกที่พ่อไปถึงไม่มีคนไข้มาสักคน วันที่ 2 ก็ยัง 3 ก็ยัง จนกระทั่งวันที่ 11 ก็มีคนหามร่องแร่งๆ มา บอกว่า
หมอรักษาให้ที เราก็รีบให้น้ำเกลือ คนไข้ซึ่งไม่มีชีพจรแล้ว หน้าซีด เขาก็นึกว่าตายแล้ว จะเอาไปฝัง
แต่เอามาให้หมอดูก่อนว่าหมอเก่งหรือเปล่า พอให้น้ำเกลือเสร็จเรียบร้อยตลอดวันตลอดคืน
เราไม่ได้นอน พอให้น้ำเกลือไป คนป่วยก็ลุกขึ้นมาขอกินน้ำ ไอ้ญาติก็ตกใจ
นึกว่า เอ..มันเกิดใหม่นี่หว่า หลังจากนั้นแกก็หาย" นพ.เสมเล่าไว้ในหนังสือ "เกียรติประวัติแพทย์ไทย ฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง"
ปรากฎว่า "นายผ่อง" หรือคนไข้รายนั้นเป็นหัวหน้านักเลงในอัมพวา
ก็ไปเที่ยวเล่าว่าหมอคนนี้รักษาชีวิตเขาไว้ ถ้าคนไหนเป็นอหิวาต์ไปหาเขาให้หมด
โรงพยาบาลเอกเทศและชื่อของหมอเสมเริ่มเป็นที่รู้จักนับแต่นั้น จนรู้ไปถึงหูส่วนกลาง
คลอดโฮงยา ณ ชายแดน
3 ปีถัดมา หมอเสมเจอ "งานหนัก" ที่สุด คือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่ "ไกลปืนเที่ยง" มากๆ ในสมัยนั้น
"เพื่อนๆ เขายังล้อเราเล่นเลยว่า ลื้อย้ายไปเชียงรายนี่ก็ดีนะ เอาหม้อไปด้วยใบหนึ่ง จะได้เอากระดูกใส่กลับมา"
หมอเสมให้คำจำกัดความถึงชีวิตที่นั่นในวันแรกว่า เหมือนนับต้นชีวิตใหม่จากศูนย์
เพราะตอนนั้นโรงพยาบาลกำลังก่อตั้ง พยาบาลก็ไม่มี ได้แฉล้ม พริ้งพวงแก้ว ศรีภรรยาเป็นพยาบาล
เพราะเรียนจบด้านนี้มา แต่ภายใน 5 ปี ส่วนกลางก็ส่งผู้ช่วยมา โรงพยาบาลหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "โฮงยา"
จึงขยายไปอย่างรวดเร็ว จากที่เคยคลอดกับหมอตำแย หลายคนก็หันมาคลอดที่โฮงยามากขึ้น
จนต้องสร้าง "ตึกสูติกัม" (ชื่อเรียกตาม รัถนิยม สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม)
"ป้ามาอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2486 ตอนนั้นอายุ 14 ปีมาช่วยโรงครัว อยากมาทำงานกับพ่ออุ้ยเสม
เพราะบูชาน้ำใจท่าน เราทำงานโฮงยาสนุก ทำกันทั้งกลางวันกลางคืน
เวลามีคนไข้มากลางคืนพวกเราก็ออกไปช่วยกันหมด พ่ออุ้ยเสมเอาใจใส่ดูแลพวกเราดี
ท่านมาตรวจโรงครัวทุกวัน เรื่องค่าจ้างถ้าพ่ออุ้ยให้เราก็รับ ให้เท่าไหร่ก็ได้ เราไม่ได้สนใจ พวกเราอยากมาช่วยเหลือท่าน"
ใบแก้ว เหล็กแก้ว ลูกจ้างโรงพยาบาลยุคแรก ฟื้นความหลังถึงตำนานโฮงยาที่ยังเล่ามาจนถึงทุกวันนี้
รวมระยะเวลา 14 ปีที่หมอเสมบุกเบิกการแพทย์ที่เชียงราย จนกลายมาเป็นต้นแบบงานสาธารณสุขหลายอย่าง
เช่น ร่วมผลักดันและก่อตั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดชายแดน โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณรัฐบาล
โดยโรงพยาบาลเชียงรายฯ เป็นแห่งแรกที่เริ่มด้วยเงินทุนสะสมของโรงพยาบาล ไปพร้อมๆ
กับการต่อสู้เพื่อสิทธิของโรงพยาบาลในการใช้เงินทุนสะสมที่หามาได้เอง
ไม่ต้องส่งรายได้คืนให้กระทรวงการคลัง มีผลให้โรงพยาบาลจังหวัดและอำเภอทั่วไป
มีสิทธิบริหารเงินดังกล่าวด้วยตัวเอง เฉกเช่นปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังริเริ่มการแบ่งผู้ป่วยออกจากกัน เช่น มีตึกหญิง ตึกชาย ตึกคลอด ตึกผ่าตัดและตึกสงฆ์
ก่อนที่กรุงเทพฯ จะตั้งโรงพยาบาลเฉพาะอย่างโรงพยาบาลหญิงและโรงพยาบาลสงฆ์
ตามหา "ปราจีน-บุรี"
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะยังรับราชการอยู่เชียงราย จอมพลป.พิบูลสงคราม
ได้ไปเยือนโรงพยาบาลเชียงรายฯ และได้พบปะคุณหมอเสม และนั่นก็เป็น "งานช้าง" ประการถัดมาของท่าน
จากนโยบายสร้างชาติของจอมพลป. ที่ให้ส่งเสริมการสมรสและการเพิ่มประชากร จนก่อตั้ง
"โรงพยาบาลหญิง" สำหรับดูแลผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว วัย 40 ปี
ถูกเรียกตัวให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวในปี พ.ศ.2494
และทำให้กิจการเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จนสร้างสถิติผลงานด้านการรักษาใกล้เคียงกับโรงพยาบาลศิริราช
โดยเฉพาะการทำคลอด ได้ในเวลา 5 ปี
ต่อมาก็ได้เป็นบุคคลสำคัญผู้ผลักดันให้เกิด "โรงเรียนพยาบาล" ของโรงพยาบาลหญิง
และได้ขยายออกไปสู่หัวเมืองต่างๆ ด้วยเล็งเห็งว่าพยาบาลมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหมอ
และงานในโรงพยาบาลหญิงนี่เองที่ทำให้เกิดการผ่าตัดแฝดสยาม (Conjioned Twins)สำเร็จเป็นครั้งแรกในเอเชีย
ช่วงพ.ศ.2500 เมืองไทยมีแฝดสยามเกิดหลายคู่ แต่มีอยู่ 5 คู่ที่คุณหมอเสมผ่าตัดแยกร่างได้สำเร็จ คู่แรกชื่อ นภิศ-ปริศนา ผลภิญโญ ที่คุณหมอเสมกับ พ.ท.นพ.หลวงนิย์เวชวิศิษฐ์ อธิบดีกรมการแพทย์สมัยนั้น ไปเจอเข้าตอนออกตรวจราชการที่ขอนแก่น
อ.จิราพร เครือโสภณ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมศิษย์วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ ผู้ช่วยคนสำคัญของนพ.เสม สมัยนั้น คือ คนที่อุ้มแฝดนภิศ-ปริศนา ขึ้นเครื่องไปผ่าตัดที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
"คุณพ่อหมอเสมเขาค้นคว้าว่าที่นั่นทำได้ เลยส่งดิฉันไปแล้วให้รายงานผลอย่างละเอียด และพอสำเร็จท่านก็เอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาศึกษาและมีความมั่นใจในคู่ต่อมาคือ วันดี-ศรีวัน ดวงแก้ว ผลการผ่าตัดเรียบร้อยดี แต่โชคร้ายที่ 1 อาทิตย์ต่อมาแฝดศรีวันเสียชีวิตเพราะปอดแฟบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการผ่าตัดที่เป็นการผ่าตัดแยกตับ"
มาถึงคู่ถัดมาคือ ปราจีน-บุรี สองสาวฝาแฝดที่ตับติดกันเช่นเดียวกับสองคู่แรก การผ่าตัดครั้งนี้เป็นไปด้วยดี ส่งผลให้คู่นี้ยังมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงวันนี้ 50 กว่าปีแล้ว แต่...
"เราตามหาตัวไม่เจอค่ะ อย่างไรรบกวนติดต่อกลับด้วยนะคะ อยากเจอจริงๆ" อ.จิราพร บอก
คำพ่อสอน
สำหรับ "คุณหมอตลอดชีวิต" ท่านนี้ งานเข้ามากลบทับโลกส่วนตัวไว้หมด แต่ก็ยังมีแง่งามบางมุมที่ลูกชายอยากจะนำมาแบ่งปันกัน
"ตอนคุณพ่อรับราชการ คุยกันแทบนับคำได้ คุณพ่อจะทำงาน 6 วันครึ่ง วันอาทิตย์เป็นวันที่เราจะได้ทานข้าวกลางวันกัน จะมีเวลาได้คุยกันตอนนั้น พอบ่ายสองท่านก็จะไปอ่านหนังสือ อีกทีก็ตอนกลับจากทำงาน ประมาณสามถึงสี่ทุ่ม ผมกับน้องชายจะไปนวดคุณพ่อ เพราะท่านทำงานหนัก ยืนตลอด เลยเป็นคนขี้เมื่อย เราจะนวดจนท่านเริ่มง่วง กรนแล้วค่อยๆ เดินออกมา แต่บางทีคุณพ่อยังไม่หลับก็ตะโกนไล่หลังมาว่า ไปแล้วเหรอลูก เราก็ต้องกลับมานวดใหม่" ชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว เล่าไปยิ้มไป
แม้จะได้ใช้เวลาด้วยกันตอนนวด แต่พ่อลูกก็ไม่ค่อยได้คุยกันเท่าไหร่เพราะเป็นเวลาแห่งการพักผ่อนของพ่อจริงๆ
"ถึงเราจะไม่ได้คุย แต่เราก็ติดต่อด้วยการสัมผัสกันครับ"
จนกระทั่งนพ.เสม เกษียณอายุราชการตอนอายุ 54 ปี พ่อเสมกับลูกๆ ถึงจะได้รู้จักกันจริงๆ ตอนนั้น รวมทั้งคำสอนต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมามากมาย
"สามข้อ ความขยันหมั่นเพียร ความกตัญญู และความซื่อสัตย์สุจริต ท่านจะเน้นมากสมัยเรียน ตอนทำงานแล้ว ท่านก็จะให้ปรัชญาในการดำรงชีวิตว่า ในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่าคิดคนเดียว มันคิดไม่ออก เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก ทำอะไรให้ทำกันเป็นทีม ใครถนัดทางไหนก็ทำตามนั้น แล้วถ้าสำเร็จหรือได้รับรางวัล อย่าไปรับรางวัลคนเดียว เพราะความสำเร็จไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำ ที่ผ่านมาผมเลยไม่ค่อยทำงานหนัก เพราะมีแต่คนช่วย(ยิ้ม)" ประธานกรรมการบริษัทชัชวาลย์ เดอเวเกอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าคำพ่อ
แต่ที่พ่อย้ำบ่อยที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง อุปสรรค
"ท่านจะพูดตลอดเวลาว่า ความสำเร็จมักแฝงมากับอุปสรรค ฉะนั้นอย่าไปกลัวอุปสรรค อุปสรรคเล็ก ความสำเร็จก็เล็ก อุปสรรคใหญ่ความสำเร็จจะยิ่งใหญ่"
ตลอดเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล คุณหมอเสมมักจะปรารภเรื่องหนึ่งอยู่บ่อยๆ ว่า "บ้านเมืองเราจะไปไม่รอด ถ้าสังคมเรายังเป็นอยู่อย่างนี้" นี่เป็นอีกหนึ่งห่วงของท่าน
"ท่านพูดว่า สังคมตอนนี้เหมือนสังคมแมลงวัน มันไม่มีหมู่ มีคณะ ต่างคนต่างอยู่ อยู่ในที่ที่มีสิ่งปฏิกูล ท่านอยากเห็นสังคมเป็นสังคมของผึ้งที่มีแต่ความสะอาด สามัคคี ขยันหมั่นเพียร และยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง"
ชัชวาลย์ยังย้อนอดีตไปเมื่อหลายปีก่อนถึงเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คุณพ่ออาการทรุดลงเรื่อยๆ
"ช่วงนั้นกำลังหาเสียงเลือกตั้ง คุณพ่อชอบนโยบายของนักการเมืองคนนั้นมากที่ชูเรื่อง 30บาทรักษาทุกโรค
ท่านเลยไปคุยกับคุณหมอประเวศ (วะสี) ว่าจะเอายังไงกันดี อยากรู้ว่าประชาชนคิดยังไง เลยประกาศออกสื่อถามชาวบ้านว่ารู้สึกอย่างไรต่อการเมือง ต้องการ/ไม่ต้องอะไร อยากเห็นสิ่งใดบ้าง ปรากฎว่ามีจดหมายส่งมาที่บ้านคุณพ่อล้านกว่าฉบับ"
ทุกฉบับคุณหมอเสมเป็นคนอ่านเอง โดยมีผู้ช่วยเก็บเป็นข้อมูลให้ แล้วก็สร้างศาลาจัดเก็บจดหมายเหล่านั้นไว้เป็นอย่างดี วันหนึ่งเมื่อนักการเมืองซึ่งได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนนั้นมากราบสวัสดีที่บ้านและเห็นภูเขาจดหมายเหล่านั้น จึงขออนุญาตนำกลับไปโดยให้เหตุผลว่าจะนำไปวิจัยพัฒนานโยบายพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
"ด้วยเหตุผลนี้คุณพ่อเลยขัดไม่ได้ ทั้งที่ท่านตั้งใจจะนำจดหมายพวกนี้เผาไปพร้อมกับท่านเมื่อเสียชีวิตลง ก่อนจากไปนายกฯ คนนั้นยังรับปากกับคุณพ่อด้วยว่าจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง" ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้และแก้กฎหมายเพื่อเอื้อธุรกิจตัวเอง
"ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ทรุด ถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของท่าน" ชัชวาลย์ กล่าวด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ
หาก 100 ฝน 100 หนาวที่คุณหมอเสม พ่ออุ้ยเสม พ่อเสม หรือ คุณพ่อหมอเสม ผ่านมา ก็ยังมีความภูมิใจที่ท่านทิ้งไว้ข้างหลังมากมาย โดยเฉพาะ "ลูก"
"ท่านมีลูกเป็นพันเป็นหมื่น นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าท่านภูมิใจอย่างยิ่ง และท่านจะเรียกคนเหล่านั้นว่า อภิชาตบุตร ตามคำสอนที่ท่านให้ไว้แก่คู่แต่งงานใหม่เสมอๆ ว่า ต้องทำให้ลูกที่เกิดมาแล้ว ดีกว่าเราให้จงได้"
..................................................................................
(หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "เกียรติประวัติแพทย์ไทยฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง :
ชีวิตและผลงานศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว"
และ ร่วมงาน "หนึ่งคนยืนหยัด หนึ่งศตวรรษ เสม พริ้งพวงแก้ว ได้ในวันพรุ่งนี้ ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย")