เทียบ ‘ดีเซล-เบนซิน’ จิบ-ซดต่างแค่ไหน?
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 5 ตุลาคม 2551 14:02 น.http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9510000115805ท่ามกลางภาวะวิกฤตน้ำมันราคาแพง แม้ว่าในขณะนี้จะเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายลง สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อ-ขายล่วงหน้าของต่างประเทศลดลง ตามแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้บรรดากองทุนเก็งกำไรชะลอการไล่ราคาขึ้นไปอย่างไม่รู้จุดหมาย ซึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความวิตกให้กับผู้ใช้น้ำมันทั่วโลก รวมถึงตลาดรถยนต์ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำมันในการเป็นพลังงานขับเคลื่อน และเมื่อราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นการทำตลาดเริ่มใช้กลยุทธ์ชูความประหยัดกัน เป็นทิวแถว และหนึ่งในปัญหาใหม่ คือเรื่องของการเลือกคบหาระหว่าง เครื่องยนต์เบนซิน กับ ดีเซล
ด้วยปัจจุบันราคาน้ำมัน “ดีเซล” ในบ้านเราสูงกว่า “เบนซิน” เป็นครั้งแรก ทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการตกใจหรือ ช็อก! อย่างแรง (เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อน) ทำให้ตลาดรถปิกอัพปั่นป่วนอยู่พักใหญ่ๆ ลามไปถึงตลาดรถหรูด้วย ทว่าดูเหมือนทิศทางกำลังจะเริ่มดีขึ้นหลังราคาเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซลก็ยังแพงกว่าอยู่ดี
ดัง นั้นเพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเครื่องยนต์ดีเซล ยังไงก็ให้ความประหยัดที่มากกว่าเครื่องยนต์เบนซินอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเทียบเป็นหน่วย กม./ลิตร หรือ บาท/กม. “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” จึงทำการทดสอบแบบใช้งานจริงมานำเสนอกัน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด จัดเตรียมรถ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 3 จำนวน 2 คันมาให้เราทำการทดสอบ
คัน แรกเป็นรุ่น 320ไอ เครื่องยนต์เบนซิน แบบ 4 สูบ ปริมาตรความจุ 1,995 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ที่ 6,200 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 200 นิวตัน/เมตร ที่ 3,600 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลัง น้ำหนักรวมของตัวรถ 1,435 กิโลกรัม สนนราคา 2.8 ล้านบาท
คัน ที่สองเป็นรุ่น 320ดี เครื่องยนต์ดีเซล แบบ 4 สูบ ปริมาตรความจุ 1,995 ซีซีเท่ากันกับตัวเบนซิน ให้กำลังสูงสุด 177 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน/เมตร ที่รอบกว้าง 1,750- 3,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลัง น้ำหนักรวมของตัวรถ 1,445 กิโลกรัม (หนักว่ารุ่นเบนซินประมาณ 10 กิโลกรัม) สนนราคา 2.849 ล้านบาท.
เรียกว่าข้อมูลทางเทคนิค เท่ากันแทบจะทุกอย่างต่างเพียง พละกำลัง(ดีเซลเหนือกว่า), น้ำหนัก และราคาเท่านั้น ซึ่งในด้านของสมรรถนะการขับขี่เราขอไม่กล่าวถึงเนื่องจากเคยนำเสนอบททดสอบ เป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนั้นครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของ อัตราการบริโภคน้ำมันเพียงอย่างเดียว
เรา พยายามกำจัดปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรทำให้ผลต่างๆ คลาดเคลื่อนโดยกำหนดให้ ผู้ทดสอบรถทั้งสองคันต้องสลับกันขับ แล้วมาหารค่าเฉลี่ย , ทุกเส้นทางจะเป็นการวิ่ง 2 รอบ แล้วนำมาหารค่าเฉลี่ย , การขับจะเป็นลักษณะขับไปพร้อมกันในเส้นทางเดียวกัน สลับกันนำและตามคันละรอบ, ห้ามคิกดาวน์, ปรับอุณหภูมิให้เท่ากันที่ 24 องศา ความแรงลม 3 ขีด และ แรงดันลมยางเท่ากันหมดทั้ง 8 ล้อ(2คัน)ที่ 32 ปอนด์
ซึ่งตัวเลขทั้งหมดเป็นผลที่แสดงตามคอมพิวเตอร์ออนบอร์ดของรถ ทั้งนี้ก็เพื่อตัดปัญหาเรื่องการเติมน้ำมันที่อาจจะไม่เสมอภาคกันในแต่ละ ครั้ง โดยก่อนการวิ่งทดสอบทุกครั้งทีมงานจะเซ็ตค่าตัวเลขเป็นศูนย์พร้อมกันทั้ง 2 คันและออกวิ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน
เริ่มต้นด้วยการขับแบบกึ่งในเมืองบนเส้นวิภา วดี เราพยายามจะขับด้วยความเร็วคงที่สูงสุด 80 กม./ชม. มีรถติดขัดบ้างบางช่วงเพียงเล็กน้อย ผลเป็นดังตาราง
เส้นทางที่ 1 ความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.
ชนิดเครื่องยนต์ ระยะทาง (กม.) ความเร็วเฉลี่ย (กม./ชม.) อัตราสิ้นปลือง(กม./ลิตร) ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
ดีเซล 31.8 61.3 21.2 1.56
เบนซิน 31.8 61.3 15.6 1.85
จากนั้นเราหวังจะทดสอบที่ความเร็วสูงประมาณ 120 กม./ชม. โดยใช้ถนนตัดใหม่วงแหวนทิศใต้พระราม2-บางนา แต่ทว่าสภาพการจราจรไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากเกิดฝนตกพรำๆ ทำให้ความเร็วสูงสุดในครั้งนี้อยู่ที่ 100 กม./ชม. และได้ผลดังเป็นดังนี้
เส้นทางที่ 2 ความเร็วสูงสุด 100 กม./ชม.
ชนิดเครื่องยนต์ ระยะทาง (กม.) ความเร็วเฉลี่ย (กม./ชม.) อัตราสิ้นปลือง(กม./ลิตร) ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
ดีเซล 47.3 90.2 20.0 1.65
เบนซิน 47.3 90.1 14.7 1.96
สุดท้ายเราก็สามารถทำได้ตามความต้องการด้วย การวิ่งด้วยความเร็วคงที่สูงสุด 120 กม./ชม. โดยใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ พระราม 9-สุวรรณภูมิ เป็นระยะทางยาวพอสมควร ผลออกมาดังนี้
เส้นทางที่ 3 ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
ชนิดเครื่องยนต์ ระยะทาง (กม.) ความเร็วเฉลี่ย (กม./ชม.) อัตราสิ้นปลือง(กม./ลิตร) ค่าใช้จ่าย (บาท/กม.)
ดีเซล 33.3 104 18.8 1.76
เบนซิน 33.3 104 14.2 2.03
สำหรับค่าใช้จ่าย บาท/กม. เราคำนวณตามราคาน้ำมัน ณ วันที่ 31 ส.ค. ในเวปไซต์ของปตท. ที่น้ำมันเบนซินชนิด แก๊สโซฮอล์ 95 (เติมในรถ 320ไอ)ราคา 28.79 บาท/ลิตร ส่วนดีเซล (เติมในรถ 320ดี) ราคา 33.04 บาท โดยจะพบว่า ตัว 320 ไอ เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อกม.ที่แพงกว่าตัว 320ดี ในทุกย่านความเร็ว
ส่วนตัวเลขการทดสอบแบบในเมืองรถติดหนัก นั้นเราไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่จะทำให้ผลคงที่ เนื่องจากสภาพการจราจรที่ไม่แน่นอน ทำให้รถไม่สามารถวิ่งเกาะติดกันเป็นระยะทางยาวได้เพียงพอจะเป็นการอ้างอิงผล การทดสอบ ดังนั้นเราจึงขอนำเสนอตัวเลขเพียงเท่านี้
สรุป แม้ ว่าน้ำมันดีเซลจะมีราคาต่อลิตรที่แพงกว่า แต่ทว่าเมื่อคิดคำนวณด้วยการวิ่ง ผลออกมากลายเป็นว่า รถที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลยังประหยัดเงินในกระเป๋าของเราได้มากกว่าอยู่ดี ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมยอดขายของรถยนต์ในทวีปยุโรปกว่า 50% เป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลนั่นเอง
สำหรับแฟนๆ รถปิกอัพ หากเรามีโอกาสรับรองว่าจะทำการเปรียบเทียบเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินที่ ประจำกันอยู่ในรถปิกอัพซึ่งจำหน่ายในเมืองไทยอย่างแน่นอน